วิเคราะห์ปม “อิทธิพล คุณปลื้ม” หนีหมายจับไปกัมพูชา

การเมือง
7 ก.ย. 66
22:27
413
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ปม “อิทธิพล คุณปลื้ม” หนีหมายจับไปกัมพูชา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปมสำคัญไม่ใช่อยู่ที่ว่า อดีตรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม นายอิทธิพล คุณปลื้ม หลบหนีไปประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างไร หรือจะมีโอกาสติดตามเจอตัว นำกลับมาได้ทัน ก่อนวันที่ 10 กันยายน วันคดีความหมดอายุหรือไม่

เพราะเรื่องนี้มีทั้งข้อเท็จจริง และข้อน่าสังเกตมากมาย โดยเฉพาะ ปปช. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ รวมทั้งที่สำคัญมาก ๆ คือเรื่องกฎหมาย

นายอิทธิพล โดน ปปช.ชี้มูลความผิดเมื่อครั้งเป็นนายกเมืองพัทยา ร่วมกับพวกออกใบอนุญาตและต่อใบอนุญาตการก่อสร้างอาคารวอเตอร์ฟร้อนท์ ที่เชิงเขาพระตำหนัก เมืองพัทยา ความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

เหตุเกิดปี 2551 และเรื่องถูกส่งไปถึง ปปช. แต่กว่าจะส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ ภาค 2 ก็ปาเข้าไป วันที่ 3 สิงหาคม 2566 ก่อนคดีจะสิ้นอายุความ วันที่ 10 กันยายน 2566 เพียงประมาณ 1 เดือน

นายอิทธิพลมีกำหนดต้องไปพบอัยการ เพื่อนำตัวส่งฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือศาลปราบโกง ภาค 2 วันที่ 4 กันยายน หลังจากอัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้อง 30 สิงหาคม แต่ไม่มีใครพบตัวนายอิทธิพล

กระทั่งพบว่า เขาได้บินไปกรุงพนมเปญ เมืองหลงกัมพูชาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม เวลา 10.00 น. ราวกับรู้ล่วงหน้าว่าจะมีหมายจับ

จึงเป็นคำถามสำคัญว่า เหตุใดการพิจารณาในชั้น ปปช. จึงยืดเยื้อคาราคาซัง กว่าจะส่งให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องได้ ก็ต้องเฉียดฉิวให้ต้องลุ้นกันทุกที ก่อนหน้านี้ ปี 2565 ก็มีเรื่อง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด นายสุนทร วิลาวัลย์ นายกฯ อบจ.ปราจีนบุรี พร้อมลูกสาว นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ (ในขณะนั้น) และพวกก่อนคดีหมดอายุความไม่กี่วันเช่นกัน

ครั้นจะอ้างว่ากฎหมายใหม่ ปปช. กำหนดกรอบเวลาพิจารณาแต่ละคดีไม่เกิน 2-3 ปี แต่มีเรื่องร้องเรียนเป็นพัน ๆ หมื่น ๆ เรื่อง แต่ ป.ป.ช.ต้องจัดลำดับความสำคัญให้ได้ และในกฎหมายใหม่ ได้เพิ่มอำนาจแบบติดปีกให้ ป.ป.ช.ในการแสวงหาข้อเท็จจริง สามารถจ้างที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญได้ และอื่น ๆ

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) รายงานว่า กฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับเดิมปี 2542 เคยถูกแก้ไขเมื่อปี 2550 ต่อมาแก้ไขครั้งใหญ่ปี 2554 ก่อนแก้ไขอีกสองครั้งในยุคของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

และแก้ไขโดยประกาศคณะรัฐประหารถึง 3 ฉบับ คล้ายหวังจะเพิ่มเครื่องมือเพื่อปราบการคอร์รัปชั่นให้สำเร็จ จึงยกเลิกระบบเก่าทั้งหมดเลย และวางโครงสร้างองค์กรแบบยกเครื่องใหม่

แต่ในรายงานของสำนักข่าวอิศรา ที่เกาะติดเรื่องความไม่โปร่งใสทั้งหลายอย่างต่อเนื่อง ได้ตั้งสังเกตว่า จะมีช่วงรอยต่อระหว่างกฎหมาย ปปช. ปี 2542 กับปี 2554 โดยเพิ่มเติมให้ ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหากหลบหนีระหว่างดำเนินคดี ให้อายุความสะดุดลง สอดคล้องกับกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญานักการเมืองฉบับใหม่ หากหนีการพิจารณาของศาลจะไม่นับอายุความ

เพราะมีกรณีที่เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อดังกล่าว ก่อนกฎหมาย ปปช.ปี 2554 จะมีผลบังคับใช้ ไม่สามารถนำเรื่องอายุความสะดุดมาบังคับใช้ได้ เป็นตามหลักกฎหมายจะนำมาใช้ย้อนหลังที่เป็นผลร้ายกับจำเลยจะทำมิได้ ทำให้กลายเป็นช่องโหว่สำหรับนักการเมืองที่ใช้ในการต่อสู้คดี ในลักษณะนี้

ขณะที่กฎหมายใหม่ปปช. ถูกยกว่าเป็นยาแรงในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ในรายละเอียด กลับมีข้อย้อนแย้งกับกฎหมาย ปปช.เดิมปี 2542 ซึ่ง ปปช.สามารถตรวจสอบนักการเมือง และถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ หากเรื่องร้องเรียนเกี่ยวข้องกับการทุจริตและร่ำรวยผิดปกติ เมื่อ ปปช.ชี้มูล นักการเมืองที่ถูกกล่าวหาต้องยุติปฏิบัติหน้าที่ทันที

ในกฎหมายใหม่ นักการเมืองที่ถูกกล่าวหา ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ให้เป็นอำนาจพิจารณาเป็นของศาลฎีกา และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองแทน

ทำให้ สส.และนักการเมืองหลายคน แม้ถูก ปปช.ชี้มูลมีความผิด กลับยังคงทำหน้าที่ต่อไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น สะท้อนความแตกต่างและการเป็นเครื่องชี้วัดธรรมาภิบาลของนักการเมืองได้อย่างชัดเจน

อันเป็นผลจากการจัดทำกฎหมายลูก ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่นำโดยนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่เปิดขึ้นในสมัยรัฐบาล คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

อย่างไรก็ตาม การชี้มูลกล่าวหาของ ปปช.เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ไม่ได้หมายความว่า ผู้ถูกกล่าวหา ตกเป็นผู้ทำความผิดแล้ว เพราะต้องไปต่อสู้กันในชั้นศาลเสียก่อน กรณีของนายอิทธิพล คุณปลื้ม และนายสุนทร วิลาวัลย์ จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง