"สภาฯ ล่มซ้ำซาก" ต้องแก้ที่ "คน"

การเมือง
3 ก.ย. 66
16:18
315
Logo Thai PBS
"สภาฯ ล่มซ้ำซาก" ต้องแก้ที่ "คน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ล่มครั้งแรกแล้ว ในการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดี 31 ส.ค.2566 พร้อมปมคำถามที่เข้มข้นและสุ้มเสียงดังพอสมควร คือเกิดอะไรขึ้นกับฝ่ายรัฐบาล

เพราะเสียงสนับสนุนการตั้งรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน มีมากถึง 314 เสียง เกินกว่ากึ่งหนึ่งของที่ประชุมสภาผู้แทนฯ มากกว่า 60 คน แต่ประชุมสภาฯ ได้ไม่กี่ครั้ง มีปัญหาองค์ประชุมไม่ครบเสียแล้ว

หากขาดผู้ร่วมประชุมแบบเฉียดฉิว หรือมีผู้ประชุมหายไปสัก 100 คน ยังพอทำเนา เพราะเป็นไปได้ที่อาจติดภารกิจอื่น แต่ครั้งนี้ มีส.ส.เข้าร่วมประชุมเพียง 98 คน จากส.ส.ที่มีอยู่ทั้งหมดในปัจจุบัน 498 คน และยังไม่มีการตั้งกรรมาธิการของสภาฯ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะติดประชุมกรรมาธิการ จนเข้าร่วมประชุมสภาฯใหญ่ไม่ได้

กลายเป็นศึกปะทะคารมกัน ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล โดยอ้างเหตุผลที่ไปคนละทาง

พรรคเพื่อไทยกล่าวอ้างว่า การเสนอนับองค์ประชุม หรือไม่ยอมแสดงตนร่วมประชุมเป็นเหตุให้สภาล่ม ปกติจะใช้ในการประชุมพิจารณาร่างกฎหมาย แต่จะไม่นำมาใช้ในเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน โดยยกตัวอย่างครั้งนี้ว่า พรรคก้าวไกลเล่นเกมการเมือง ไม่สนใจปัญหาของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งราคาตกต่ำ

ขณะที่พรรคก้าวไกล ระบุว่า แม้ สส.พรรคก้าวไกลจะเข้าไปช่วยเป็นองค์ประชุมให้ จำนวนก็ไม่ถึง 250 คน สภาฯ ล่มอยู่ดี หากเห็นความสำคัญจริง ไม่ใช่แค่การโฆษณา ก็ควรไปขอร้องเพื่อน สส.ฝ่ายรัฐบาลจะดีกว่า และยืนยันว่า การพิจารณาความเดือดร้อนของประชาชน สามารถทำควบคู่ไปกับการจัดทำประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเชื่อมโยงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเช่นกัน

ต่างฝ่ายต่างอ้างเหตุผล กระทั่งประชาชนคนที่กำลังเจอกับปัญหาสารพัด เดือดร้อนตัวจริงเสียงจริง และคาดหวังกับรัฐบาลใหม่ ถึงกับเอือมระอากับเรื่องที่ฝ่ายการเมืองพยายามเอาประชาชนเป็นตัวประกัน

เรื่ององค์ประชุมไม่ครบ เป็นปัญหาใหญ่ต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ในภายหลังจะมีเสียง สส.ฝ่ายรัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้านถึงประมาณ 60 คน แต่แทบจะล่มแบบรายวัน ทั้งจากกรณี สส.กลุ่มงูเห่า จากพรรคเล็กพรรคใหญ่ ที่ก่อหวอดเรียกหา “กล้วย” แลกกับการโหวตเสียงให้รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

และต่อเนื่องด้วยเรื่องร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ที่พรรคภูมิใจไทย พยายามผลักดันหวังให้ผ่านออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายตามที่ได้รณรงค์หาเสียงไว้ แต่ถูกคัดค้านไม่เฉพาะแค่พรรคการเมืองฝ่ายค้าน แต่รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ด้วย

คงจำกันได้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยอมรับว่า การเสนอนับองค์ประชุม หรือการไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม เป็นเครื่องมือทางการเมืองหนึ่งของฝ่ายค้าน ในเรื่องที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง หรือเห็นว่าจะก่อให้เกิดผลเสียหายตามมา

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องสภาฯ ล่มเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับการประชุมสภาฯ ของไทยมาเนิ่นนานหลายยุคหลายสมัย และมีความพยายามจะหาทางแก้ไขป้องกันมาตลอด ตั้งแต่แยกฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อหวังให้ สส.มุ่งเน้นงานในสภาผู้แทนฯเป็นหลัก

แต่ในทางปฏิบัติ กลับมี สส.จำนวนไม่น้อยไปช่วยงานหรือติดตามฝ่ายบริหาร ตั้งแต่นายกฯ และรัฐมนตรี จนไม่สนใจงานประชุมสภา

บางยุคสมัย มีข้อเสนอใช้เงินและของรางวัลเป็นของล่อใจไม่ให้ สส.โดดประชุม ถึงขั้นมีดำริจะให้รถยนต์กระบะ แก่ สส.ที่ไม่ขาดประชุมเลย แต่ถูกต่อต้านวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่า เป็นเรื่องภาระหน้าที่ปกติของ สส.อยู่แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีการใช้มาตรการต่างๆ นานา ทั้งว่ากล่าวตักเตือน การกำชับวิป หรือกรรมการประสานงาน การเสนอตัดเงินเดือน ลดเบี้ยเลี้ยงและสวัสดิการ การจ่ายเงินตอบแทนเป็นรายวันแทนรายเดือน

การติดตั้งระบบนาฬิการาคาแพงตามจุดต่าง ๆ ของสภาฯ คอยเตือนบอกเวลา การติดรายชื่อบนบอร์ดประจาน สารพัด แต่สุดท้ายก็ยังเกิดสภาฯ ล่มเหมือนเดิม

เพราะความสำคัญสูงสุดอยู่ที่จิตสำนึกและความรับผิดชอบของผู้อาสาเข้ามาทำหน้าที่ส.ส. ที่ถึงแม้จะเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ หรือเปลี่ยนขั้วสลับข้าง แต่ก็ยังไม่เปลี่ยนอุปนิสัยเดิมๆ อยู่ดี

สภาฯล่มจึงยังจะมีเกิดขึ้นให้เห็นคู่กับสภาไทยต่อไปอีกนานเท่านาน

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"บิ๊กทิน" ชี้ปรับเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจเม.ย.67-ลดนายพลปี 70

ไทม์ไลน์การเมือง "ครม.เศรษฐา1" เดือนก.ย.นี้ มีอะไรบ้าง?

โพลสำรวจ 10 นโยบายหาเสียงเพื่อไทย ทำได้จริงหรือไม่ ?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง