"คณะกรรมการอิสระนาซา" ปล่อยรายงานแสดงความกังวลต่อโครงการ Mars Sample Return

Logo Thai PBS
"คณะกรรมการอิสระนาซา" ปล่อยรายงานแสดงความกังวลต่อโครงการ Mars Sample Return
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คณะกรรมการอิสระแสดงความกังวลต่อแผนการดำเนินการภารกิจการนำหินตัวอย่างดาวอังคารกลับสู่โลก จากความพร้อมด้านเทคโนโลยี

โครงการ Mars Sample Return (MSR) เป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์การนาซา (NASA) และองค์การสำรวจอวกาศยุโรป (ESA) เพื่อนำตัวอย่างหินและดินจากดาวอังคารกลับมาศึกษายังโลก ประกอบไปด้วยส่วนภารกิจย่อยเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโรเวอร์เพอร์เซเวียแรนซ์ ที่ปัจจุบันประจำตำแหน่งอยู่แล้ว ยานลงจอดสำหรับการรวบรวมตัวอย่าง จรวดโคจรดาวอังคาร และยานกลับโลก เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในภารกิจที่ซับซ้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ในเดือนพฤษภาคม 2023 นาซาได้ตั้งคณะกรรมการอิสระ (Independent Review Board) เพื่อชี้แนะและให้คำแนะนำแก่นาซาต่อแผนและการดำเนินภารกิจ MSR โดยนาซาจะเป็นผู้ออกแบบแผนภารกิจให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและชี้แนะ ซึ่งคณะกรรมการอิสระมีสิทธิถามคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ภารกิจต่อทีมภารกิจของนาซาเพื่อปรับปรุงแผนภารกิจ

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2023 คณะกรรมการอิสระได้ปล่อยรายงานภารกิจชุดที่ 2 ออกมา ซึ่งเป็นรายงานชุดหลังจากที่นาซาได้ปรับปรุงภาพรวมของภารกิจหลังจากรายงานชุดที่ 1 เช่น การเปลี่ยนจากมีโรเวอร์ตัวที่สองสำหรับการเก็บหลอดตัวอย่างโดยเฉพาะไปเป็นการให้โรเวอร์เพอร์เซเวียแรนซ์นำหลอดตัวอย่างมาส่ง เพื่อลดความซับซ้อนของภารกิจ

ในรายงานชุดที่ 2 คณะกรรมการอิสระได้แสดงความกังวลต่อแผนการดำเนินการภารกิจ MSR ในด้านของงบประมาณ ข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยี ทรัพยากรที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงโครงสร้างการบริหารภารกิจ ซึ่งถือว่าร้ายแรงต่อความเป็นไปได้ของภารกิจอย่างมีนัยสำคัญ

ภายในรายงาน คณะกรรมการอิสระได้วิจารณ์ว่าทีมภารกิจของ MSR นั้น “มีแผนงบประมาณที่ไม่น่าจะเป็นไปได้” และ “มีกรอบเวลาที่เร็วเกินจริงไป” นอกจากนี้ คณะกรรมการอิสระแสดงความเห็นว่าการที่ยังไม่มีภารกิจย่อยอันใดอันหนึ่งลงตัว ทำให้การพัฒนาส่วนประกอบของภารกิจ MSR โดยรวมไม่สามารถเกิดขึ้นแบบคู่ขนานได้ ซึ่งจะยิ่งทำให้กรอบเวลานั้นช้าลงไปอีก และเสี่ยงต่อการล่าช้า

จากความกังวลเหล่านี้ คณะกรรมการอิสระได้ออกคำแนะนำภายในรายงานกว่า 59 ข้อ ซึ่งคำแนะนำเหล่านี้เล็งไปที่การปรับปรุงโครงสร้างภารกิจใหม่ให้ชัดเจน ปรับแผนงบประมาณใหม่ และวางโครงสร้างความร่วมมือระหว่างภารกิจย่อยให้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการอิสระเห็นด้วยกับทีมภารกิจ MSR ว่าการนำตัวอย่างดาวอังคารกลับโลกนั้นมีคุณค่าทางด้านวิทยาศาสตร์สูง ดังนั้นนอกจากคำแนะนำที่เล็งไปทางด้านการดำเนินภารกิจแล้ว คณะกรรมการอิสระยังได้ออกคำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับการเก็บตัวอย่างอีกด้วย รวมถึงพื้นที่ที่ควรส่งตัวอย่างกลับโลกเพื่อนำมาศึกษาต่อ ซึ่งจะให้คุณค่าทางด้านวิทยาศาสตร์สูงสุดด้วยทรัพยากรที่มีจำกัด

จึงจะต้องรอดูต่อไปว่าทีม MSR จะตอบโต้หรือยอมรับคำแนะนำของคณะกรรมการอิสระอย่างไร และแผนการดำเนินภารกิจจะเปลี่ยนไปอย่างไร

ที่มาภาพ: NASA
ที่มาข้อมูล: NASA

--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง