Harm Reduction โจทย์ใหม่ รัฐบาลเศรษฐา

สังคม
28 ก.ย. 66
13:40
606
Logo Thai PBS
Harm Reduction โจทย์ใหม่ รัฐบาลเศรษฐา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

“ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ ของประเทศไทย รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะตั้งเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ลดน้อยลงและหมดไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย รักษา ดูแล ส่งคืนกลับสู่อ้อมกอดของครอบครัว ให้มีอาชีพที่เหมาะสม การป้องกันที่ต้นน้ำไม่ให้ประชาชนเข้าไปเสพ จนถึงระยะสุดท้ายที่ยึดยาเสพติดมาแล้วนำมาเผาทำลาย รวมถึงการดำเนินการยึดทรัพย์ ปัญหายาเสพติดนั้นมีหลายมิติ หากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันจะเป็นจุดเริ่มต้นในการขจัดปัญหานี้ออกไปจากสังคมไทย”

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง

17 กันยายน 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายแก้ปัญหายาเสพติดของรัฐบาลครั้งแรก โดยเน้นนโยบายไปในทิศทาง “ทำให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วย” ถือเป็นแนวทางใหม่ที่เริ่มใช้อย่างเป็นรูปธรรม หลังประมวลกฎหมายยาเสพติด มีผลบังคับใช้แทน พ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับเดิม มาตั้งแต่ 9 ธันวาคม 2564

สาระสำคัญในประมวลกฎหมายยาเสพติด ปี 2564 เปลี่ยนแปลงจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดเดิม ค่อนข้างมาก ให้ “ผู้เสพเป็นผู้ป่วย” ไม่ต้องถูกจับกุมดำเนินคดี แต่ต้องถูกส่งไปบำบัดรักษา ฟื้นฟู เยียวยาให้กลับคืนสู่สังคมได้แทน

ส่วนการจัดการกับขบวนการค้ายาเสพติด ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน จากเคยกำหนดว่า “ใครเป็นผู้ค้า” ให้ดูจากปริมาณยาขั้นต่ำที่ครอบครองไว้ เป็นการดูจากพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการค้ายาเสพติด โดยมีเส้นทางทางการเงินเป็นหลักฐานที่สำคัญ

อีกประเด็นที่สำคัญคือ ในประมวลกฎหมายยาเสพติด ปี 2564 ยังยกเลิกการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำกับผู้ต้องหาคดียาเสพติดที่มีความผิดไม่ร้ายแรง คือ ไม่ใช่ผู้ค้า ไม่ใช่ผู้ผลิต หรือไม่ใช่ผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักร จะถือเป็นกลุ่มที่ผู้พิพากษา สามารถใช้ดุลพินิจเพื่อส่งผู้ต้องหาเหล่านี้ไปสู่กระบวนการบำบัดได้เลย จากเดิมที่เคยมีโทษขั้นต่ำ ทำให้ผู้พิพากษาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากส่งไปจำคุก

การเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายดังกล่าว เกิดจากความต้องการแก้ไขปัญหาเดิมในตลอดหลายปี คือ ไทยมีผู้ต้องขังคดียาเสพติดอยู่ในเรือนจำสูงถึงร้อยละ 75-80 ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่กลับเป็นผู้เสพยาหรือผู้ค้ารายย่อยที่ค้ายาเสพติดเพื่อหาเงินมาเสพเท่านั้น

ในขณะที่ “ผู้ค้ารายใหญ่ตัวจริง” กลับไม่ถูกจับกุม และการส่งผู้เสพไปอยู่ในเรือนจำ ยังทำให้ขบวนการค้ายาเสพติด สามารถขยายเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น จากการชักชวนผู้เสพที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำให้มาร่วมเป็นสมาชิกของขบวนการ เพราะแม้ว่าคนเหล่านี้จะพ้นโทษออกไปแล้ว ก็มักจะหาอาชีพใหม่ทำไม่ได้ ต้องกลับมากระทำผิดซ้ำ และวนเข้าสู่เรือนจำอีก ทำให้มีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของยาเสพติดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

หากตีความจากคำแถลงนโยบายการแก้ปัญหายาเสพติดของนายกรัฐมนตรี จะเห็นว่า รัฐบาลจะเน้นการจับกุมเฉพาะกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ ใช้วิธีการตรวจสอบเส้นทาง การเงินเพื่อยึดทรัพย์เป็นแนวทางสำคัญ

ส่วนผู้เสพหรือผู้ค้ารายย่อย จะเน้นการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู ให้กลับคืนสู่สังคม ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายองค์กรด้านยาเสพติดในไทย ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหา คือ กลไกในการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดในไทย ยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก

ลดอันตรายใช้ยาเสพติด "Harm reduction

ดังนั้นนักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนบางส่วน จึงพยายามดำเนินการแนวทางใหม่ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศ เรียกว่า การลดอันตรายจากการใช้ยา หรือ Harm Reduction

ข้อเท็จจริงแนวคิดการลดอันตราย หรือ Harm reduction เริ่มต้นปี 2513 และยอมรับกันในวงกว้างมากขึ้นในปี 2523 มีเป้าหมายหลัก คือ ป้องกันหรือลดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ด้านสุขภาพอันเนื่องมาจากพฤติกรรมการใช้ยาเสพติด มากกว่าการมุ่งเน้นเพียงการป้องกันการเข้าไปใช้ยาเสพติด ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยหลายประการทั้งปัจจัยส่วนตัว และปัจจัยแวดล้อมจากภายนอก

หรืออาจกล่าวได้ว่าแนวคิดการลดอันตรายมุ่งเน้นการป้องกันอันตรายผู้ที่ใช้ยาเสพติดและการคำนึงถึงสิทธิพื้นฐานเป็นเป้าหมายสำคัญเป็นการแก้ปัญหาสุขภาพเชิงบวก โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับเป้าหมายให้ผู้ป่วยหยุดให้ยาเสพติดมากนัก

เป็นที่ยอมรับว่า แนวทางที่ทำให้การลดอันตรายสมบูรณ์ คือ “การไม่มีอันตราย” (harmless) เพื่อแนวทางป้องกัน หรือลดการใช้ยาเสพติดในทุกระดับ และพบว่า การลดอันตรายเป็นประเด็นที่เริ่มถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวางเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV ในกลุ่มของผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีการฉีด และพบว่า ประเทศในยุโรปหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ได้นำแนวคิดการลดอันตรายไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

ทำสังคมปลอดภัย ก่อน “สังคมปลอดยา”

นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การเสนอนโยบายเร่งด่วน สังคม “ปลอดภัย” จากยาเสพติด ต้องมาก่อน สังคม “ปลอด” ยาเสพติด และแนวทางกำหนดให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วย ต้องได้รับการบำบัด ฟื้นฟู ซึ่งรัฐบาลเศรษฐาประกาศ ออกมา ถือว่าอยู่ในทิศทางที่ดี แต่รัฐบาลเองก็ต้องระวังอย่าให้คำว่า ผู้เสพเป็นผู้ป่วย เป็นเพียงแค่คำขวัญที่มักจะตามมาด้วยคำว่า “สังคมสีขาว” เหมือนที่ผ่านๆมา ทั้งที่มันเป็นไปไม่ได้จริง

และย้ำว่า กรอบแนวคิดที่จะเน้นการปราบปรามไปที่กลุ่มพ่อค้ารายใหญ่ ทั้งการตรวจ สอบเส้นทางทางการเงินและยึดทรัพย์ ส่วนผู้เสพหรือผู้ค้ารายย่อย จะถือเป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟู แม้จะเป็นแนวคิดที่ถูกต้องในระยะยาว แต่ยังมีเป้าหมายระยะสั้นที่รัฐบาลต้องทำก่อน นั่นคือ แนวทาง Harm Reduction

Harm Reduction หลักคิด คือ การทำให้ทุกคนเลิกติดยาเสพติดได้เป็นเรื่องยาก ต้องใช้เวลานาน จึงต้องมีเป้าหมายระยะยาว แต่ปัญหาระยะสั้น ที่ต้องเร่งแก้ไข คือ ทำอย่างไรให้ผู้ที่ติดยาเสพติด ไม่ได้รับอันตรายจากการเสพ

และเมื่อผู้ติดยาปลอดภัยจากการใช้ยาฯ สังคมรอบข้างก็จะปลอดภัยมากขึ้นไปด้วย และเขายังสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้เหมือนคนทั่วไป ยังไปทำงานได้ มีรายได้จากการประกอบอาชีพสุจริต ซึ่งจะทำให้สามารถลดการใช้ยาไปจนถึงการเลิกยาได้ในที่สุด

นักวิชาการหนุนใช้สารทดแทนช่วยเลิกเสพ

สำหรับแนวทาง Harm Reduction เริ่มตั้งแต่การเข้าไปสำรวจหาผู้ใช้ยาเสพติด เพื่อนำตัวเข้าสู่โครงการด้วยการตรวจหาโรคต่างๆ ที่อาจเกิดจากการเสพยา เช่น ตรวจหาเชื้อ HIV ไวรัสตับอักเสบซี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ และทำให้ปลอดภัยมากขึ้นด้วยการ เข้าโครงการรับเข็มฉีดยาใหม่ รับถุงยางอนามัย เพื่อลดการแพร่เชื้อ ไปจนถึงการนำผู้เสพเข้ามาอยู่ในการดูแลของแพทย์ ให้ได้รับสารทดแทนที่เรียกว่า “เมทาโดน” อย่างต่อเนื่อง

ในระหว่างที่ยังไม่สามารถเลิกใช้ยาได้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้โดยไม่เป็นอันตราย โดยแพทย์จะตรวจวินิจฉัยหาความเหมาะสมในการรับเมทาโดนของแต่ละคน และค่อยๆ ลดปริมาณลงจนเลิกยาได้ในที่สุด แต่ในปัจจุบันยังเป็นโครงการย่อยๆ ที่ทำขึ้นในลักษณะ SANDBOX ตามชุมชนกลุ่มเสี่ยงต่างๆเท่านั้น

ผอ.ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำทันทีเลย คือ ลดอันตราย ลดความสูญเสียที่เกิดจากยาเสพติด ตัวผู้เสพ และสังคม แต่ทำไม่ได้ เพราะสังคมไทยมีอคติต่อผู้เสพยาค่อนข้างมาก เราจึงเน้นไปที่แค่การปราบปราม และการบอกให้เขาเลิกเสพให้ได้ทันที ต้องเปลี่ยนจาก ดำ เป็น ขาว ในทันที โดยไม่ยอมรับความจริงว่า มันเป็นไปไม่ได้ หรือถ้าจะทำให้ได้ต้องตั้งเป้าหมายระยะยาว

ความแตกต่างระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่นๆที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะหลายประเทศในยุโรปอย่างโปรตุเกสและเยอรมนี ใช้แนวทางการลดอันตรายจากยาเสพติดเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำก่อนการทำให้สังคมปลอดยาเสพติด

แนวทางของโปรตุเกส ถือเป็นโมเดลที่น่าสนใจ เพราะก่อนหน้านี้เขาก็มีสภาพปัญหาที่ใกล้เคียงกับไทย ต่อมาในปี 2553 มีการแก้ไขกฎหมายยาเสพติด โดยไม่เอาความผิดทางอาญากับผู้เสพ และหันมาใช้มาตรการทางสาธารณสุขอย่างจริงจังเพื่อทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับอันตรายจากการใช้ยาเสพติดส่งผลให้ปริมาณการใช้ยาเสพติดลดลงอย่างต่อเนื่อง จนสามารถบอกได้ว่าจะไม่มีผู้เสียชีวิตจากยาเสพติด ซึ่งจริงๆแล้ว รัฐบาลไทย สามารถนำโมเดลนี้มาใช้ได้เลย เพราะหน่วยงานไทยทั้ง ป.ป.ส.และกระทรวงสาธารณสุข ก็เคยไปศึกษามาแล้ว

ขณะที่เยอรมนีก็ใช้กระบวนการดังกล่าว แก้ปัญหานี้เช่นกัน และไทยกับเยอรมนี มีข้อตกลงความร่วมมือทวิภาคีที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหายาเสพติด หากรัฐบาลไทยต้องการแก้ปัญหานี้จริงๆ ก็ควรขอความช่วยเหลือและทำงานร่วมกับเขา

นพ.อภินันท์ ระบุด้วยว่า สิ่งที่รัฐบาลเศรษฐาต้องเร่งค้นหาคือ หลักฐาน ข้อมูลทางวิชาการต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ระหว่างแนวทางการปราบปรามและส่งไปบังคับบำบัดแบบเดิม กับแนวทาง Harm Reduction ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ป.ป.ส.และเครือข่ายผู้ใช้ยา องค์กรภาคประชาสังคม และสหประชา ชาติ (UN) ได้ยอมปรับเปลี่ยนมาในแนวทาง Harm Reduction ก็มีความพร้อมจะสนับสนุนรัฐบาลไทยอยู่แล้ว 

นอกจากนี้ โครงการยุติเอดส์ของกรมควบคุมโรคได้เคยใช้แนวทางดังกล่าวจนประสบความสำเร็จ และเป็นตัวอย่างที่ดีที่รัฐบาลไทยจะนำมาปรับใช้กับการแก้ปัญหายาเสพติดได้

ความลำบากของกลุ่มนักวิชาการและองค์กรเอกชนที่ทำ Harm Reduction มาตลอด 20 ปี เหมือนกำลังพยา ยามปลูกพืชเจริญเติบโต อยู่บนผืนแผ่นดินที่แห้งแล้ง ไม่มีน้ำ ไม่มีปุ๋ย แต่ถึงวันนี้ เริ่มมีคนเห็น และเข้ามาทำเพิ่มขึ้น และจะดีขึ้นได้ ถ้ารัฐบาลจะหันมากำหนดนโยบายยาเสพติด จากการใช้ข้อมูลที่มีอยู่แล้วอย่างเข้มข้น 

รายงานโดย :สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง