เตือนอย่าสัมผัส "ทากทะเลมังกรฟ้า" กินแมงกะพรุนพิษร้าย

สิ่งแวดล้อม
31 ส.ค. 66
17:19
1,509
Logo Thai PBS
เตือนอย่าสัมผัส "ทากทะเลมังกรฟ้า" กินแมงกะพรุนพิษร้าย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เตือนอย่าสัมผัส "ทากทะเลมังกรฟ้า" เหตุมีเข็มพิษจากการกินแมงกะพรุนเรือรบโปรตุเกส หลังพบที่ชายหาดภูเก็ต ชี้ปกติลอยกลางมหาสมุทร แต่ถูกพัดเข้าฝั่งช่วงมรสุม

วันนี้ (31 ส.ค.2566) ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" ว่า กรณีเพจขยะมรสุม รายงานการพบทากทะเลมังกรฟ้า Blue Dragon Sea Slug ที่ชายฝั่งภูเก็ต ซึ่งนักดำน้ำรู้จักเป็นอย่างดี

แม้มีขนาดเล็กแต่สีสวย ทากทะเลเป็นญาติของหอยฝาเดียว เป็นสัตว์พิสดาร บางชนิดสามารถกินสัตว์ที่มีเข็มพิษแล้วดึงเอาเซลล์เข็มพิษมาไว้ในตัวเพื่อป้องกันตัวเอง

นักดำน้ำบางคนอาจพบทากพวกนี้ กำลังกินไฮดรอยด์ (ขนนกทะเล) โดยมีเข็มพิษอยู่ปลายเนื้อเยื่อที่ยื่นออกมาคล้าย “หนาม” ตามลำตัว และสามารถดึงเข็มพิษจากสัตว์อื่นมาใช้ได้

ผศ.ธรณ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า กลุ่มสัตว์กินเข็มพิษมีหลายตัวและหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือทากทะเลมังกรฟ้า ลักษณะจะลอยอยู่บนผิวน้ำเพราะกินอากาศเข้าไป และกินอาหารหลักเป็นPortuguese man o' war หรือเรือรบโปรตุเกส ซึ่งมีพิษร้ายแรง

ทากตัวนี้จะลอยไปเกาะบนแมงกะพรุน ค่อย ๆ กินไปเรื่อย ๆ และกระเปาะเข็มพิษก็จะเคลื่อนไปตามเนื้อเยื่อและไปอยู่บริเวณส่วนปลายแหลมบนตัวของทากดังกล่าว ซึ่งจะใช้ป้องกันตัวเท่านั้น ไม่ได้ใช้เพื่อการล่า หรือทำร้าย ตราบใดที่ไม่สัมผัสโดยตรง ก็จะไม่ยิงเข็มพิษออกมา

บอกไม่ได้เมืองไทยมีไหม เพราะลอยอยู่กลางมหาสมุทร แต่ตัวนี้จะเข้ามาไทยตอนลมเข้า ช่วงเดือนมรสุม มิ.ย.-ต.ค.

ผศ.ธรณ์ กล่าวว่า ปกติแล้วทากทะเลมังกรฟ้าอยู่กลางมหาสมุทร แต่อาจพบในช่วงหน้ามรสุม เพราะคลื่นลมแรงพัดมาที่ฝั่งเดียวกับที่ จ.ภูเก็ต

อย่างไรก็ตาม ทากทะเลมังกรฟ้าอยู่บนฝั่งได้ไม่นาน เมื่อถูกคลื่นกระแทกและอากาศออกหมดตัวจะแฟ่บ แต่อาจพบแมงกะพรุนเรือรบโปรตุเกสลอยน้ำด้วย เพราะทั้งคู่สัมพันธ์กัน

ผศ.ธรณ์ เตือนนักท่องเที่ยวว่า หากโดนทากทะเลมังกรฟ้าแล้ว จะใช้หลักการเดียวกับการโดนแมงกะพรุน ซึ่งแพทย์แนะนำให้ใช้ราดน้ำส้มสายชูปริมาณมาก

ทากมีพิษ เพราะเข็มพิษแมงกะพรุนอยู่กับเธอ ไม่ควรจับ แตะ โดน เห็นสีสวย ๆ อย่าคิดจับไปเลี้ยง

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า แมงกะพรุนเรือรบโปรตุเกส มีรูปร่างสีฟ้าหรือสีม่วง ส่วนที่ลอยน้ำรูปร่างคล้ายหมวกของทหารเรือชาวโปรตุเกส และมีหนวดยาว ปกติจะไม่พบในน่านน้ำไทย โดยจะพบในทะเลเปิดของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ, ทะเลเมดิเตอเรเนียน, มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย แต่อาจจะถูกกระแสน้ำพัดมาเกยตื้นหรือเข้าสู่น่านน้ำไทยได้ในบางฤดูกาล

หากสัมผัสโดน แม้แมงกะพรุนชนิดนี้มีความเป็นพิษที่รุนแรงที่สุดในกลุ่มแมงกะพรุนไฟ แต่สำหรับระดับความเป็นพิษสามารถทำให้บาดเจ็บได้ในหลายระดับ ขึ้นอยู่กับความต้านทานของแต่ละบุคคลและปริมาณพิษที่ได้รับ ตั้งแต่อาการแสบคัน จนถึงปวดแสบปวดร้อน รวมถึงกับอาการไข้ ช็อค และเกิดความผิดปกติกับหัวใจและปอด โดยวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากการถูกพิษของแมงกะพรุนชนิดนี้ คือให้ใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณที่ได้รับพิษอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 30 วินาที และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง