“กล้องฯ ฮับเบิล” พบการระเบิดแปลกประหลาด

Logo Thai PBS
“กล้องฯ ฮับเบิล” พบการระเบิดแปลกประหลาด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลตรวจพบแสงจากการระเบิดแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน ลักษณะคล้ายกับซูเปอร์โนวา แต่ยังไม่สามารถอธิบายได้

กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) พบการระเบิดแปลกประหลาดที่ไม่เคยเจอมาก่อนเรียกว่า “Luminous Fast Blue Optical Transient (LFBOT)” ซึ่งปกติจะเกิดในกาแล็กซีบริเวณที่มีดาวฤกษ์เกิดใหม่เป็นจำนวนมาก แต่ในครั้งนี้ LFBOT เกิดขึ้นห่างจากกาแล็กซีอย่างมาก นับเป็นอะไรที่นักดาราศาสตร์ไม่เคยพบเห็นมาก่อน

LFBOT 1

LFBOT 1

LFBOT 1

Luminous Fast Blue Optical Transient หรือ LFBOT เป็นการกำเนิดของแสงสว่างจ้าสีฟ้าอย่างรวดเร็วคล้ายซูเปอร์โนวาหรือ Gamma-ray Burst (GRB) โดย LFBOT นั้นเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สว่างที่สุดเทียบเคียงกับการระเบิดของดาวอย่างซูเปอร์โนวา

LFBOT ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี 2018 นับแต่นั้นมานักดาราศาสตร์ตรวจพบ LFBOT ใหม่ปีละหนึ่งครั้งเท่านั้นเนื่องจากมีเพียงกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลที่สามารถค้นหาแหล่งที่มาของ LFBOT ได้อย่างแม่นยำ

LFBOT 2

LFBOT 2

LFBOT 2

LFBOT เป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่นักดาราศาสตร์ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับมันไม่มาก เนื่องจากการค้นพบครั้งแรกเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน และด้วยจำนวนของ LFBOT ต่อปี ยิ่งทำให้การศึกษา LFBOT นั้นทำได้ยากมากขึ้น

ภายหลังการค้นพบตำแหน่งที่เกิด LFBOT ขึ้นด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล นักดาราศาสตร์มักจะใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศตัวอื่น ๆ ในช่วงคลื่นแสงต่าง ๆ มาศึกษา LFBOT เช่น ช่วงคลื่นเอกซเรย์ (X-ray) ไปจนถึงช่วงคลื่นวิทยุ

AT2023fhn

AT2023fhn

AT2023fhn

กล้องฮับเบิลค้นพบ LFBOT รหัส “AT2023fhn” เมื่อไม่นานมานี้ มีชื่อเล่นว่า “Finch” โดยนักดาราศาสตร์รู้ว่ามันคือ LFBOT เพราะว่า LFBOT ใช้เวลาในการสลายหายไปไหนไม่กี่วัน ไม่เหมือนกับซูเปอร์โนวาที่ใช้เวลาเป็นเดือนกว่าที่แสงจะหายไป

อย่างไรก็ตาม กล้องฮับเบิลพบว่า “Finch” นั้นเกิดระหว่างกาแล็กซีสองแห่ง โดยห่างจากกาแล็กซีแรกประมาณ 50,000 ปีแสง และกาแล็กซีที่สองประมาณ 15,000 ปีแสง ซึ่งผิดไปจากการสำรวจก่อนหน้าหลาย ๆ ครั้ง ที่ LFBOT จะเกิดอยู่ในกาแล็กซีบริเวณที่มีดาวฤกษ์เกิดใหม่เป็นจำนวนมากเสมอ จึงถือเป็นการสำรวจที่นักดาราศาสตร์ไม่เคยพบเจอมาก่อน

นักดาราศาสตร์มั่นใจว่า “Finch” ไม่น่าใช่ซูเปอร์โนวา เพราะดาวที่มีมวลมากพอที่จะระเบิดออกเป็นซูเปอร์โนวานั้นมีอายุขัยสั้นมาก และไม่น่าจะมีความสามารถในการหลุดออกมาจากกาแล็กซีที่ระยะทางมากเช่นนี้

ข้อมูลการสำรวจจากกล้องโทรทรรศน์อื่น ๆ อย่างกล้องจันทรายาน (Chandrayaan) เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ (Very Large Array) พบว่า “Finch” มีอุณหภูมิมากถึง 20,000 องศาเซลเซียส ร่วมกับข้อมูลความสว่าง และข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุ นักดาราศาสตร์สรุปว่า “Finch” น่าจะเป็น “LFBOT” จริง ๆ

Kilonova

Kilonova

Kilonova

แน่นอนว่านักดาราศาสตร์จะต้องหาทฤษฎีมาอธิบายการเกิด LFBOT ในครั้งนี้ซึ่งผิดจากสมมุติฐานก่อนหน้านี้ที่กล่าวไว้ว่า LFBOT นั้นเกิดภายในกาแล็กซีเท่านั้น

นักวิจัยตั้งสมมุติฐานไว้ว่า “Finch” เกิดจากการชนกันของดาวนิวตรอน 2 ดวงนอกระบบกาแล็กซี โดยการชนกันของดาวนิวตรอนแล้วระเบิดเรียกว่า “Kilonova” ซึ่งมีความรุนแรงกว่าซูเปอร์โนวาธรรมดาถึง 1,000 เท่า นอกจากนี้ หากดาวนิวตรอนดวงใดดวงหนึ่งมีความเป็นแม่เหล็กยิ่งยวด ความรุนแรงของการระเบิดก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีก

นักดาราศาสตร์จึงยังจะต้องศึกษา LFBOT ต่อไปว่ามันคืออะไรกันแน่ และเกิดขึ้นในสถานการณ์ใด

ที่มาภาพ: NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง