เฮอร์ปีส์ไวรัส ภัยร้ายที่คนเลี้ยงช้างต้องเฝ้าระวัง

ภูมิภาค
31 ส.ค. 66
13:49
1,238
Logo Thai PBS
เฮอร์ปีส์ไวรัส ภัยร้ายที่คนเลี้ยงช้างต้องเฝ้าระวัง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
โรคเฮอร์ปีส์ไวรัส หรือ EEHV กลายเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตลูกช้างไทยต่อเนื่อง ล่าสุดมีลูกช้างล้มเพราะโรคนี้มากถึง 8-9 เชือกต่อปี สัตวแพทย์ย้ำคนเลี้ยงช้างต้องเฝ้าระวังช้างกลุ่มเสี่ยง เพราะยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

ควาญช้างประจำปางช้างเอกชนในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ต้องคอยดูแลช้างกว่า 30 เชือกในปางช้างอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช้างเล็ก 6 เชือกอายุ 2-3 ปี เพราะถือเป็นช่วงอายุที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ และมีความเสี่ยงสูงจะติดเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัส ซึ่งช้างที่ติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงจากเชื้อที่ทำลายผนังหลอดเลือด ทำให้ของเหลวออกนอกเส้นเลือด ระบบอวัยวะภายในเสียหาย และจะล้มอย่างรวดเร็วภายใน 1-2 วัน

 

สพ.ญ.วชิราภรณ์ ทุนร่องช้าง สัตวแพทย์ประจำปางช้าง เล่าว่า ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งสภาพอากาศหนาว และมีฝนตก มีลูกช้างในปางช้างติดเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัส 1 เชือก โชคดีที่ควาญช้างสังเกตเห็นว่าลูกช้าง มีอาการซึม ไม่นอนกลางวัน ตาบวม และลิ้นเริ่มมีจุดสีม่วง จึงเร่งให้การรักษาจนลูกช้างรอดชีวิต

 

มูลค่าในการรักษาช้างระหว่างที่ป่วย คือ หลักแสนบาท เมื่อรวมกับมูลค่าช้างที่เราพยายามฟูมฟักในขณะแม่ช้างตั้งท้องนานเกือบ 2 ปี ก็จะคิดเป็นมูลค่าหลายล้านบาท หากช้างป่วยด้วยโรคเฮอร์ปีส์ไวรัส สัตวแพทย์จึงต้องทำอย่างเต็มที่ เพื่อให้ช้างรอด

 

หนึ่งในวิธีการรักษาช้างที่ป่วยเป็นโรคเฮอร์ปีส์ไวรัส คือ การถ่ายเลือดให้แก่ช้าง เนื่องจากเชื้อจะทำลายระบบเลือดของช้าง ในภาวะปกติที่ยังไม่พบเคสลูกช้างป่วย ศูนย์สุขภาพช้าง และสัตว์ป่า โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงต้องค้นหาช้างสุขภาพแข็งแรงเพื่อบริจาคเลือด และพลาสม่า เก็บไว้ใช้รักษาช้างป่วย

 

สพ.ญ.ภาวินี กุลนานันท์ สัตวแพทย์ประจำศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า เฮอร์ปีส์ไวรัสจะทำให้ลูกช้างอาจจะเสียชีวิตจากภาวะช็อก ในกรณีที่เสียเลือดออกมาก จึงจะต้องมีการถ่ายเลือดทั้งเกล็ดเลือด หรือ พลาสม่า แก่ช้าง

 

เฮอร์ปีส์ไวรัส เป็นโรคที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาเป็นการประคับประคองตามอาการ ส่วนเรื่องวัคซีนตอนนี้ยังอยู่ในกระบวนการพัฒนา เริ่มมีการนำไปทดลองกับในสัตว์ เราจึงยังเฝ้ารออยู่อย่างมีความหวัง

 

ผศ.สพ.ญ.สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย์ คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเฮอร์ปีส์ไวรัส ระบุว่า สถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2006-2023 พบว่าช้างเลี้ยงในประเทศไทย ป่วยด้วยโรคเฮอร์ปีส์ไวรัส 128 เชือก ในจำนวนนี้ ล้ม 85 เชือก ซึ่งคิดเป็นอัตราป่วยตาย ร้อยละ 66.4

 

แต่มีข้อสังเกตว่าตั้งแต่ช่วงปี 2017-2022 ก่อน และ หลังวิกฤตปัญหาโควิด19 ซึ่งเป็นช่วงที่ช้างอาจได้รับการดูแลน้อยลง ก็พบว่ามีลูกช้างล้มเพราะโรคนี้มากถึง 8-9 เชือก ต่อปี ซึ่งถือเป็นครึ่งหนึ่งของอัตราลูกช้างเกิดใหม่ของไทย ที่มีประมาณ 15-20 เชือกต่อปีเท่านั้น

 

แม้สถานการณ์โรคเฮอร์ปีส์ไวรัสจะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น แต่การรักษาของสัตวแพทย์หน่วยงานต่างๆ ถือว่ามีรูปแบบการรักษาที่ค่อนข้างดี หากนำช้างเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที โอกาสที่จะช่วยชีวิตช้างได้ก็จะสูง

 

โรคนี้ มีอาการเบื้องต้นที่ยังไม่เฉพาะเจาะจง คือ กินอาหารน้อยลง รูปแบบการนอนที่เปลี่ยนไป หรือ ร่าเริงลดลงในช่วงนี้ ถ้าสามารถสังเกตเห็นได้เร็ว แล้วรีบแจ้งสัตวแพทย์เข้าไปตรวจ และให้ยา โอกาสในการรอดช่วงนี้จะสูงมาก แต่หากรอให้มันเกิดอาการ เช่น หน้าบวม หรือ ลิ้นม่วงแล้ว โอกาสในการรักษาแล้วรอดชีวิตก็จะต่ำลง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง