"4 ไม่" EOD เตือนประชาชนข้อสังเกต "วัตถุต้องสงสัย"

สังคม
25 ก.ย. 66
08:14
1,745
Logo Thai PBS
"4 ไม่" EOD เตือนประชาชนข้อสังเกต "วัตถุต้องสงสัย"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หน่วยเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด (EOD) แนะนำข้อสังเกตเกี่ยวกับวัตถุต้องสงสัย ให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังทั้งต่อตนเองและบุตรหลาน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

รู้จัก EOD "หน่วยเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด"

EOD (Explosive Ordnance Disposal) คือ หน่วยเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด ซึ่งต้องจบหลักสูตรทำลายวัตถุระเบิดมาโดยเฉพาะ เพื่อรับผิดชอบภารกิจสำคัญต่าง ๆ เช่น

  • พิสูจน์ทราบและทำให้ปลอดภัยจากวัตถุระเบิด
  • แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อมีภัยคุกคามหรือเหตุการณ์ร้ายแรงเกี่ยวกับวัตถุระเบิด
  • ตรวจร่วมกับชุดสุนัขตรวจพัสดุภัณฑ์ระเบิด K9
  • ประสานหน่วยสนับสนุน เช่น รถพยาบาล รถดับเพลิง รถไฟฟ้า เมื่อมีเหตุการณ์ขู่วางระเบิด ตามแผนฉุกเฉิน
  • ให้ความรู้ คำแนะนำเกี่ยวกับวัตถุระเบิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • ประเมินค่าและทำให้ปลอดภัยในการเคลื่อนย้ายสัมภาระต้องสงสัยหรือสิ่งของหลงลืมว่าเป็นวัตถุระเบิด
  • ตรวจอาคารสถานที่ ยานพาหนะ อากาศยาน เพื่อป้องกันการก่อวินาศกรรม
เจ้าหน้าที่ EOD ขณะปฏิบัติหน้าที่ ที่มา : FB ผู้พิทักษ์

เจ้าหน้าที่ EOD ขณะปฏิบัติหน้าที่ ที่มา : FB ผู้พิทักษ์

เจ้าหน้าที่ EOD ขณะปฏิบัติหน้าที่ ที่มา : FB ผู้พิทักษ์

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ "วัตถุระเบิด"

คือสารประกอบทางเคมี ที่มีสถานะต่างๆ ทั้งของแข็ง ของเหลว และ ก๊าซ ที่เมื่อได้รับปฏิกิริยาจากภายนอกทั้ง ความร้อน เปลวไฟ การกระแทก การเสียดสี หรือคลื่นการระเบิด แล้วจะเปลี่ยนแปลงสภาพจากเดิมกลายเป็นก๊าซปริมาณมากมายจำนวนมหาศาล กระจายออกทุกทิศทาง การขยายตัวของก๊าซที่เกิดจากการระเบิด ก่อให้เกิด แสงสว่าง เปลวไฟ ความร้อน และ แรงดันจำนวนมหาศาล วัตถุระเบิดสามารถแบ่งตามความเร็วในการจุด ได้ 2 ประเภท คือ 

  1. วัตถุระเบิดแรงต่ำ (Low Explosive)  จะแปรสภาพจากเดิมเป็นก๊าซได้อย่างช้าๆ มีความเร็วในการจุดตัว น้อยกว่า 1,000 เมตร/วินาที เช่น ดินดำ ดินส่ง กระสุน พลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ สารไพโรเทคนิคต่างๆ สามารถทำให้เกิดการระเบิดได้ หากเป็นการเผาไหม้อย่างรุนแรงในที่ห้อมล้อมหรือที่บังคับ เช่น การระเบิดของประทัด การระเบิดของดินส่งกระสุนในรังเพลิง
    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

  2. วัตถุระเบิดแรงสูง (High Explosive) จะแปรสภาพจากเดิมเป็นก๊าซได้อย่างรวดเร็ว มีความเร็วในการจุดตัวมากกว่า 1,000 เมตร/วินาที การระเบิดของวัตถุระเบิดแรงสูงเรียกว่า การปะทุ จะก่อให้เกิดคลื่นการปะทุ (Shock Wave) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการระเบิดพ้องทำให้ระเบิดที่อยู่ในรัศมีระเบิดตามไปด้วย
    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

"4 ไม่" ข้อสังเกตสำหรับวัตถุต้องสงสัย (วัตถุที่ควรสงสัย)

  1. ไม่เคยเห็น เป็นสิ่งของที่ไม่เคยพบเห็นในบริเวณนั้นมาก่อน รวมถึงสิ่งที่เคยอยู่ ณ ที่นั้น ซึ่งได้หายไป แล้วกลับมาวางอยู่ ณ ที่นั้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
  2. ไม่เป็นของใคร เป็นสิ่งของที่ทิ้งไว้ไม่มีเจ้าของ ประกาศหาเจ้าของแล้วไม่มีผู้มาแสดงตัว หรือไม่สามารถระบุตัวผู้เป็นเจ้าของได้
  3. ไม่ใช่ที่อยู่ สถานที่ๆ พบสิ่งของกับเป็นสิ่งของที่พบ ไม่มีความสัมพันธ์กัน หรือสิ่งของนั้นๆ ควรจะอยู่ในสถานที่อื่นมากกว่าที่จะมาอยู่บริเวณนั้น
  4. ดูไม่เรียบร้อย เป็นสิ่งของที่มีลักษณะภายนอกผิดปกติ หรือมีรูปร่างผิดไปจากเดิม เช่น กล่องมีรอยเปรอะเปื้อน มีการปิดผนึกไม่เรียบร้อย อาจมีรอยปิดผนึกใหม่ มีรอยยับต่างๆ มีสีที่เปลี่ยนไปจากเดิม มีรอยเชื่อมใหม่มีการผูกมัดรัดตรึงที่แน่นหนาผิดปกติ มีสายไฟ หรือมีชิ้นส่วนต่างๆ โผล่พ้นออกมาผิดปกติ เป็นต้น
จากข้อพิจารณาข้างต้น ไม่จำเป็นต้องเข้าหลักเกณฑ์ครบทั้งหมดทุกข้อ เพียงเข้าหลักเกณฑ์ อย่างน้อย 2 ข้อ ก็เพียงพอสำหรับการสันนิฐานและตัดสินใจได้แล้วว่าเป็น วัตถุต้องสงสัย 

ข้อสังเกตเกี่ยวกับระเบิดทางพัสดุไปรษณีย์

  1. มีน้ำหนักมากเกินขนาด
  2. ซองมีลักษณะแข็ง พับงอไม่ได้
  3. ห่อพัสดุ หรือซองจดหมายมีลักษณะโป่งบวม หรือพอง ผิดปกติ
  4. ลักษณะการห่อแน่นหนาเกินควร มีเทปพันมากเกินควร
  5. อาจมีสายไฟยื่นออกมา
  6. ไม่มีชื่อ ที่อยู่ ของผู้ส่ง หรือมีแต่ไม่เคยรู้จัก
  7. มีคราบน้ำมัน หรือสีซีดจางที่ห่อกระดาษ
  8. อาจมีการเขียนข้อความ หรือติดภาพที่เรียกร้องความสนใจ
  9. เป็นจดหมายที่ไม่ได้คาดว่าจะได้รับ
    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

  10. มีการติดแสตมป์มากเกินขนาด (โดยเฉพาะส่งภายในประเทศ)
  11. มีการทำเครื่องหมายพิเศษต่าง เช่น ส่วนตัว, เฉพาะบุคคล
  12. ลายมือเขียน หรือพิมพ์ที่ไม่เป็นระเบียบ
  13. ไม่มีชื่อผู้รับ
  14. มีชื่อ แต่ระบุตำแหน่ง หรือยศ ไม่ถูกต้อง
  15. สะกดคำผิดในคำง่าย ๆ

การป้องกันเป็นหน้าที่ของใคร ?

การระวังป้องกันความเสียหายที่เกิดจากการระเบิด จะเกิดมากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับ สถานที่ ปริมาณวัตถุระเบิด และ การระวังป้องกัน การระเบิดทำให้เกิดความเสียหายต่อสถานที่ต่างๆ และผู้ที่อยู่ในบริเวณที่เกิดการระเบิด ฉะนั้น การป้องกันจึงเป็นหน้าที่ของทุกคน 

ลดความเสี่ยง หลีกเลี่ยงความเสียหาย ปราศจากเหตุร้ายในพื้นที่ 

การป้องกันตัวเองที่ดีที่สุด คือ การไม่เข้าไปในที่ๆ มีการวางระเบิด หรืออยู่ห่างให้มากที่สุด แต่ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าก่อนว่าจะมีการวางระเบิดที่ใด เมื่อใด 

เพื่อความปลอดภัยมีข้อแนะนำ ดังนี้

  • หมั่นติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำที่เกี่ยวข้อง
  • หลีกเลี่ยงไปในพื้นที่ที่เสี่ยงต่ออันตราย
  • หมั่นตรวจดูสิ่งผิดสังเกตรอบๆ ตัวเอง
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

เมื่อพบแล้วประชาชนต้องทำอย่างไร ?

เมื่อพบสิ่งของที่เข้าหลักเกณฑ์เป็นวัตถุต้องสงสัย เพื่อความปลอดภัย ควรปฏิบัติตามข้อแนะนำ ดังนี้

  • ห้าม - ห้ามแตะ, จับ, ขยับ, เคลื่อนย้าย หรือ การกระทำใดๆ กับวัตถุต้องสงสัย 
  • ถาม - เมื่อพบวัตถุต้องสงสัยให้ถามหาเจ้าของก่อนว่ามีหรือไม่ หากมีเจ้าของ สิ่งที่พบก็ไม่ใช่วัตถุต้องสงสัย
  • จดจำ - อย่าตกใจ ควรสังเกตสิ่งต้องสงสัยโดยรอบ และ จดจำลักษณะวัตถุต้องสงสัยนั้นให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์ในการให้รายละเอียดแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป
  • นำแจ้งความ - ผู้ที่พบเห็นแจ้งสิ่งที่พบกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือ เจ้าหน้าที่ที่ใกล้ที่สุดในพื้นที่ 
  • กำหนดเขตปลอดภัย - การประเมินระยะอันตรายที่เกิดจากการระเบิด ระยะอันตรายขึ้นอยู่กับ ลักษณะของหีบห่อ จำนวนดินระเบิดที่บรรจุ 
  • ให้คนออก - ผู้ที่พบเห็นควรแจ้งให้ทุกคนที่อยู่ในระยะอันตราย ออกนอกเขตอันตรายให้หมด และ ควรอยู่ในที่กำบังที่แข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากแรงระเบิดและสะเก็ดระเบิด
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ที่มา : หน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิดอโณทัย กรมสรรพาวุธทหารบก, กรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง