ก่อน 60! ข้าราชการไทยเกษียณอายุที่ 55 ปีมาก่อน

ไลฟ์สไตล์
29 ก.ย. 66
13:36
41,367
Logo Thai PBS
ก่อน 60! ข้าราชการไทยเกษียณอายุที่ 55 ปีมาก่อน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ศุกร์ที่ 29 ก.ย.2566" วันสุดท้ายของปีงบประมาณ 2566 หรืออีกนัยหนึ่งคือวันทำงานวันสุดท้ายของข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ที่อายุเข้าหลัก 6 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ที่เริ่มตรากฎหมายฉบับนี้ในยุคอดีตนายกฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม

ข้าราชการไทยเคยเกษียณที่อายุ 55 ปี 

ในหนังสือ รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2513) โดย ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ อดีตเลขาธิการรัฐสภา ได้บันทึกไว้ว่า 

แก้อายุข้าราชการที่ครบเกษียณอายุจาก 55 เป็น 60

เดิมข้าราชการพลเรือนและทหาร ตามพระราชบัญญัติบําเหน็จบํานาญข้าราชการ ได้กําหนดเหตุออกรับบําเหน็จบํานาญเพราะสูงอายุไว้ไม่เกินอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และผู้บังคับบัญชาอาจพิจารณาอนุญาตให้ต่ออายุราชการได้อีกคราวละ 1 ปี ไม่เกินอายุ 60 ปีบริบูรณ์

ครั้นเมื่อ พ.ศ.2494 รัฐบาลได้เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติบําเหน็จบํานาญข้าราชการใหม่ แก้เหตุออกเพราะสูงอายุให้เป็นอายุ 60 ปีบริบูรณ์ และอาจต่ออายุให้อีกคราวละ 1 ปี แต่ไม่เกินอายุ 65 ปีบริบูรณ์ โดยพระราชบัญญัติบําเหน็จบํานาญข้าราชการ พ.ศ.2494

ตีตกขยายอายุเกษียณที่ 65 ปี

เดือน มี.ค. 2559 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เคยเสนอ ครม. ขออนุมัติให้แก้ไข พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 โดยเสนอให้เพิ่มอายุการเกษียณราชการจาก 60 ปี เป็น 65 ปี เนื่องจากไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ ขณะที่อัตราการเกิดใหม่ของคนน้อย ทำให้คนในวัยทำงานไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ แต่ไม่ผ่านมติ ครม. 

จึงทำให้ข้าราชการไทยยังต้องเกษียณอายุที่ 60 ปี จนกระทั่งปัจจุบันนี้

แต่ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบ 60 ปี บางตำแหน่งสามารถรับราชการต่อไปได้อีกไม่เกิน 10 ปี ได้แก่ ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญขึ้นไป และประเภททั่วไประดับอาวุโสขึ้นไป โดยให้คณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวง (อ.ก.พ. กระทรวง) เป็นผู้พิจารณาข้าราชการตามเหตุผลความจำเป็นใน 8 สายงาน ได้แก่

  1. นักกฎหมายกฤษฎีกา
  2. แพทย์
  3. ทันตแพทย์
  4. นายสัตวแพทย์
  5. ปฏิบัติงานช่างศิลปิน
  6. คีตศิลป์
  7. ดุริยางคศิลป์
  8. นาฏศิลป์
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

แม้ยังไม่มีมาตรการขยายกรอบอายุที่จะเกษียณ แต่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมกำหนดให้สำนักงาน ก.พ. ศึกษาประเด็นเกี่ยวข้องกับการขยายอายุเกษียณราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี โดยกำหนดเป้าหมายให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เกษียณอายุราชการที่ 63 ปี ในปี พ.ศ. 2567 ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดได้แก่

  1. การศึกษาเพื่อกำหนดอายุที่ควรเกษียณจากราชการ (Retire from service)
  2. อายุที่ควรเกษียณจากงาน (Retire from job)
  3. การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  4. การประมาณการค่าใช้จ่ายในการขยายอายุเกษียณ
  5. การพัฒนาศักยภาพของข้าราชการ
  6. การพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อรองรับการขยายอายุเกษียณ 
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

เปิดข้อมูลอายุเกษียณทั่วโลก

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Oecd) ระบุอายุการเกษียณทั่วโลกมีค่าอายุเฉลี่ยที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัยของแต่ละประเทศ เช่น

  • สหรัฐอเมริกา 66 ปี
  • เยอรมัน 65 ปี
  • ฝรั่งเศส 62 ปี
  • ญี่ปุ่น 62-66 ปี (แล้วแต่บริษัท)

กรีซ เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ อิสราเอล และ อิตาลี เป็นประเทศที่มีอายุเกษียณมากที่สุดในโลกอยู่ที่ 67 ปี
ขณะที่ ศรีลังกา มีอายุเกษียณที่น้อยที่สุด 55 ปี ตามด้วยอินโดนีเซีย 56 ปี 
ส่วนค่าเฉลี่ยของโลกมีอายุเกษียณอย่างเป็นทางการอยู่ที่ประมาณช่วงอายุ 62-65 ปี

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

จากสถานการณ์เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยทั่วโลก คนมีอายุยืนยาวขึ้น ตายช้าลง เพราะความเจริญทางสาธารณสุข ทำให้หลายประเทศทั่วโลกเร่งพิจารณาแนวคิดขยายกรอบอายุเกษียณให้ยาวขึ้น แต่ไม่ได้เพื่อป้องการขาดแคลนแรงงาน แต่เป็นการรักษาแรงงานในระบบให้ใกล้เคียงเพราะ อัตราการเกิดลดลง เนื่องจากการคุมกำเนิด และหนุ่มสาวไม่มีความคิดที่จะแต่งงาน หรือค่านิยมมีลูกคนเดียวที่มากขึ้น 

กันยา-อาลัย

ในช่วงที่ เกษม โรจนศักดิ์ ผู้บริหารระดับสูงของการไฟฟ้าใกล้ถึงเวลาเกษียณอายุราชการ ท่านได้แต่งเพลงอำลา-อาลัยให้เพื่อน ในเริ่มแรกใช้ชื่อ "เกษียณ-เกษม" แต่เอาไปเอามาเปลี่ยนเป็น "กันยา-อาลัย" 

เมื่อสิ้นกันยาของทุกๆ ปี เป็นประเพณีที่จะต้องจากกัน

เกษียณอายุคือแนวคอยขีดคอยคั่น ให้พี่น้องเรานั้นต้องจับมือกล่าวอำลา

ผองเราจะไม่เมินและหันหลังให้ มิตรภาพจากใจยังมั่นคงหนักหนา

รำลึกถึงกันอยู่ทุกราตรีทิวา น้ำใจไมตรีนั้นหนาคู่ดินคู่ฟ้านิรันดร

รำลึกถึงกันอยู่ทุกราตรีทิวา น้ำใจไมตรีนั้นหนาคู่ดินคู่ฟ้านิรันดร

กันยา อาลัย อาจถูกใช้เป็นเพลงในการอำลาชีวิตทำงานในวัยปัจฉิมยาม แต่วงล้อชีวิตไม่ได้สิ้นสุดแค่นี้ ยังหมายถึงการเริ่มต้นใหม่ ชีวิตหลังเกษียณคือวัยแห่งการตกผลึก ที่ยังมีอะไรให้ทำอีกมาก

ที่มา : หอสมุดรัฐสภา, TDRI, Nikkei asia 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง