24 กันยายน "วันมหิดล" น้อมรำลึกถึงพระบิดาแห่งการแพทย์ไทย

ไลฟ์สไตล์
24 ก.ย. 66
11:07
2,467
Logo Thai PBS
24 กันยายน "วันมหิดล" น้อมรำลึกถึงพระบิดาแห่งการแพทย์ไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
24 กันยายน "วันมหิดล" วันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบิดาแห่งการแพทย์ไทย

"วันมหิดล" ตรงกับวันที่ 24 ก.ย.ของทุกปี ถือเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์) พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย"

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศให้วันที่ 24 ก.ย.ของทุกปี เป็นวันมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ.2494 เป็นต้นมา

เพื่อเป็นการถวายสักการะและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก จากพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญแก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุขของประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 12 ปี ได้เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่โรงเรียนแพทย์ และพัฒนาการเรียนการสอน ตลอดจนการผลิตแพทย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการวางรากฐานแก่การแพทย์และการสาธารณสุขให้เจริญพัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมอารยะประเทศ

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (ภาพจาก หน่วยราชการในพระองค์)

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (ภาพจาก หน่วยราชการในพระองค์)

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (ภาพจาก หน่วยราชการในพระองค์)

ถวายพระราชสมัญญา "พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย"

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์) ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 ม.ค.2434 และเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2472 พระชนมายุ 38 พรรษา

ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระองค์เป็นพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระราชอัยกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อครั้งยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะในด้านการแพทย์และการสาธารณสุข

ทรงอุทิศกำลังพระวรกายและพระหฤทัย ตลอดจนทรัพย์สินส่วนพระองค์เพื่อการแพทย์ไทยอย่างมากมาย ทรงเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์ ทรงช่วยเหลือในการขยายกิจการของโรงพยาบาลศิริราช พระราชทานเงินสร้างตึกคนไข้ พระราชทานทุนส่งนักเรียนแพทย์และนักเรียนพยาบาลไปศึกษาต่อในต่างประเทศ เป็นผลทำให้กิจการแพทย์และสาธารณสุขของไทยเจริญก้าวหน้า บรรดาผู้ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณได้พร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญาว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย”

ต่อมา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บรรดาศิษย์เก่าศิริราช ผู้ที่ได้รับทุน ตลอดจนประชาชนทั่วไปได้ร่วมกันออกทุนทรัพย์สร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ประดิษฐานไว้ ณ ใจกลางโรงพยาบาลศิริราช บริเวณลานหน้าตึกศิริราช ๑๐๐ ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์ เมื่อปี 2493 โดยมีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบ และนายสนั่น ศิลากรณ์ เป็นประติมากร

หลังจากนั้นนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น จำหน่ายธง จัดบริการทางการแพทย์ เนื่องในวันสวรรคต 24 กันยายน เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ โดยใช้ชื่อว่า "วันมหิดล" และได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะ ณ พระราชานุสาวรีย์ โรงพยาบาลศิริราช เป็นการประจำปี

ธงวันมหิดล  (ภาพจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)

ธงวันมหิดล (ภาพจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)

ธงวันมหิดล (ภาพจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)

ความเป็นมา "ธงวันมหิดล"

"ธงที่ระลึกวันมหิดล" หรือ "ธงมหิดล" เริ่มจัดทำขึ้นในปี 2503 หลังจาก ศ.นพ.กษาณ จาติกวนิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ได้เสนอให้ศิริราชจำหน่ายธงวันมหิดล เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ของโรงพยาบาลศิริราช

ในปีแรกมีการจำหน่ายธงขนาดกลาง ราคา 10 บาท และธงเล็กทำด้วยริบบิ้น ราคา 1 บาท นักศึกษาในวิทยาเขตศิริราชได้ช่วยกันออกไปจำหน่าย รายได้ทั้งหมดนำไปจัดซื้ออุปกรณ์การรักษาพยาบาลและเครื่องอำนวยความสุขแก่ผู้ป่วยยากไร้ ในปี 2520 การจำหน่ายธงได้ผลดีเกิดคาด ธงไม่พอสำหรับวันออกรับบริจาคครั้งใหญ่ "กลุ่มอาสามหาวิทยาลัยมหิดล" ซึ่งประกอบด้วย นักศึกษาจากทุกคณะและทุกวิทยาเขต จึงอาสาทำธงมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับสีธงจะเปลี่ยนไปตามวันในสัปดาห์ของวันมหิดลปีนั้น ๆ เช่น ในปี 2565 วันมหิดล ตรงกับวันเสาร์ที่ 24 ก.ย. จึงใช้ธงสีม่วง และในปี 2566 วันมหิดล ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 24 ก.ย. จึงใช้ธงสีแดง

(ข้อมูลจาก หน่วยราชการในพระองค์, มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง