สธ.ห่วง "ไข้หวัดใหญ่" ระบาดพุ่ง - "ไข้เลือดออก" อัตราป่วยตายสูง

สังคม
22 ก.ย. 66
08:18
1,076
Logo Thai PBS
สธ.ห่วง "ไข้หวัดใหญ่" ระบาดพุ่ง - "ไข้เลือดออก" อัตราป่วยตายสูง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รมว.สธ.เผย "ไข้หวัดใหญ่" ยังมีอุบัติการณ์สูง ตั้งแต่ต้นปีพบป่วยแล้ว 1.5 แสนคน ส่วน "ไข้เลือดออก" แม้การระบาดเริ่มชะลอตัว แต่พบอัตราป่วยสูงในกลุ่มเด็ก แต่อัตราป่วยตายสูงในผู้ใหญ่

เมื่อวันนี้ 21 ก.ย.2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า "โรคไข้หวัดใหญ่" มีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้น ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 9 ก.ย.2566 มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 154,829 คน อัตราป่วยคิดเป็น 233.95 ต่อประชากรแสนคน มีผู้เสียชีวิต 3 คน อัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 0.001

ทั้งนี้อัตราการติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ที่มีผู้ป่วยมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 3 เท่า หลังจากประชาชนผ่อนคลายเรื่องสวมหน้ากากอนามัย

ขณะที่ สธ.มีหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้ว่าฯ กทม. และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แจ้งแนวทางและขอความร่วมมือเตรียมพร้อม เฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ทั้งในโรงเรียน สถานศึกษา เรือนจำ ทัณฑสถาน สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน รวมถึงค่ายทหาร

อ่านข่าว : สธ.ห่วงป่วยไข้หวัดใหญ่พุ่ง สั่งปูพรมสกัดระบาดในโรงเรียน

"ไข้เลือดออก" การระบาดเริ่มชะลอตัว

นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึง "โรคไข้เลือดออก" ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-13 ก.ย.2566 มีผู้ป่วย 91,979 คน อัตราป่วย 139.09 ต่อประชากรแสนคน ผู้เสียชีวิต 93 คน จาก 44 จังหวัด อัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 0.1 โดยพื้นที่อัตราป่วยสูงได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้

พบอัตราป่วยสูงในเด็กอายุ 5-14 ปี และกลุ่มอายุ 15-24 ปี แต่อัตราป่วยตายกลับสูงในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 55-64 ปี อัตราป่วยตายสูงสุด ร้อยละ 0.21 รองลงมาคือกลุ่มอายุ 25-34 ปี อัตราป่วยตายร้อยละ 0.17

ภาพรวมสรุปได้ว่าผู้ใหญ่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ที่เป็นไข้เลือดออกจะมีความเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าเด็ก 2-3 เท่า เพราะส่วนใหญ่มักไปพบแพทย์และได้รับการรักษาช้าเกินไป

ดังนั้น หากมีไข้ รับประทานยา 2 วันแล้วไม่ดีขึ้น ขอให้รีบไปพบแพทย์ ที่สำคัญห้ามซื้อยาชุด ไอบูโพรเฟน แอสไพริน หรือยากลุ่มเอ็นเสด มารับประทานเด็ดขาด

รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศไทยในปี 2566 ค่อนข้างสูง ขณะนี้การระบาดเริ่มชะลอตัว แต่ยังพบผู้ป่วยต่อเนื่องในบางจังหวัด สธ.จึงใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพิ่มความร่วมมือเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่และสถานที่เสี่ยง เช่น โรงเรียน วัด ชุมชนและโรงงาน

อ่านข่าวอื่นๆ

X-ray ยีนกลายพันธุ์ ต้นตอ "มะเร็งปอด"

เพจดังเตือน "นมแม่แช่แข็ง" อย่าซื้อให้ลูกกินเสี่ยงรับเชื้อโรค

ผู้ประกันตนชาย ม.33,39 กรณีมีบุตร รับสิทธิค่าฝากครรภ์-สงเคราะห์บุตรได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง