ถอดนัย "ไบเดน" ไม่เข้าร่วมประชุมอาเซียน

ต่างประเทศ
6 ก.ย. 66
20:03
596
Logo Thai PBS
ถอดนัย "ไบเดน" ไม่เข้าร่วมประชุมอาเซียน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การประชุมอาเซียนกับประเทศนอกกลุ่มในวันนี้ ข้อพิพาท "ทะเลจีนใต้" เป็นวาระสำคัญ หลังจากอาเซียนกับจีนใช้เวลาในการหารือกันมาแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี ขณะที่นายกฯ จีน ย้ำถึงความสำคัญของการจับมือให้แน่น เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีนในระยะยาว

วันนี้ (6 ก.ย.2566) หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ท่ามกลางการจับตามองถึงการขยายอิทธิพลของจีนภายในภูมิภาค หลังจากผู้นำอินโดนีเซียในฐานะประธานในปีนี้ เตือนถึงอันตรายของอาเซียน จากการถูกลากเข้าไปสู่ในวังวนความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจ

อ่าน : ผู้นำอินโดฯ ย้ำ "อาเซียน" ไม่ใช่สนามประลองกำลังมหาอำนาจ

นายกฯจีน ใช้โอกาสในการกล่าวเปิดการประชุมย้ำว่าความร่วมมือของทั้ง 2 ฝ่าย ยังคงแข็งแกร่งท่ามกลางอุปสรรครอบด้าน

บรรยากาศการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนวันที่ 2 (6 ก.ย.2566)

บรรยากาศการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนวันที่ 2 (6 ก.ย.2566)

บรรยากาศการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนวันที่ 2 (6 ก.ย.2566)

ขณะที่ โจโก วิโดโด ปธน.อินโดนีเซีย ระบุว่าการสร้างความไว้ใจเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความร่วมมือของทุกฝ่าย ความไว้ใจและความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน จะเป็นแรงขับเคลื่อนไปสู่การสร้างเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาค ส่วนทาง หลี่ เฉียง แสดงจุดยืนต่อต้านแนวคิดสงครามเย็น การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และ การเผชิญหน้าจากการแทรกแซงของประเทศนอกภูมิภาค

อินโดนีเซียผลักดันแนวทางแก้ปัญหาทะเลจีนใต้

อินโดนีเซียได้บรรจุแนวทางให้ที่ประชุมรับรอง เพื่อนำไปสู่การเร่งกระบวนการเจรจาหลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้ให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี หลังจากที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ อาเซียน-จีน เห็นชอบแนวทางดังกล่าวร่วมกันในการประชุม เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

หลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้ หรือ Code of Conduct มีเป้าหมายให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามระเบียบสากล เพื่อความปลอดภัยในทะเลจีนใต้ ซึ่งทะเลจีนใต้เป็นน่านน้ำยุทธศาสตร์สำคัญในเอเชีย-แปซิฟิก และ เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทั้งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ

จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ร้อยละ 90 ของน่านน้ำแห่งนี้ จนทับซ้อนกับอาณาเขตทางทะเลของเวียดนาม มาเลเซีย บรูไนและฟิลิปปินส์ 

การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีนในครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่อุณหภูมิความขัดแย้งในน่านน้ำทะเลจีนใต้ร้อนระอุขึ้นมาอีกระลอก หลังจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติจีนออกแผนที่ใหม่ด้วยการเพิ่มเส้นประจาก 9 เส้น เป็น 10 เส้น ซึ่งทำให้ทั้ง 4 ประเทศไม่พอใจ

เส้นประ 9 เส้นที่จีนเขียนขึ้นมาบนแผนที่โลก ปมข้อพิพาททะเลจีนใต้

เส้นประ 9 เส้นที่จีนเขียนขึ้นมาบนแผนที่โลก ปมข้อพิพาททะเลจีนใต้

เส้นประ 9 เส้นที่จีนเขียนขึ้นมาบนแผนที่โลก ปมข้อพิพาททะเลจีนใต้

นอกจากนี้ยังเกิดกรณีที่เรือหน่วยยามชายฝั่งจีนฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าใส่เรือหน่วยยามชายฝั่งฟิลิปปินส์ เพื่อขัดขวางไม่ให้ขนส่งเสบียงเข้าไปให้กำลังพลฟิลิปปินส์

หากอาเซียนไม่แสดงจุดยืนชัดเจนในประเด็นทะเลจีนใต้ในแถลงการณ์ ก็อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกลุ่มในระยะยาว เนื่องจากบางประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้ อาจดึงชาติมหาอำนาจเข้ามาในภูมิภาค จนนำไปสู่การเผชิญหน้าได้

อ่าน : เปิดฉาก "ประชุมผู้นำอาเซียน" โจทย์ใหญ่แก้วิกฤตเมียนมา

มองนัย "ไบเดน" ไม่ร่วมการประชุมอาเซียน

ด้าน คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ร่วมการประชุมท่ามกลางการจับตามองบทบาทสหรัฐฯ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจาก ปธน.โจ ไบเดน ไม่เข้าร่วมการประชุมอาเซียน แต่เลือกที่จะเดินทางไปเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการแทนในสัปดาห์หน้า

การไม่ปรากฏตัวของผู้นำสหรัฐฯ ในที่ประชุม อาจสะท้อนให้เห็นถึงการจัดลำดับความสำคัญด้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ เนื่องจากในสายตาของรัฐบาลสหรัฐฯ อาเซียนเต็มไปด้วยความแตกแยกและไร้พลังในการแก้ปัญหาภายในกลุ่ม

การไม่มาประชุมอาเซียนของผู้นำสหรัฐฯ ครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า สหรัฐฯ จะไม่สนใจภูมิภาคในเชิงทำเลที่ตั้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เพียงแต่ไม่สนใจต่อกระบวนการที่จะมานั่งเจรจาในเวทีการประชุมระดับภูมิภาค อย่างการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก หลายฝ่ายมองว่าการเลือกเข้าไปผูกสัมพันธ์แบบรายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น่าจะเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ สามารถกำหนดเกมได้ง่ายกว่าการเจรจาเป็นกลุ่ม

อ่าน : อินโดฯ คุมเข้มความปลอดภัย "ประชุมสุดยอดอาเซียน" 5-7 ก.ย.นี้

อ่าน : มารู้จัก ASEAN กันเถอะ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง