"วันไหว้พระจันทร์" เทศกาลบูชาความรักของ "โฮวอี้" ต่อ "เทพธิดาฉางเอ๋อ"

ไลฟ์สไตล์
25 ก.ย. 66
17:34
5,159
Logo Thai PBS
"วันไหว้พระจันทร์" เทศกาลบูชาความรักของ "โฮวอี้" ต่อ "เทพธิดาฉางเอ๋อ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ถ้านับ "ตรุษจีน" คือเทศกาลสำคัญของคนจีนแล้ว อันดับรองลงมาก็คือ "วันไหว้พระจันทร์" ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่ทำให้ชาวจีนได้กลับมาพบหน้ากัน ในวันนี้นอกจากจะไหว้ขนมไหว้พระจันทร์ไส้มงคลต่างๆ แล้ว ยังจะเห็นพระจันทร์ทรงกลมโตสุดสว่างสวยท่ามกลางฟ้ายามราตรีด้วย

เทศกาลไหว้พระจันทร์ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ซึ่งในปี 2566 จะตรงกับวันที่ 29 ก.ย. เป็นเทศกาลที่จัดเพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว ทุกบ้านจะต้องซื้อ "ขนมไหว้พระจันทร์" มาทำพิธีไหว้และแบ่งกันกินภายในครอบครัว ถือเป็นอีกหนึ่งเทศกาลรวมญาติของชุมชนชาวจีน

โคมสีแดงประดับช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์

โคมสีแดงประดับช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์

โคมสีแดงประดับช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์

"เทศกาลไหว้พระจันทร์" มีมาอย่างยาวนานและเริ่มต้นจากประเทศจีน ในสมัยอดีตที่ยังไม่มีเทคโนโลยี ชาวบ้านยังใช้ชีวิตสัมพันธ์อยู่กับธรรมชาติ ไม่ว่าจะทำไร่ทำนา ทำการเกษตร หรือปศุสัตว์ การขอบคุณธรรมชาติจึงเป็นพิธีที่คนในยุคนั้นตอบแทนธรรมชาติ เกิดเป็นเทศกาลเล็กๆ ในพื้นที่ และค่อยๆ เริ่มขยายวงกว้างไปจนสู่เทศกาลระดับประเทศ 

ที่มา "วันไหว้พระจันทร์" 

เริ่มต้นในสมัยราชวงศ์ถัง เทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นเพียงแค่เทศกาลพื้นบ้าน กระทั่งสมัยราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ.1503-1822) จึงเริ่มขยับขยายเป็นเทศกาลของรัฐ มีการเฉลิมฉลองกันทั้งคืน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2492 รัฐบาลพรรคคอมนิวนิสต์ กำหนดวันหยุดราชการใหม่ ให้มีเพียง "ตรุษจีน" เท่านั้นที่เป็นวันหยุดราชการ ในปีถัดมารัฐบาลออกประกาศเรื่อง "วันหยุดเทศกาลและวันหยุดราชการ"

กิจกรรมเทศกาลไหว้พระจันทร์ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

กิจกรรมเทศกาลไหว้พระจันทร์ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

กิจกรรมเทศกาลไหว้พระจันทร์ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

ให้เทศกาลตรุษจีนเป็นวันหยุดยาว 7 วัน
เทศกาลเช็งเม้ง เทศกาลบะจ่าง ไหว้พระจันทร์ หยุดเทศกาลละ 1 วัน

ตำนาน "วันไหว้พระจันทร์"

อย่างที่เล่าไปว่าจากเทศกาลท้องถิ่น เริ่มกระจาย ขยายตัวเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ ตำนานเรื่องเล่าของวันไหว้พระจันทร์ก็ย่อมแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่และห้วงเวลา แต่ตำนานที่โด่งดังมากที่สุดสำหรับเทศกาลนี้คือ "เทพธิดาฉางเอ๋อ" ซึ่งเป็นหญิงคนรักของ "โฮวอี้" นักยิงธนูแห่งสวรรค์

เจ้าแม่ฉางเอ๋อ คือ เทพจีนประจําเทศกาลไหว้พระจันทร์

ครั้งหนึ่งมีพระอาทิตย์ขึ้นพร้อมกัน 10 ดวง ทำให้ชาวโลกเดือดร้อนเป็นอันมาก โฮวอี้ จึงใช้ธนูยิงพระอาทิตย์ดับไป 9 ดวง ทำให้ได้รับการแซ่ซ้องจากผู้คนจำนวนมาก ต่อมา โฮวอี้ ได้ยาอายุวัฒนะจากผู้วิเศษท่านหนึ่ง แต่มีผู้คิดการร้ายจะขโมยไป ฉางเอ๋อ จึงกินยาอายุวัฒนะนั้นเสียเอง ก่อนล่องลอยไปถึงดวงจันทร์ กลายเป็นเทพีสถิตบนดวงจันทร์ไป โฮวอี้กลับมาไม่เจอฉางเอ๋อแล้ว แต่ในคืนวันเพ็ญเดือน 8 พระจันทร์จะงามกระจ่าง โฮวอี้ จึงจัดเครื่องเซ่นบูชาพระจันทร์รำลึกถึงฉางเอ๋อ

ภาพประกอบข่าว เทพธิดาฉางเอ๋อ

ภาพประกอบข่าว เทพธิดาฉางเอ๋อ

ภาพประกอบข่าว เทพธิดาฉางเอ๋อ

ในยุคของ "ฮั่นเหวินตี้" แห่งราชวงศ์ฮั่น ได้ทรงพระสุบิน (ฝัน) ว่า ได้ลอยขึ้นไปเที่ยวชมพระราชวังบนดวงจันทร์ และได้พบกับฉางเอ๋อ พระองค์ทรงเพลิดเพลินเป็นอย่างยิ่ง ทรงต้องการให้พระสุบินนั้นเป็นจริง จึงมีรับสั่งให้นางสนมแต่งตัวและร่ายรำเลียนแบบเทพธิดาฉางเอ๋อ จนแพร่หลายไปสู่ราษฎรและเป็นประเพณีมา ซึ่งในอดีตชาวจีนโดยเฉพาะหญิงสาว จะสวดขอพรจาก ฉางเอ๋อ เพื่อขอให้มีความเยาว์วัยและงดงามตลอดไป

อีกตำนานเกิดขึ้นเมื่อสมัยมองโกลเข้ามาปกครองแผ่นดินจีน ชาวมองโกลใช้แผนส่งทหารของตนไปประจำอยู่ในบ้านชาวจีนครอบครัวละ 1 คนเพื่อให้คนจีนเลี้ยงดู ต่อมา "หลิวปั๋วเวิน" นำกระดาษเขียนสอดไส้ในขนมใจความว่า ให้ทุกคนช่วยกันปฏิวัติทหารมองโกล และประกาศให้ชาวบ้านมารับขนมไปในคืนวันเพ็ญเดือน 8 และแผนการนี้ก็สำเร็จ สามารถโค่นล้มอำนาจการปกครองของมองโกลในที่สุด

เทศกาลแห่งความสุขที่เริ่มหมดเสน่ห์

ในเทศกาลนี้ ชาวจีนจะเฉลิมฉลองด้วยการไหว้ดวงจันทร์ในเวลากลางคืน ในสิงคโปร์ หรือเวียดนาม จะจัดเป็นประเพณีใหญ่ มีการเฉลิมฉลองด้วยโคมไฟสีแดง เป็นสีสันยามค่ำคืน บางแห่งอาจมีการเชิดมังกร ส่วนในประเทศไทย พื้นที่ที่มีการจัดเทศกาลนี้อย่างยิ่งใหญ่ และปฏิบัติตามประเพณีดั้งเดิม นั่นก็คือ ใน ต.ทุ่งยาว อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ถือว่าเป็นชุมชนเพียงแห่งเดียวของประเทศไทยในขณะนี้ ที่ยังคงยึดถือธรรมเนียมดังกล่าวนี้อย่างต่อเนื่อง

กิจกรรมเทศกาลไหว้พระจันทร์ จ.ตรัง ที่มา : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตรัง

กิจกรรมเทศกาลไหว้พระจันทร์ จ.ตรัง ที่มา : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตรัง

กิจกรรมเทศกาลไหว้พระจันทร์ จ.ตรัง ที่มา : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตรัง

อาจารย์ถาวร สิกขโกศล ผู้เชี่ยวชาญด้านประเพณีจีนกล่าวว่า เทศกาลไหว้พระจันทร์ในเมืองไทยปัจจุบันได้ซบเซาลงมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้หญิงที่มาจากเมืองจีนเหลือน้อยลง ค่านิยมเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม พระจันทร์ด้อยความสำคัญลง จึงมีคนไหว้เทศกาลนี้น้อย แม้แต่ในย่านสำเพ็งเยาวราช การไหว้ก็รวบรัดลง เหลือเฉพาะไหว้พระจันทร์ตอนค่ำ จากที่แต่เดิมนิยมไหว้กัน 3 เวลา (เช้า-สาย-กลางคืน)

"ไหว้พระจันทร์" ที่เมืองตรัง

ประเพณี "ไหว้พระจันทร์" หรือ "ตงชิวโจ่ย" เป็นงานเทศกาลอันเก่าแก่ที่ชาวทุ่งยาว อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ที่เป็นชาวไทยเชื้อสาย "จีนแต้จิ๋ว" ได้ถือปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนานกว่า 100 ปีแล้ว ชาวทุ่งยาวจะพร้อมใจกันจัดโต๊ะไหว้พระจันทร์ ไว้หน้าบ้านเรือนของตนเอง หรือเรียงรายตลอดสองข้างถนนรอบ "ตลาดเทศบาลตำบลทุ่งยาว" อันถือเป็นภาพที่สวยงามและมีมนต์เสน่ห์ยิ่งนัก จนถือได้ว่าเป็นชุมชนเพียงแห่งเดียวของประเทศไทยในขณะนี้ที่ยังคงยึดถือธรรมเนียมดังกล่าวนี้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ชาวทุ่งยาวอีกส่วนหนึ่งยังจะแต่งกายด้วย "ชุดกี่เผ้า" แบบโบราณ โดยเป็นชุดของสตรีแมนจู ในสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งขณะนั้นปกครองแบบ 8 แว่นแคว้น หรือเรียกกันว่า "ปาฉี" ส่วนเสื้อผ้าที่มีลักษณะเป็นชุดยาวตลอดลำตัวเรียกกันว่า "เผา" จึงเป็นที่มาของ "ชุดฉีเผา" หรือ "กี่เผ้า" อันสวยงาม ซึ่งก็ยิ่งทำให้บรรยากาศของงานเต็มไปด้วยกลิ่นอายแห่งวัฒนธรรมแบบจีนๆ มากยิ่งขึ้น

การประกวดในเทศกาลไหว้พระจันทร์ จ.ตรัง ที่มา : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตรัง

การประกวดในเทศกาลไหว้พระจันทร์ จ.ตรัง ที่มา : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตรัง

การประกวดในเทศกาลไหว้พระจันทร์ จ.ตรัง ที่มา : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตรัง

นอกจากนี้แล้ว ยังมีขนมชนิดหนึ่ง เรียกว่า "ขนมไหว้พระจันทร์" ที่รูปร่างกลมคล้ายขนมเค้ก ทำจากแป้ง มีไส้ต่าง ๆ เป็นธัญพืช ใช้เซ่นไหว้และรับประทานกันจนเป็นเอกลักษณ์สำหรับเทศกาลนี้

 ที่มา : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตรัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง