ถูกฉาบด้วยสีดอกเลา "ญี่ปุ่น" ขึ้นแท่นแชมป์ผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก

ต่างประเทศ
20 ก.ย. 66
13:48
3,671
Logo Thai PBS
ถูกฉาบด้วยสีดอกเลา "ญี่ปุ่น" ขึ้นแท่นแชมป์ผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ญี่ปุ่น" ครองแชมป์ประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากเป็นอันดับ 1 และยังเป็นประเทศที่ประชากรอายุขัยเฉลี่ยมากที่สุดในโลกอีกด้วย หากมองประเทศญี่ปุ่นจากมุมบนลงมา เป็นไปได้ที่จะเห็นประเทศญี่ปุ่นฉาบไปด้วยสีเทา หรือ สีดอกเลาจากผมขาวของจำนวน "โคเรฉะ"

高齢者 (Kōrei-sha หรือ โคเรฉะ) แปลว่าผู้สูงอายุในภาษาญี่ปุ่น และเมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นจัดงานเฉลิมฉลองวันผู้สูงอายุในประเทศ โดยจัดให้เป็นวันหยุดประจำชาติเพื่อเป็นเกียรติแก่เหล่าผู้สูงอายุในประเทศ ในวันนี้ ผู้คนจะกลับบ้านไปเยี่ยมเยียน แสดงความเคารพต่อผู้สูงอายุในครอบครัว หากครอบครัวใดมีผู้สูงอายุมากกว่า 100 ปีก็จะได้รับเกียรติจากนายกเทศมนตรีเมืองและเจ้าหน้าที่เข้าเยี่ยมด้วย ส่วนชาวญี่ปุ่นที่อาศัยในต่างประเทศก็จะได้รับข้อความแสดงความยินดีเป็นจดหมายจากนายกรัฐมนตรี

ในปี 2566 มีรายงานจาก The Japan Times ว่าจำนวนชาวญี่ปุ่นสูงอายุที่มีอายุครบ 100 ปี แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 92,139 คน โดยเพิ่มขึ้น 1,613 คนจากปี 2565 เป็นเพศหญิง 81,589 คน (ร้อยละ 88.5 ของประชากรผู้มีอายุครบร้อยปีทั้งหมด) เพศชาย 10,550 คน (ร้อยละ 11.5) หรือเฉลี่ย 73.74 คนต่อประชากร 100,000 คนในญี่ปุ่น

กระทรวงกิจการภายในญี่ปุ่น ระบุว่า สัดส่วนผู้สูงอายุในญี่ปุ่นนั้นสูงเป็นประวัติการณ์ โดยคิดเป็นร้อยละ 29.1 ของประชากรญี่ปุ่นทั้งประเทศ และเป็นอัตราที่สูงที่สุดในโลก ขณะญี่ปุ่นยังเผชิญกับอัตราการเกิดและจำนวนแรงงานที่ลดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจัดหาเงินทุนสำหรับเงินบำนาญและการดูแลสุขภาพ เนื่องจากความต้องการจากประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น  จำนวนประชากรของญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูช่วง 2523 เป็นต้นมา โดยมีอัตราการเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.3 ซึ่งต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยที่ 2.1 อยู่มาก และตัวเลข 1.3 นี้ก่อให้เกิดปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และด้วยความหวังที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ซบเซา รัฐบาลญี่ปุ่นได้สนับสนุนให้ผู้สูงอายุและคุณแม่ที่อยู่ที่บ้านมากขึ้น ให้กลับเข้ามาทำงานอีกครั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่นโยบายนี้ได้ผลในระยะหนึ่งเท่านั้น เพราะในปัจจุบันพบว่ามีแรงงานสูงอายุมากถึง 9,120,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอด 19 ปี 

ภาพประกอบข่าว : สังคมการทำงานในญี่ปุ่น

ภาพประกอบข่าว : สังคมการทำงานในญี่ปุ่น

ภาพประกอบข่าว : สังคมการทำงานในญี่ปุ่น

การสนับสนุนแรงงานสูงอายุนั้นอาจเป็นผลดีต่อตัวบุคคล แต่ในระดับเศรษฐกิจมหภาค ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบทางวิกฤตประชากรและเศรษฐกิจ นายกฯ ฟูมิโอะ คิชิดะ ออกโรงเตือนตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาว่า

ญี่ปุ่นกำลังจะสูญเสียสมดุลของสังคม เราจำเป็นต้องเสริมและผลักดันนโยบายการมีบุตรให้มากขึ้น เราไม่สามารถรอได้อีกต่อไปแล้ว 

สถานการณ์การเกิดต่ำ การตายต่ำ เด็กเกิดน้อย ผู้สูงอายุเยอะ ไม่ได้มีที่ญี่ปุ่นเพียงที่เดียว ในภูมิภาคเอเชียยังถือว่ามีอีกหลายประเทศที่เผชิญปัญหานี้เหมือนญี่ปุ่น เช่น จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และ ไต้หวัน โดยรัฐบาลของทุกประเทศได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวมีลูกมากขึ้นเช่นกัน 

รู้หรือไม่ :

ฟูสะ ทัตสึมิ ปัจจุบันอายุ 116 ปี 148 วัน เป็นหญิงชาวญี่ปุ่นที่อายุมากที่สุดในญี่ปุ่น และ ยังมีชีวิตอยู่
กิซาบุโร โซโนเบะ ปัจจุบันอายุ 111 ปี 317 วัน เป็นชายญี่ปุ่นที่อายุมากที่สุดในญี่ปุ่น และ ยังมีชีวิตอยู่

ฌาน กาลม็อง อายุ 122 ปี 164 วัน เป็นหญิงฝรั่งเศสที่อายุมากที่สุดในโลก และ เสียชีวิตแล้ว 
ทานากะ คาเนะ อายุ 119 ปี 107 วัน เป็นชาวญี่ปุ่นที่มีอายุมากที่สุดในญี่ปุ่น และ เสียชีวิตแล้ว 

มาเรีย บรานยาส โมเรรา อายุ 116 ปี 200 วัน เป็นหญิงอเมริกันเชื้อสายสเปนที่มีอายุมากที่สุดในโลก และ ยังมีชีวิตอยู่ 

(ข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.ย.2566)

ที่มา : CNN, LongeviQuest, The Japan Times 

อ่านข่าวอื่น : 

แผ่นดินไหว 6.2 เขย่านิวซีแลนด์ รุนแรงสุดในรอบปี

ภารกิจนายกฯไปประชุมยูเอ็น ปัญหาการสื่อสาร “ไม่เคลียร์”

ตร.เร่งค้นหาเด็กหายอีก 2 คน เชื่อมโยงคดีพ่อฆ่าลูก 2 ขวบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง