ย้อนเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง ในเดือน "ตุลาคม"

การเมือง
9 ต.ค. 66
13:12
6,488
Logo Thai PBS
ย้อนเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง ในเดือน "ตุลาคม"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เดือน "ตุลาคม" ถือเป็นเดือนที่มีเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเกิดขึ้น เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 รวมถึงเหตุการณ์ 11 ตุลาคม 2476 เกิดเหตุการณ์ กบฏบวรเดช

50 ปี : เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

เหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 วันประชาธิปไตย หรือ วันมหาวิปโยค เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ วันที่มีการปราบปรามประชาชนที่ออกมาประท้วงรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร อย่างรุนแรง

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มาจากนักศึกษาออกมาเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ เนื่องจากถูกปกครองในระบอบเผด็จการทหารมาเป็นเวลาถึง 15 ปี นับตั้งแต่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารในปี 2501 แต่รัฐบาลกลับจับกุม 13 คน ที่เดินแจกใบปลิวนำไปสู่การลุกฮือครั้งใหญ่ 

เหตุการณ์ที่ควรจะจบลงด้วยความสงบกลับถูกแทนที่ด้วยความรุนแรง ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เจ้าหน้าที่รัฐได้ทำการสกัดกั้นผู้ชุมนุมจนนำไปสู่การปะทะและจบลงด้วยการสูญเสีย ที่มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 คน และบาดเจ็บอย่างน้อย 857 คน 

การปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ชุมนุมได้โหมไฟให้เกิดการรวมตัวชุมนุมประท้วงอีกครั้ง จนท้ายที่สุด ก็มีการประกาศผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยว่า จอมพล ถนอม กิตติขจร ขอลาออกจากตำแหน่งแล้ว และพระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี 

ท้ายที่สุด "จอมพล ถนอม กิตติขจร" เดินทางลี้ภัยออกนอกประเทศ เหตุการณ์จึงค่อยสงบลง และทำให้เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ถูกจารึกในฐานะ "ชัยชนะของประชาชน"

เหตุการณ์ 14 ตุลา ก็ได้รับการเล่าขานสืบต่อกันมาปีแล้วปีเล่า มีการขนานนามเหตุการณ์นี้ต่างๆ นานา เช่น วันมหาวิปโยค วันมหาปิติ การปฏิวัติของนักศึกษา

เหตุการณ์จบลงด้วยชัยชนะ ของนักศึกษาประชาชน ประชาธิปไตยเบ่งบานแต่อายุสั้นแค่ 3 ปี ก็ต้องปิดฉากลงด้วยรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519

47 ปี : เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 

วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นวันที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ ได้เกิดกรณีนองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย โดยตำรวจปิดทางเข้าออกมหาวิทยาลัยไว้ทุกด้านตั้งแต่เวลาเช้ามืด ล้อมปราบผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก่อนเกิดการยิงปะทะสองฝ่าย ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 45 คน แบ่งเป็น นักศึกษาและประชาชน 40 คน และเจ้าหน้าที่รัฐ 5 คน ผู้ได้รับบาดเจ็บ 145 คน ผู้ถูกจับกุม 3,094 คน โดยมีอยู่ 18 รายที่ตกเป็นจำเลย ตามการรวบรวมข้อมูลของโครงการ "บันทึก 6 ตุลา"

หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มีการตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นักศึกษาจำนวนมากหนีเข้าป่าไปจับอาวุธสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยความขัดแย้งทวีความรุนแรง 

จนนำมาสู่การออก คำสั่ง 66/23 ในสมัยที่รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ช่วยยุติความขัดแย้งที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นชนวนเหตุสำคัญ และทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ล่มสลายไปในที่สุด จนสุดท้ายกลายเป็นผลงานอันโดดเด่นของ พล.อ.เปรม

ปีนี้ มีการจัดรำลึก 47 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เช่นทุกปี โดยมีตัวแทนจากภาคการเมือง ประชาชน มูลนิธิ และนักศึกษา ร่วมทำบุญตักบาตร วางพวงมาลา ช่อดอกไม้ รำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว 

อ่านข่าว : โซเชียลติดแฮชแท็ก #6ตุลา รำลึกครบ 46 ปี เหตุการณ์ 6 ต.ค.2519

90 ปี : เหตุการณ์ "กบฏบวรเดช" 11 ตุลาคม 2476 

เหตุการณ์ "กบฎบวชเดช" เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2476 โดยนิตยสารศิลปวัฒนธรรม อธิบายถึงความเป็นมาของ "กบฏบวรเดช" ว่า นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม พร้อมกลุ่มทหารเข้ายึดบริเวณดอนเมือง บีบบังคับให้รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา ปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง เมื่อเจรจาไม่เป็นผลก็ปะทะกันต่อเนื่องจนทำให้เกิดความสูญเสีย

กลุ่มผู้ก่อการนี้เรียกตัวเองว่า "คณะกู้บ้านเมือง" นำทหารจำนวนมากจากหัวเมือง ทั้งอุบลราชธานี นครราชสีมา สระบุรี อยุธยา นครสวรรค์ พิษณุโลก ปราจีนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี เข้ามายึดพื้นที่ดอนเมือง จับกุมคนฝ่ายรัฐเป็นตัวประกันเพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาลาออกหรือปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของคณะกู้บ้านเมืองโดยรวม 6 ข้อ

การเจรจาของทั้ง 2 ฝ่ายไม่เป็นผล จากนั้นจึงเกิดปะทะกันที่บางเขนตั้งแต่ 12-16 ต.ค. ผลสุดท้ายคณะกู้บ้านเมืองพ่ายแพ้ พระองค์เจ้าบวรเดชทรงลี้ภัยไปอินโดจีน ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลสูญเสียทหารและตำรวจรวม 17 นาย

หลังเหตุการณ์สงบรัฐบาลนำศพผู้เสียชีวิตมาทำบุญอุทิศส่วนกุศล ณ วัดราชาธิวาส และจัดพิธีฌาปนกิจบนท้องสนามหลวงอย่างสมเกียรติในฐานะวีรชนของชาติ ในวันที่ 18 ก.พ. 2477 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีจัดงานศพของสามัญชนบนท้องสนามหลวง

26 ปี : 11 ตุลาคม 2540 ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540

เป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 16 ของประเทศไทย และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ที่ยกร่างขึ้นโดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ 

การประกาศใช้อยู่ในสมัยของรัฐบาลที่มี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา เป็นประธานรัฐสภา โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ชื่อว่าเป็น  "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" เนื่องจากเป็นฉบับแรกที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างมากที่สุด และมีการเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนมากกว่าที่เคยมีมาก่อน

ที่มาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 นี้มาจากการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองหลังจากที่ใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 ที่มองว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากคณะทหารที่ยึดอำนาจ (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ) รสช.

แต่ในที่สุด วันที่ 19 ก.ย.2549 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ถูกฉีกหลังจากที่ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เข้าทำรัฐประหารยึดอำนาจจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองอื่น ๆ 

17 ปี : 3 ตุลาคม 2549 "นวมทอง" ขับแท็กซี่ชนรถถัง 

นายนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่ พยายามเรียกร้องต่อต้านรัฐประหาร ขับรถแท็กซี่พุ่งชนรถถังที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2549 ก่อนจะผูกคอตัวเองเสียชีวิต เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2549 พร้อมกับจดหมายลา ระบุว่า "ต้องการลบคำสบประมาทของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค. ที่ว่า "ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้"

อ่านข่าว : จัดกิจกรรม 14 ปี "นวมทอง ไพรวัลย์" ประท้วงรัฐประหาร

15 ปี : 7 ตุลาคม 2551 การสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ

เหตุการณ์การสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 หรือ "ตุลาทมิฬ" ที่บริเวณหน้ารัฐสภา นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่อีกคราวของเมืองไทย 

นับตั้งแต่ 2548 ไล่มาจนถึงปี 2551 การชุมนุมในขณะนั้นมีจุดมุ่งหมายคือ ต่อต้าน "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" และคน "ตระกูลชินวัตร" หรือเครือญาติ คนสนิท พรรคพวก ของ "ทักษิณ" จนนำไปสู่การต่อต้านทุกรัฐบาล  

และในวันที่ 7 ต.ค.2551 ซึ่งเป็นวันที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จะต้องกล่าวแถลงนโยบายต่อรัฐสภา กลายเป็นวันที่เกิดการปะทะกันรุนแรงที่สุด ระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ชุมนุม ที่ปิดล้อมโดยรอบอาคารรัฐสภา มีการใช้แก๊สน้ำตาเพื่อจะเปิดทางให้รัฐมนตรี และ ส.ส.ที่อยู่ในรัฐสภา สามารถเดินทางออกมาได้ หลังการแถลงนโยบายเสร็จสิ้น ซึ่งการสลายการชุมนุมในครั้งนั้น ทำให้ผู้ชุมนุมบาดเจ็บ และเสียชีวิต

อ่านข่าว : ย้อนเหตุสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ 7 ต.ค.51

19 ปี : 25 ตุลาคม 2547 สลายการชุมนุมที่ตากใบ

25 ตุลาคม 2547 เหตุการณ์ตากใบ เป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมของผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการจัดงานรำลึกทุกปี มาจนถึงทุกวันนี้ 

เหตุการณ์ตากใบเริ่มต้นจากประชาชนมาชุมนุมกันที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จ.นราธิวาส เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. บ้านโคกกูแว ต.พร่อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จำนวน 6 คน ซึ่งถูกกลุ่มติดอาวุธปล้นปืนที่รัฐแจกจ่ายให้พวกเขาไป 6 กระบอก แต่เจ้าหน้าที่มองว่า แจ้งความเท็จ

ประชาชนส่วนหนึ่งที่ไม่พอใจจึงมาร่วมชุมนุม และยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป การชุมนุมส่อเค้าจะเกิดการใช้ความรุนแรงและบุกเข้าไปยังสถานีตำรวจ มีการสลายการชุมนุม จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ชุมนุมกว่า 1,370 คน ขึ้นรถ GMC และรถบรรทุกกว่า 20 คัน ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ระยะทางราว 150 กม. จนนำมาสู่การโศกนาฎกรรม มีผู้เสียชีวิต ทั้งเหตุสลายการชุมนุมและการควบคุมตัวไปยังต่ายอิงคยุทธรวมแล้วเกือบ 80 คน 

อ่านข่าว : บทวิเคราะห์ : 18 ปี ตากใบ กับเสียงคนปักษ์ใต้

อ้างอิงข้อมูล : สถาบันปรีดี, ไอลอร์, สถาบันพระปกเกล้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง