ชำแหละงบฯ งานมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี การเบิกจ่ายส่อล่าช้า

ภูมิภาค
19 ก.ย. 66
16:25
5,631
Logo Thai PBS
ชำแหละงบฯ งานมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี การเบิกจ่ายส่อล่าช้า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การที่นายกฯ ไม่เห็นด้วยกับการขอปรับเพิ่มงบฯ งานมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี อีก 3,000 ล้านบาท ไม่ใช่สัญญาณเดียวที่ทำให้ภาคประชาชนตรวจสอบโครงการนี้ เพราะเมื่อดูตามกรอบงบฯเดิม 2,500 ล้านบาท การเบิกจ่ายอาจล่าช้าเพราะผ่านมา 2 ปีแล้วแต่ยังไม่สามารถเริ่มก่อสร้าง

มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2565 อนุมัติกรอบวงเงินจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี พ.ศ.2569 วงเงิน 2,500 ล้านบาท และจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ.2572 วงเงินงบ 4,281 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 6,781 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

นับเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก และกำลังได้รับความสนใจจากสังคมอีกครั้ง หลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ลงพื้นที่รับฟังความคืบหน้าโครงการมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา

ซึ่งมีการเสนอขอขยายกรอบวงเงินงบประมาณจากเดิม 2,500 ล้านบาทเป็น 5,500 ล้านบาท แต่นายกรัฐมนตรีบอกว่า

การของบประมาณ เพิ่มอีก 3,000 ล้านบาท เป็นเรื่องที่รัฐบาลรับไม่ได้ และจะเอางบฯมาจากไหน

ที่มาโครงการงานมหกรรมพืชสวนโลก

คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2564 อนุมัติหลักการให้ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพ ในการยื่นประมูลสิทธิ์การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี พ.ศ.2569 (ระดับ B) และ จ.นครราชสีมา พ.ศ.2572 (ระดับ A1) ต่อ สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์,กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก

งานมหกรรมพีชสวนโลก เป็นงานมหกรรมจัดแสดงด้านพืชสวนกลางแจ้ง โดยมีสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (International Association of Horticultural Producers-AIPH) เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การจัดงาน

ซึ่งประเทศไทยมีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกมาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ.2549 และ ปี พ.ศ.2554 ที่ จ.เชียงใหม่ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร เป็นสมาชิก AIPH ในนามประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2546 ค่าสมาชิกปีละ 1,500 ยูโร

การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกมีการจัดต่อเนื่องหมุนเวียนประเทศเจ้าภาพ ภายในภาคีสมาชิกมีประเทศร่วมเป็นสมาชิก จำนวน 65 ประเทศ ระยะเวลาการจัดงานมีตั้งแต่ 8-180 วัน

โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
A1 : World Horticultural Exposition
B : International Horticultural Exhibition
C :International Horticultural Show
D : International Horticultural Trade Exhibition

เนื่องจากการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี พ.ศ.2569 และ จ.นครราชสีมา พ.ศ.2572 จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบในกรอบงบประมาณ และผู้มีอำนาจลงนามในหนังสือการยื่นประมูลสิทธิ์ ต่อสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ ในการดำเนินโครงการดังกล่าว

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ,กระทรวงมหาดไทย และ สสปน. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน เงื่อนไขสำคัญในการยื่นประมูลสิทธิ์งานมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี พ.ศ.2569 และ จ.นครราชสีมา พ.ศ.2572 ต่อสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (APH) ที่จะต้องพิจารณาเห็นชอบกรอบงบประมาณ

และผู้มีอำนาจลงนามในการจัดงานดังกล่าวเพื่อยื่นต่อสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ ภายในเดือนม.ค.2565 จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีโดยด่วน จึงนำไปสู่การอนุมัติงบประมาณของ ครม.

ภาคประชาชนร่วมตรวจสอบและติดตามการดำเนินโครงการ

สภาพสวนสาธารณะหนองแด ต.กุดสระ อ.เมืองอุดรธานี กว่า 1,000 ไร่ ยังไม่มีการปรับสภาพที่ดิน เพื่อเตรียมการก่อสร้างจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี ที่จะต้องเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวในปี 2569 หรือเหลือเวลาอีกประมาณ 3 ปี ด้วยงบประมาณก่อสร้างที่สูงถึง 2,500 ล้านบาท และต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ และเบิกจ่ายเงินตามกรอบงบประมาณต่อเนื่องถึง 7 ปี

ทำให้เครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกับ สำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต ป.ป.ช. ดำเนินการป้องปรามการทุจริต หรือปักหมุดพื้นที่เฝ้าระวังความเสี่ยงทุจริต รวมทั้งป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ

นายประกอบกิจ พัชรสกุลเกียรติ ชมรมสตรองต้านทุจริต จ.อุดรธานี กล่าวว่า เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ชมรมสตรองต้านทุจริต ได้นำเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ลงพื้นที่สำรวจสวนสาธารณะหนองแด และเตรียมวางแผนติดตามการดำเนินโครงการ

เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก มีการขุดลอก ปรับพื้นที่ ถมดิน ซึ่งต้องตรวจสอบว่าเป็นไปตามสัญญาจ้างหรือไม่ และจะมีการจัดซื้อพืชพรรณไม้ต่างๆ รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการในบัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อป้องกันการเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนรายใดรายหนึ่ง รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างที่แพงเกินจริง

ภาคประชาชนตั้งข้อสังเกตการณ์เบิกจ่ายงบฯล่าช้า

ไทยพีบีเอสวิเคราะห์ข้อมูล จากเอกสารการอนุมัติกรอบงบประมาณโครงการนี้ และลำดับเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณ ที่ถูกภาคประชาชนตั้งข้อสังเกตุว่า การเบิกจ่ายอาจล่าช้า เพราะผ่านมาเกือบ 2 ปี การก่อสร้างยังไม่สามารถเริ่มดำเนินการได้ ยังต้องรอการออกแบบแผนผังการจัดงานหรือ Master Plan แล้วเสร็จก่อน

- 16 พ.ย.2564 ครม.มีมติอนุมัติหลักการให้ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพในการยื่นประมูลสิทธิ์การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 (ระดับ B)

- 8 มี.ค.2565 ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี 2569

-4 ก.ค.2565 ครม.อนุมัติกรอบวงเงินจัดงาน 2,500 ล้านบาท

-ปี 2565 ไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ดำเนินงาน สำนักงบประมาณให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง ปรับลดงบไม่จำเป็นมาใช้แทน แต่ไม่มีงบประมาณจะปรับลด จึงจะต้องขอใช้งบกลางในปี 65

-19 ส.ค.2565 ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี แจ้งว่าได้รับอนุมัติงบกลางก้อนแรก 55 ล้านบาทเศษ ให้จังหวัดอุดรธานี จ้างที่ปรึกษาออกแบบ Master Planงาน ‘พืชสวนโลก’ ซึ่งเหลืออีกเพียง 42 วัน จะต้องได้ผู้รับจ้าง ก่อนสิ้นปีงบประมาณ

-15-20 ก.ค.2566 คณะกรรมการ สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) เดินทางมาตรวจเยี่ยม และมีข้อคิดเห็น /ข้อเสนอแนะ ต้องใช้งบประมาณอย่างน้อย 5,000 ล้านบาท เป็นสาเหตุให้หน่วยงานที่รับผิดชอบขอขยายกรอบงบประมาณเป็น 5,500 ล้าน บาท แต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ประธานคณะกรรมการบริหารการจัดงานพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ.2566

- AIPH กำหนดให้ประเทศไทยต้องเข้าร่วมกิจกรรมของ AIPH อย่างน้อยในเดือนกันยายน 2566 ต้องเข้าร่วมงานที่ประเทศเกาหลี ช่วง 15 มิ.ย.-31 ต.ค.2566 โดยร่วมจัดนิทรรศการ ต้องร่วมประชุม และลงนามในสัญญาการเป็นเจ้าภาพจัดงาน หากไม่มีการลงนาม ประเทศไทยจะไม่ได้รับสิทธิ์การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี 2569 และต้องไปจัดนิทรรศการที่งาน Expo 2023 Doha Qatar ประเทศกาตาร์ ทั้ง 2 กิจกรรม จะขอใช้งบกลางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2566 จำนวนกว่า 25 ล้านบาท

-9 ส.ค.2566 นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตรวจสอบการจ้างออกแบบผังแม่บทและรายละเอียดโครงการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี พ.ศ.2569 เพราะได้รับการร้องเรียนเรื่องความไม่โปร่งใส

-15 ส.ค.2566 ครบกำหนดที่ จ.อุดรธานี ต้องส่งรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือ IEE มายังกรมวิชาการเกษตรกร

เพื่อเสนอต่อ ครม.ให้พิจารณาอนุมัติผ่อนผันยกเว้นไม่นำมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำมาบังคับใช้ เนื่องจากพื้นที่จัดงานเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่จะดำเนินการได้ก็ต้องรอการออกแบบแผนผังการจัดงานหรือ Master Plan แล้วเสร็จก่อน นี่คือข้อจำกัดที่ทำให้ยังไม่สามารถเริ่มการปรับพื้นที่หรือก่อสร้างได้

 -8 ก.ย.2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง พร้อมด้วยคณะ ลงพื้นที่รับฟังความคืบหน้าโครงการมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี ซึ่งมีการเสนอขอขยายกรอบวงเงินงบประมาณจากเดิม 2,500 ล้านบาท เป็น 5,500 ล้านบาท

แต่นายกรัฐมนตรีมองว่า การของบประมาณเพิ่มอีก 3,000 ล้านบาท เป็นเรื่องที่รัฐบาลรับไม่ได้ จะเอางบมาจากไหน เพราะรัฐบาลยังมีภาระอื่น ต้องควบคุมงบประมาณให้อยู่ภายใต้กรอบที่มีการพูดคุยกันไว้

-12 ก.ย.66 นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมหารือ การเตรียมการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ ความคืบหน้าการงบว่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบผังแม่บท จังหวัดขอมาจากงบกลาง 55.4 ล้านบาท ส่งมอบงานไปแล้ว 2 งวด 22 ล้านบาท กำลังทำงานออกแบบงวด 3

ในส่วนของรายละเอียด เมื่อเสร็จสามารถใช้เริ่มโครงการได้ จากนั้นจะแยกหน่วยงานเข้ามารับผิดชอบ ในส่วนงานปรับพื้นที่ จ.อุดรธานี, งานถนนทางหลวงชนบท, งานอาคารของกรมโยธาฯ, งานต้นไม้และพืชของกรมวิชาการเกษตร และงานอื่น ๆ

ด้าน น.ส.ศศิกาญจน์ กันหาธรรม ผอ.สำนักงบประมาณ เขตที่ 7 แจ้งในที่ประชุมว่า ในกรอบวงเงิน 2,500 ล้านบาท ซึ่งถึงขณะนี้กรอบงบปี 65 มี 248.88 ล้านบาท ใช้ไป 55.4 ล้านบาท, กรอบงบฯปี 66 มี 215.6 ล้านบาท ยังไม่ได้เบิกจ่าย, กรอบงบฯปี 67 มี 507.32 ล้านบาท, กรอบงบฯปี 68 มี 560.7 ล้านบาท

สำนักงบประมาณ เขตที่ 7 ขอให้จังหวัดพิจารณาแยกโครงการ มีวงเงินงบฯแต่ละปี หน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ ให้แยกชัดเจนของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งจะต้องมีการ “ปรับแผนงบประมาณ” ก่อนขอความเห็นชอบจาก ครม.ในครั้งต่อไป

ด้านข้อมูลจากเครือข่ายภาคประชาชน ชี้ให้เห็นว่า ยังต้องติดตามความคืบหน้าโครงการนี้อย่างใกล้ชิด และภาครัฐต้องเปิดให้ประชาชนที่อาศัยในชุมชนรอบหนองแด มีส่วนร่วมในการรับฟังแนวทางการออกแบบ Master Plan เพราะหนองแด เป็นทั้งแหล่งรองรับน้ำเสีย และเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของหลายชุมชน

สุกัน ใจสุข ตัวแทนกลุ่มรักษ์หนองแด จ.อุดรธานี กล่าวว่า

กังวลว่าโครงการนี้จะล่าช้า คนในพื้นที่เห็น Master Plan ก็ไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่ เพราะขาดการมีส่วนร่วม อย่างการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม ก็อยากให้สอบถาม ฟังความเห็นคนในพื้นที่

และที่ต้องติดตามเป็นพิเศษ คือ การเบิกจ่ายงบประมาณโครงการนี้ เพราะหากดูตามค่าใช้จ่ายตามภาคการผลิตในการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี 2569 แยกรายปีตั้งแต่ปี 2565-2570 เห็นได้ว่า

มีการวางกรอบงบประมาณที่ต้องเบิกจ่ายในปี 2566 กว่า 215 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่มีการเบิกจ่าย และเพื่อให้โครงการแล้วเสร็จตามกำหนดเปิดงาน จะต้องมีการเบิกจ่ายงบประมาณหลักๆ วงเงิน 500-690 ล้านบาท ในปี 2567 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2569

ข่าวที่เกี่ยวข้อง