"ผู้สูงอายุ" แห่จองคิวเข้า "บ้านพักบางแค" นับพัน รอนาน 15 ปี

สังคม
1 ก.ย. 66
17:52
19,935
Logo Thai PBS
"ผู้สูงอายุ" แห่จองคิวเข้า "บ้านพักบางแค" นับพัน รอนาน 15 ปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

วันนี้ (1 ก.ย.2566) การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย และท่ามกลางสถานการณ์ผู้สูงอายุถูกทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจมากขึ้น จากการเป็นสังคมไร้ลูกหลาน ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยจองคิวเข้าบ้านพักคนชราบาง แต่กว่าจะมาเป็นผู้สูงอายุในบ้านบางแคไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องจองคิวก่อน บ้านบางแคไม่ใช่ใครมีเงินก็อยู่ได้แต่ต้องรอจังหวะ รอคิวเพราะว่าบ้านบางแคจะต้องทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุจนวาระสุดท้ายของชีวิต

น.ส.อนัญญา อัตชู ผอ.ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค เปิดเผยกับไทยพีบีเอสว่า ผู้สูงอายุจะสามารถจองคิวเข้าพักได้ต้องมีอายุ 60 ปี แต่เนื่องจากมีคิวจำนวนมากจึงทำให้ผู้สูงอายุบางคนอาจรอไม่ไหวเสียชีวิตไปก่อนก็มีเพราะปัจจุบันนี้ใช้เวลารอนานถึง 15 ปี จึงสามารถเข้ามาอยู่ในบ้านบางแคได้

โดยร้อยละ 90 จะเป็นผู้สูงอายุที่สมัครใจเข้ามาเอง เพราะต้องการอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยในบั้นปลายชีวิต สำหรับผู้สูงอายุที่จะเข้ามาอยู่ที่นี่ได้มี 3 ประเภท ได้แก่ 1.ไม่เสียเงินแบบสามัญ เป็นผู้สูงอายุที่ผ่านการประเมินแล้วว่าจำเป็นและรีบเร่งต้องให้การช่วยเหลือ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีใครอุปการะเลี้ยงดูมีการจองคิวรอเข้าอยู่ 600 คน

2.เสียค่าบริการแบบหอพัก มีบริการทั้งหมด 40 ห้อง ซึ่งผู้สูงอายุจะต้องเช่าเดือนละ 1,500 บาท สำหรับห้องเดี่ยว และเดือนละ 2,000 บาทสำหรับห้องคู่ จ่ายค่าน้ำประปาและไฟฟ้าต่างหาก และรับบริการและอาหาร 3 มื้อ มีการจองรอคิวเข้าอยู่ 1,000 คน

3.บ้านพักบังกะโล มีบริการทั้งหมด 11 หลัง ผู้สูงอายุต้องจ่ายค่าบำรุงแรกเข้า 300,000 บาท เพื่อเข้าอยู่โดยจะได้รับบริการและอาหารฟรีจนเสียชีวิต หากเสียชีวิตจะเปิดให้ผู้สูงอายุอื่นที่ยื่นความประสงค์ไว้เข้าไปอยู่ต่อ ขณะนี้มีผู้จองคิวเข้าอยู่ประมาณ 1,000 คน

ผู้สูงอายุที่เข้ามาอยู่ ต้องการความปลอดภัย ส่วนใหญ่ไม่มีครอบครัว มีเคสหนึ่งโทรมาสายด่วน 1300 บอกว่าให้ไปรับแม่มาอยู่ที่นี่ เพราะเขาดูแลไม่ได้ ไม่เช่นนั้นแม่ก็จะได้รับบาดเจ็บทุก ๆ วัน  

บรรยากาศที่ร่มรื่นรายล้อมไปด้วยกิจกรรม ตลอดทั้งวันทำให้ น.ส.ปราณี มัดมีสุข วัย 84 ปี ชาวกรุงเทพมหานคร ตัดสินใจมาอยู่ที่นี่ โดยเล่าว่า ได้วางแผนชีวิตก่อนวัยเกษียณ ก่อนหน้านั้นทำอาชีพธนาคาร แต่เนื่องจากว่าเป็นสาวโสดไม่มีครอบครัว และไม่อยากเป็นภาระของลูกหลาน จึงหาบ้านพักคนชรา วางแผนการออมเงิน เริ่มมาจองคิวเพื่อเข้าพักอาศัยเมื่อตอนอายุ 60 ปีและได้เข้าพักอาศัยจริง ๆ เมื่อตอนอายุ 70 ปี

อยู่บ้านก็กลัว ระแวงคนจะมาทำร้าย เราแก่แล้วช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อยู่ที่นี่มา 14 ปี แล้ว มีความสุข อาหารก็มีคนทำให้กิน

ขณะที่ รศ.ศุทธิดา ชวนวัน สถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า จากการสำรวจผู้สูงอายุอาศัยอยู่ลำพังพุ่งสูงถึง 6 เท่า ตั้งแต่ 2537 -2564 พบว่า ผู้สูงอายุอาศัยอยู่คนเดียวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 11.99 หรือคิดเป็น 1.6 ล้านคน จากผู้สูงอายุ 12 ล้านคน ส่วนผู้สูงอายุอยู่เป็นคู่สามีภรรยามีประมาณร้อยละ 24

รศ.ศุทธิดา อธิบายว่า ทั้ง 2 กลุ่มมีความเสี่ยงได้รับอันตรายจากการเจ็บป่วยและทำร้ายร่างกาย เหมือนกับหลายกรณีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะสังคมไทยในปัจจุบัน เริ่มกลายเป็นสังคมไร้ลูกหลานค่านิยมเรื่องการมีคู่เปลี่ยนไป คนหนุ่มสาวเลือกที่จะอยู่เป็นโสดมากขึ้น แต่งงานกันช้าลง

ดังนั้นควรมีการเตรียมตัว รองรับจำนวนผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียวหากเป็นผู้สูงอายุที่มีรายได้สูง ต้องการอยู่เป็นโสด ต้องเตรียมพร้อม เรื่องสุขภาพ การออมเงิน เพื่อให้มีรายได้ เปิดใจเรียนอยู่สิ่งใหม่ๆ และหากผู้สูงอายุอยู่ในชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรช่วยกันดูแล เพื่อให้คนกลุ่มนี้ปลอดภัย 

ข่าวอื่น ๆ 

"นวัตกรรมอาหารผู้สูงอายุ" กินอร่อย-ปลอดภัย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของวัยชรา

ตัดสิทธิ “เบี้ยคนชรา” ตัดท่อน้ำเลี้ยง ใจคน(อ)ยากจน

"เบี้ยผู้สูงอายุ 2566" เช็กคุณสมบัติ - วิธีลงทะเบียน - ปฏิทินการจ่ายเงิน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง