ส่งตัวเจ้าสาว “เป๊ปซี่” ให้ “จ้อน” ชิมแปนซีสวนสัตว์สงขลา

สิ่งแวดล้อม
31 ส.ค. 66
19:08
276
Logo Thai PBS
ส่งตัวเจ้าสาว “เป๊ปซี่” ให้ “จ้อน” ชิมแปนซีสวนสัตว์สงขลา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
1 ก.ย.นี้ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ ส่งตัว “น้องเป๊ปซี่” ลิงชิมแปนซีสุดสวยแห่งสวนสัตว์นครราชสีมา ให้กับ “พี่จ้อน” ลิงชิมแปนซีดาวเด่นสวนสัตว์สงขลา ฉลองโอกาสครบรอบ 25 ปี สวนสัตว์สงขลา ต.ค.นี้ ลุ้นได้ลูกน้อยโดยเร็ว

วันนี้ (31 ส.ค.2566) นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้จัดเตรียมนำส่งลิงชิมแปนซีเพศเมีย ชื่อว่า “เป๊ปซี่” จากสวนสัตว์นครราชสีมา ไปยังสวนสัตว์สงขลา เพื่อจับคู่กับ “จ้อน” ลิงชิมแปนซีดาวเด่น เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี สวนสัตว์สงขลา ที่จะถึงในเดือน ต.ค.นี้

ทั้งนี้ สวนสัตว์นครราชสีมา นำผลไม้นานาชนิดที่ลิงชิมแปนซีชื่นชอบ มาจัดกิจกรรมเลี้ยงส่ง “น้องเป๊ปซี่” ว่าที่เจ้าสาว ก่อนส่งตัวไปสวนสัตว์สงขลา ท่ามกลางบรรดาเหล่าครอบครัวลิงชิมแปนซี พี่ ๆ มาสคอต และน้อง ๆ นักเรียนที่มาร่วมแสดงความยินดี ก่อนจะถูกนำตัวไปยังสวนสัตว์สงขลา ในวันที่ 1 ก.ย.นี้

“น้องเป๊ปซี่” เป็นลิงชิมแปนซี เพศเมีย อายุ 17 ปี พ่อชื่อธงชัย แม่ชื่อยิ่งลักษณ์ ซึ่งในส่วนแสดงของสวนสัตว์นครราชสีมา มีลิงชิมแปนซีทั้งหมด 10 ตัว แบ่งเป็นเพศผู้ 5 ตัว และเพศเมีย 5 ตัว

น้อง ๆ นักเรียนร่วมกิจกรรมเลี้ยงส่งแป๊ปซี่ ก่อนส่งตัวไปสงขลา

น้อง ๆ นักเรียนร่วมกิจกรรมเลี้ยงส่งแป๊ปซี่ ก่อนส่งตัวไปสงขลา

น้อง ๆ นักเรียนร่วมกิจกรรมเลี้ยงส่งแป๊ปซี่ ก่อนส่งตัวไปสงขลา

ลักษณะของลิงชิมแปนซี จะมีสีผิวบริเวณใบหน้าซีด มีจุดด่างดำและไม่มีขน ตัวเต็มวัยมีเคราสีขาวทั้งสองเพศ มีดวงตามีสีเหลือง-น้ำตาลคล้ายกับมนุษย์ ใบหูมีขนาดใหญ่ แขนยาวกว่าขา ขนตามลำตัวสีดำ สั้นและหนา ทั้งสองเพศเมื่อมีอายุมากขึ้น ขนบริเวณหัวจะบางลง และขนตามลำตัวจะเปลี่ยนเป็นสีเทา มีถิ่นอาศัยบริเวณป่าฝนเขตร้อน ป่าที่ราบต่ำ ภูเขาทางตะวันตก และตอนกลางของแอฟริกา

ส่วนอาหารเป็นเมล็ดพืช ผลไม้ ใบไม้ เปลือกไม้ น้ำผึ้ง ดอกไม้และแมลง แต่ลิงชิมแปนซี ยังล่าสัตว์อื่น ๆ เช่น ลิง หรือแอนติโลปขนาดเล็กเพื่อเป็นอาหารด้วย โดยการสืบพันธุ์จะมีระยะเวลาตั้งท้องประมาณ 230-250 วัน ซึ่งลิงซิมแปนซี ถือเป็นสัตว์ที่ฉลาดที่สุดในบรรดากลุ่มไพรเมต และลิงซิมแปนซียังได้พัฒนาวิธีการสื่อสารที่น่าสนใจ โดยสัตว์ที่ฉลาดเหล่านี้ "พูดคุย" กันโดยใช้ท่าทาง สีหน้า และเสียงร้องต่าง ๆ

นับเป็นเรื่องน่ายินดีกับลิงชิมแปนซีทั้งสอง ที่จะช่วยเพาะขยายพันธุ์จำนวนประชากรชิมแปนซีต่อไป

องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงขอเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวร่วมแสดงความยินดีกับลิงชิมแปนซีทั้งสอง และร่วมลุ้นให้ลิงชิมแปนซีสาวตั้งท้องได้โดยเร็ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง