แบ่งงานกระทรวง...ใครคว้า “พุงปลา” มันๆ

การเมือง
4 ก.ย. 66
15:47
983
Logo Thai PBS
แบ่งงานกระทรวง...ใครคว้า “พุงปลา” มันๆ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ต้นสัปดาห์นี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ มีนัดกินข้าวเที่ยงกับรัฐมนตรีของพรรคทั้ง 17 คนที่พรรคเพื่อไทย นัยว่า พบปะพูดคุยเตรียมความพร้อมเข้าทำหน้าที่รัฐมนตรี เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย

แต่น่าจะมีแลกเปลี่ยนหารือเรื่องแบ่งงานในกระทรวงด้วย เพราะเป็นรัฐบาลผสม กระทรวงที่มีรัฐมนตรีหลายคน จะมีจากพรรคร่วมรัฐบาลอื่น

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยมีภารกิจท้าทายรออยู่ คือการเดินหน้าตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ ทั้งงานเร่งด่วน 100 วันแรกและในปีแรก เป็นตัววัดฝีมือและศรัทธาจากประชาชน พรรคต้องคาดหวังสูงจะสร้างผลงานโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจปากท้องค่าครองชีพและเสริมสร้างรายได้ ขณะที่ชาวบ้านก็คาดหวังสูงเช่นกัน การแบ่งงานในกระทรวงจึงมีความสำคัญ

เริ่มจากรองนายกฯ ที่มีถึง 6 คน ปกติจะแบ่งงานให้รองฯ แต่ละคนดูแลกระทรวงที่พรรคการเมืองนั้น ๆ นั่งเป็นเจ้ากระทรวงอยู่ ครั้งนี้ก็น่าจะเป็นแบบนั้น แต่มีความแตกต่างไปตรงที่ไม่มีรองนายกฯ ด้านความมั่นคงจากอดีตนายทหาร ที่ต้องดูแลกระทรวงที่เป็นหัวใจหลัก เช่น กลาโหม มหาดไทย

ครั้งนี้มหาดไทยเป็นของภูมิใจไทย กลาโหมเป็นของพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ใช่นายกฯ ไปนั่งควบ แต่คาดหมายว่า นายเศรษฐา น่าจะดูแลเอง หลังจากวันก่อนไปร่วมโต๊ะอาหารสร้างความสัมพันธ์กับผู้นำเหล่าทัพ ร่วมกับนายสุทิน คลังแสง

นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่นายเศรษฐา จะดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย ในฐานะ ประธาน ก.ตร.โดยตำแหน่ง เช่นเดียวกับสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังเลือกตั้งปี 2562

แม้จะมีชื่ออดีต ผบ.ตร.อย่าง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ แต่น่าจะได้ดูแลกระทรวงที่พรรคพลังประชารัฐ นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการมากกว่า

รองนายกฯ ครั้งนี้ ยังไม่มีรองนายกฯ ด้านกฎหมาย ซึ่งมีความสำคัญ และทุกรัฐบาลมักต้องใช้มือกฎหมายเก่งๆ แม้แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องมีนายวิษณุ เครืองาม นั่งเป็นรองนายกฯเพราะการจะขับเคลื่อนนโยบายของพรรคเพื่อไทยในหลายๆ เรื่อง ต้องผลักดันกฎหมายออกมารองรับทั้งสิ้น แต่กลับไม่มี

หลังจากนายชูศักดิ์ ศิรินิล มือกฎหมายคนสำคัญ ที่ร่วมงานพรรคมานาน ถูกเบียดตกไปจากการเข้ามาของนายพิชิต ชื่นบาน แต่ต่อมานายพิชิตก็ถอนตัว ไม่มีรายชื่อใน ครม.

เท่ากับมีความเป็นไปได้ว่า อาจมีกูรูด้านกฎหมายระดับชั้นเซียน ทำหน้าที่เป็นแบคอัพคอยช่วยเหลืออยู่ นับตั้งแต่นายทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับและเข้าเรือนจำวันแรก ปรากฏว่า มือกฎหมายคนสำคัญ ที่เคยอยู่ในรัฐบาลนายทักษิณ ก็ไปเยี่ยมพร้อมหอบแฟ้มไปพบอย่างน้อย 2 วันติดต่อกัน

แต่ที่จะเพิ่มเติม คือหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มีอยู่หลายหน่วยงาน และมีความสำคัญทั้งสิ้น อาทิ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สภาความมั่นคงแห่งชาติ คณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ปกติจะขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี แต่อาจมอบหมายรองนายกฯ ไปช่วยดูแล

จึงต้องลุ้นว่า รองนายกฯ คนใดจะได้รับมอบหมายให้ดูแลบ้าง โดยเฉพาะนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ยัง “ขาลอย” อยู่ ต่างจากรองนายกฯคนอื่นๆ ที่นั่งควบงานงานในกระทรวงด้วย

อย่างกรณี สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้าไปดูแล และกลายเป็นผลงานที่พรรคพลังประชาชารัฐ นำมาใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ครั้งนี้ จะยังเป็นรองนายกฯพรรคพลังประชารัฐ หรือจะเป็นคนอื่น

ยังไม่นับการแบ่งงานในกระทรวงสำคัญๆ ที่มีงบประมาณและผลประโยชน์มหาศาล ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการจะเข้นแค่ไหน เช่น กระทรวงคมนาคม ที่มีหลายกรมกอง เฉพาะแค่ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและบริการ มีทั้งทางบก อาทิ กรมการขนส่ง กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางราง

ที่ดูแลโครงการรถไฟฟ้าหลายโครงการ มูลค่านับหมื่นนับแสนล้านบาท ทางน้ำ อาทิ กรมการขนส่งทางน้ำ และทางอากาศ ที่มีหลายหน่วยงาน อาทิ ท่าอากาศยานไทย บริษัท การบินไทย กรมท่าอากาศยาน เป็นต้น

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีข่าววงในตั้งแต่ต้นว่า พรรคเพื่อไทย ยอมยกกระทรวงมหาดไทยให้พรรคร่วมฯ แลกกับกระทรวงคมนาคม

ยังมี รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ที่มาจาก 3 พรรคการเมืองใหญ่ และล้วนแต่อาวุโส ประสบการณ์โชกโชนทั้งสิ้น ทั้ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พรรค พปชร. นายอนุชา นาคาศัย พรรครวมไทยสร้างชาติ และนายไชยา พรมมา พรรคเพื่อไทย หรือกระทรวงพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าขาย การส่งออก และดูแลควบคุมราคาสินค้าเกษตรฯและทั่วๆ ไป

ที่ขาดไม่ได้ คือกระทรวงมหาดไทย ที่เป็นกระทรวงใหญ่มีความสำคัญเป็นอันดับ 2 รองจากนายกฯ และเป็นที่หมายมั่นปั้นมือของใคร ๆ ที่อยากได้ชื่อเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงนี้ แม้จะเป็นมท.2 มท.3 มท.4 หรือแม้แต่ มท.5 ที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เคยนั่ง ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ปี 2539-2540 ครั้งนั้นรัฐมนตรีมนตรีในระทรวงนี้ถึง 6 คน ครั้งนี้ก็มีเสียงวิพากษ์รัฐมนตรีกระทรวงนี้กันไม่น้อย

เรื่องการแบ่งงานรัฐมนตรี จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่จะเต็มไปด้วยการเจรจา ต่อรอง ถกเถียง ไปถึงการใช้กำลังภายใน และการทุบโต๊ะ ขึ้นอยู่กับใครจะ “เขี้ยว” และต่อรองเก่งกว่ากัน

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง