รมว.แรงงานเล็งเคาะขึ้นค่าจ้าง พ.ย.นี้ แต่ไม่ใช่ 400 ทั่วประเทศ

เศรษฐกิจ
15 ก.ย. 66
20:05
7,323
Logo Thai PBS
รมว.แรงงานเล็งเคาะขึ้นค่าจ้าง พ.ย.นี้ แต่ไม่ใช่ 400 ทั่วประเทศ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กระทรวงแรงงานหารือกับสภาอุตสาหกรรมฯ ยืนยันว่าค่าจ้างขั้นต่ำขยับขึ้นแน่ แต่จะไม่ถึง 400 บาท เพราะห่วงกระทบภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ภาคเอกชนประเมินว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่จะสรุปเดือน พ.ย.นี้อาจปรับขึ้นร้อยละ 3-4

วันนี้ (15 ก.ย.2566) กระทรวงแรงงาน และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หารือกันเพื่อรับฟังข้อเสนอจากภาคเอกชนถึงแนวทางขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ​

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ยืนยันว่า จะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแน่นอน​ เพราะอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นมาก​ แต่ไม่ใช่ตัวเลข 400 บาททั่วประเทศ เพื่อไม่ให้กระทบทั้งอุตสาหกรรมและการผลิต เพราะจะเป็นการขึ้นแบบก้าวกระโดดร้อยละ 10 จากค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบัน 328-354 บาท โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีจะไปต่อไม่ได้ และไม่ให้เกิดการลักลั่นทางรายได้สำหรับกลุ่มแรงงานใหม่และแรงงานเก่า โดยการขยับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อ

กระทรวงแรงงานหารือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ​

กระทรวงแรงงานหารือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ​

กระทรวงแรงงานหารือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ​

ดังนั้น การขึ้นค่าแรง 400 บาทจะเป็นการจ่ายตามทักษะ หรือ Pay by skill เน้นแรงงานไทย หรือเป็นกลุ่มแรงงานที่มีการเพิ่มทักษะแล้ว ซึ่งหลังจากหารือกับทั้งนายจ้างและลูกจ้างแล้วจะกำหนดรายละเอียดอีกครั้งว่าจะปรับขึ้นในภาคอุตสาหกรรมไหนได้บ้าง และจะนำไปหารือในคณะกรรมการไตรภาคี คาดว่าจะสรุปตัวเลขการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ภายในเดือน พ.ย. เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่

ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หลังจากหารือทำให้ภาคเอกชนสบายใจมากขึ้นว่ารัฐบาลจะไม่ขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ 400 บาท เพราะจะเป็นอัตรากระชากที่กระทบต่อธุรกิจอย่างมาก หรือบางกลุ่มต้องย้ายฐานการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น ประมงและแปรรูปอาหารทะเล

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน

ประธาน ส.อ.ท. ระบุอีกว่า หากขึ้นค่าจ้าง 400 บาทจะทำให้อุตสาหกรรมฯ ที่จ่ายค่าจ้าง 328 บาท ต้นทุนจะสูงขึ้นร้อยละ 19-20 และอุตสาหกรรมฯที่จ่าย 354 บาท ต้นทุนจะสูงขึ้นร้อยละ 13 ดังนั้นการใช้กลไกไตรภาคีมาพิจารณาการขยับขึ้นค่าจ้างจะเป็นกลไกที่เหมาะสม

รายงานข่าวจากที่ประชุม พบว่า ภาคเอกชนได้นำเสนอการคำนวณอัตราเงินเฟ้อปี 2566 คาดว่าจะอยู่ราวร้อยละ 2-3 หากรัฐบาลจะปรับเพิ่มค่าจ้างให้อีก มีความเป็นไปได้ว่าจะขยับขึ้นให้สูงกว่าเงินเฟ้อเล็กน้อย เพื่อลดผลกระทบค่าครองชีพ จึงคาดว่าค่าจ้างที่จะขยับขึ้นจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-4

ปัจจุบัน 45 อุตสาหกรรมในสภาอุตสาหกรรมฯ มีประมาณ 25 อุตสาหกรรมที่จ่ายค่าแรงสูง 600-900 บาทอยู่แล้ว เหลืออีก 20 อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและจ่ายค่าแรงตามค่าแรงขั้นต่ำ ขณะที่แรงงานทั้งระบบมีอยู่ 40.3 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานในระบบประกันสังคมประมาณ 12 ล้านคน โดย 5-6 ล้านคนอยู่ในภาคอุตสาหกรรม และเป็นแรงงานข้ามชาติ 2.7 ล้านคน ที่เหลือเป็นแรงงานนอกระบบ

อ่านข่าวอื่นๆ

"พิพัฒน์" มอบนโยบาย 8 ข้อ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เร่งปรับค่าแรง 400 บาท

"เศรษฐา" ยันดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 ไม่กู้เงิน-ขอเวลา 1 เดือนแจงแหล่งที่มา

"พาณิชย์" ถอดโครงสร้างต้นทุนสินค้า-เล็งถกผู้ผลิตลดราคา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง