"หมอชลน่าน" ยังไม่รับลูกขยายเปิดผับ-บาร์-ขอชั่งน้ำหนักรอบด้าน

สังคม
6 ต.ค. 66
13:56
371
Logo Thai PBS
"หมอชลน่าน" ยังไม่รับลูกขยายเปิดผับ-บาร์-ขอชั่งน้ำหนักรอบด้าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"หมอชลน่าน" สงวนท่าที ยังไม่ขานรับเปิดผับ-บาร์ถึงตี 4 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว-เศรษฐกิจ ห่วงมิติสุขภาพ ด้านมูลนิธิเมาไม่ขับ ชี้นโยบายนี้เอื้อนายทุน ตั้งคำถามกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือ

วันนี้ (6 ต.ค.2566) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีฟื้นนโยบายขยายเวลาเปิดผับ-บาร์ถึง ตี 4 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจว่า เรื่องนี้ยังต้องมีหารือในรายละเอียด เชื่อว่าหากดำเนินการจริงก็จะจัดทำในรูปแบบของโซนนิ่ง และต้องดูว่าจะขยายเวลาถึงกี่โมง

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในฐานะที่มีหน้าที่รับผิดชอบมิติสุขภาพ ห่วงเยาวชน และอุบัติเหตุ หากเมาหัวแตก หรือบาดเจ็บขึ้นมาก็น่าเป็นห่วง แต่หากควบคุมให้รัดกุมได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวได้ก็ยินดี ทั้งนี้ต้องชั่งน้ำหนักดู ครอบคลุม เรื่องอายุของผู้มาใช้บริการ สถานที่ที่เปิดบริการ

เปิดกินเหล้ากระตุ้นเศรษฐกิจจริงหรือ

ด้าน นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการขยายเวลาเปิดผับ-บาร์ เคยมีมาแล้วสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ก็ต้องถอนไป อยากถามว่าใครเป็นคนคิดวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้ ถือว่าเป็นคนช่างคิด แล้วขอถามกลับว่ามันกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่

ทั้งนี้ ถ้าจริงก็เปิดเลย 24 ชม. ถามว่านักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย ตั้งใจมากินเหล้าอย่างเดียวหรือ แล้วเหล้าไทยดีกว่าตรงไหน อยากให้มีการศึกษาให้แน่ชัดว่าสิ่งใดจะเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว

นพ.แท้จริง กล่าวว่า อย่าคิดแค่เปิดอย่างเดียว ต้องมีมาตรการควบคุม ต้องมีมาตรการมารองรับ 2 ด้านเสมอ ทั้งการตรวจวัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน และต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น จำคุก ไม่ใช่รอลงอาญา เพราะไม่เช่นนั้นจะซ้ำรอยยิงที่พารากอน

หากนักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยแล้ว แล้วเกิดถูกคนเมาที่ไหนขับรถชนตายขึ้นมาจะทำอย่างไร ใครจะรับผิดชอบ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ออกมานี้ เป็นการเอื้อนายทุน ไม่ได้เอื้อสังคม 

นพ.แท้จริง กล่าวอีกว่า การดื่มเหล้ามี 2 ด้าน กินพอดีมันก็ดี แต่กินแบบหามรุ่งหามค่ำ กินแล้วขับไม่ดี เรื่องนี้สังคมต้องส่งเสียง หากสังคมประชาชนไม่เข้มแข็งไม่มีจุดยืนก็จะกลายเป็นปัญหาในอนาคตได้ ทุกอย่างต้องสมดุล

จากการทำงานเมาแล้วขับ ต้องยอมรับสังคมมีความเข้าใจมากขึ้น คนที่มีบทบาททางสังคม หากเมาแล้วขับสังคม ก็มีบทลงโทษ ไม่ว่าจะเป็น ดารา ผู้พิพากษา แต่รูปแบบของปัญหาได้เปลี่ยนไป ไม่ใช่เมาแล้วขับ มีเรื่องของความเร็ว การใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่ ขับขี่รถย้อนศร การรณรงค์เรื่องนี้ต้องใช้เวลา เพราะไม่เหมือนโควิด-19 ที่มาตรการรณรงค์ชัดเจน สวมหน้ากาก ระยะห่าง และล้างมือ แต่เรื่องการขับขี่ มีหลายมิติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง