เดินทางกลับโลกแล้ว หินตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยเบนนู

Logo Thai PBS
เดินทางกลับโลกแล้ว หินตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยเบนนู
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ค่ำคืนของวันที่ 24 กันยายน 2023 ภารกิจ OSIRIS-REx ได้ปิดฉากเป็นที่เรียบร้อยหลังแคปซูลจากตัวยานเดินทางมาถึงโลกพร้อมกับหินตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยเบนนูกว่า 60 กรัมอย่างปลอดภัยก่อนนาซานำเข้าเก็บในห้องควบคุมสภาพแวดล้อมแบบพิเศษ

24 กันยายน 2023 เวลาประมาณสี่ทุ่ม นาซาถ่ายทอดสดการเก็บกู้แคปซูลจากยานอวกาศ OSIRIS-REx ยานอวกาศที่เดินทางออกจากโลกตั้งแต่ปี 2016 เพื่อทำภารกิจการเก็บตัวอย่างหิน (sample return mission) จากดาวเคราะห์น้อยเบนนู (Bennu) ที่นับว่าเป็นการเก็บตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อยครั้งแรกในประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศสหรัฐฯ โดยตัวแคปซูลสามารถลงจอดถึงพื้นได้อย่างปลอดภัยบริเวณทะเลทรายในรัฐยูทาห์ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเดินทางไปยังจุดลงจอดด้วยเฮลิคอปเตอร์ และเคลื่อนย้ายตัวแคปซูลด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปยังฐานเพื่อเตรียมนำส่งไปศึกษาถึงต้นกำเนิดของชีวิตในระบบสุริยะ

ภารกิจ OSIRIS-REx

ภารกิจ OSIRIS-REx

ภารกิจ OSIRIS-REx

ภารกิจ OSIRIS-REx เริ่มต้นการเดินทางในวันที่ 8 กันยายน 2016 ตัวยานถูกปล่อยด้วยจรวด Atlas-V ของบริษัท United Launch Alliance เพื่อเดินทางไปยังดาวเคราะห์น้อยเบนนู โดยในการเดินทางต้องอาศัยการบินกลับมาโฉบโลกถึงสองครั้งก่อนที่ตัวยานจะเดินทางถึงเป้าหมายในปี 2018 และเริ่มต้นภารกิจการเก็บตัวอย่างหิน

เก็บตัวอย่างหินของ OSIRIS-REx

เก็บตัวอย่างหินของ OSIRIS-REx

เก็บตัวอย่างหินของ OSIRIS-REx

การเก็บตัวอย่างหินของ OSIRIS-REx นั้นจัดว่าเป็นภารกิจการเก็บตัวอย่างหินจากอุกกาบาตหรือดาวเคราะห์น้อยครั้งแรกของสหรัฐฯ เพราะแม้ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ จะสามารถนำหินดวงจันทร์หลายสิบกิโลกรัมกลับสู่โลกได้ในโครงการอพอลโล (Apollo) ระหว่างปี 1969-1976 แต่สหรัฐฯ ยังไม่เคยมีภารกิจหุ่นยนต์เพื่อนำตัวอย่างหินจากอวกาศห้วงลึกกลับโลกมาก่อน จะมีก็เพียงแค่ญี่ปุ่นกับภารกิจฮายาบูสะ (Hayabusa) ที่ประสบความสำเร็จในการนำตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อยอิโตกาวะ (Itokawa) กลับสู่โลกในปี 2010

ภารกิจของ OSIRIS-REx คือการเก็บตัวอย่างหินมวล 60 กรัม บรรจุลงในแคปซูลขนาดกว้างประมาณ 0.8 เมตร โดย OSIRIS-REx ประสบความสำเร็จในการเก็บตัวอย่างใน วันที่ 20 ตุลาคม 2020 และเริ่มต้นการเดินทางกลับสู่โลกในปี 2021

ยานได้เริ่มต้นการเดินทางกลับโลก

ยานได้เริ่มต้นการเดินทางกลับโลก

ยานได้เริ่มต้นการเดินทางกลับโลก

ในเดือนพฤษภาคม 2021 ตัวยานได้เริ่มต้นการเดินทางกลับโลก และใช้เวลากว่า 2 ปีในการค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนวงโคจร ก่อนที่ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2023 นี้ตัวยานจะปลดตัวแคปซูลออกจากตัวยานหลัก เพื่อให้แคปซูลเดินทางเข้าสู่บรรยากาศของโลก ก่อนหน้านั้นนาซาได้มีการซักซ้อมแผนการเก็บกู้อยู่เป็นระยะ จนในที่สุด 24 กันยายน 2023 เวลาประมาณสี่ทุ่มตามเวลาประเทศไทย หินตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยเบนนูก็ลงจอดสัมผัสกับพื้นโลกในที่สุด หลังจากการเข้าสู่บรรยากาศโลกและชะลอความเร็วด้วยร่มชูชีพ

ในการเก็บกู้เจ้าหน้าที่ของนาซาได้ใช้เฮลิคอปเตอร์ทั้งสิ้น 4 ลำ โดย 1 ลำถูกใช้ในการส่งตัวแคปซูลหลังจากที่เดินทางกลับจากอวกาศไปยังศูนย์อวกาศจอห์นสันของนาซา (NASA’s Johnson Space Center) เพื่อเปิดแคปซูล

เตรียมเปิดแคปซูล

เตรียมเปิดแคปซูล

เตรียมเปิดแคปซูล

หลังจากที่แคปซูลเดินทางมาถึงฐานชั่วคราวของนาซาในรัฐยูทาห์ ไม่ห่างจากจุดเก็บกู้ เจ้าหน้าที่ได้นำเอาแคปซูลไปเก็บไว้ในห้องคลีนรูมพิเศษ เพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งต่อไปให้กับศูนย์อวกาศจอห์นสัน ซึ่งจะรับหน้าที่เปิดแคปซูลและดูแลรักษาตัวอย่างหินอันล้ำค่านี้

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการศึกษาดาวเคราะห์น้อยเบนนูจะนำไปสู่ความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของชีวิตบนโลก หรือชีวิตบนดาวเคราะห์ในระบบสุริยะว่ามีที่มาอย่างไร

และด้วยความสำเร็จในครั้งนี้ OSIRIS-REx ก็ได้ปิดฉากภารกิจลงในที่สุด พร้อมกับความน่าตื่นเต้นว่ามนุษยชาติจะได้ค้นพบอะไรจากการศึกษาตัวอย่างหินนี้

ที่มาภาพ: NASA
ที่มาข้อมูล: NASA


--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง