เปิดค่าใช้จ่ายไป "อิสราเอล" แรงงานไทยยอมจ่าย แลกเสี่ยงทำงาน

ต่างประเทศ
11 ต.ค. 66
12:57
17,317
Logo Thai PBS
เปิดค่าใช้จ่ายไป "อิสราเอล" แรงงานไทยยอมจ่าย แลกเสี่ยงทำงาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดค่าใช้จ่ายเดินทางไปทำงานที่ "อิสราเอล" เมื่อไปทำงานจะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำ เดือนละ 5,300 เชคเกลอิสราเอล หรือประมาณ 50,000 บาท

ข้อมูลของกรมจัดหางาน ภายใต้โครงการ "ความร่วมมือไทย - อิสราเอลเพื่อจัดหางาน" ซึ่งเป็นประกาศ ณ วันที่ 20 กันยายน 2565 ได้ระบุค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานประเทศอิสราเอล เป็นจำนวนเงินประมาณ 71,020 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน) โดยแบ่งเป็น

1. ค่าใช้จ่ายก่อนการเดินทาง 

  • ค่าธรรมเนียมการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม จำนวน 100 บาท
  • ค่าธรรมเนียมการขอรับหนังสือเดินทาง 1,500 บาท 
  • ค่าตรวจสุขภาพ (ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด) 3,250 บาท
  • ค่าตั๋วเครื่องบินราคาถูกสุด จากไทยไปอิสราเอล เที่ยวเดียว 25,000 บาท
  • ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ 400 บาท 

นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายหลังเดินทางไปถึงอิสราเอล ที่ต้องจ่ายให้แก่บริษัทจัดหางานในรัฐอิสราเอล และค่าธรรมเนียมตามโครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล รวมประมาณ 3,549 เชคเกลอิสราเอล หรือประมาณ 1,035.96 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 40,000 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น) 

ตามกฎหมายของอิสราเอล ซึ่งต้องจ่ายเมือไปถึง อัตราค่าธรรมเนียมสูงสุดขึ้นอยู่กับ การปรับปรุงประจำปีภายใต้กฎหมายของรัฐอิสราเอล

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่กล่าวมาข้างต้น ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด ซึ่งผู้รับสมัครทำงานจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น ค่าเดินทางจากภูมิลำเนาของผู้สมัครมา กรุงเทพฯ ค่าอาหาร และค่าที่พักใน กรุงเทพฯ รวมไปถึงค่าตั๋วเครื่องบินเดินทางกลับไทย 

ระยะเวลาการจ้างงานและค่าตอบแทน 

ส่วนระยะเวลาการจ้างงาน 1 คน ทำงานได้ตามสัญญา คือ 2 ปี แต่ไม่เกิน 4 ปี 3 เดือน ขึ้นอยู่กับการต่อใบอนุญาต ผู้ได้รับการคัดเลือกไปทำงานจะได้รับวีซาทำงาน ซึ่งนานจ้างเป็นผู้รับผิดชอบการต่อวีซา ทั้งสัญญาจ้างและวีซาจะได้รับการต่ออายุปีต่อปี แต่ไม่เกิน 5 ปี 3 เดือน

ขณะที่ ค่าตอบแทนขั้นต่ำที่ลูกจ้างจะได้รับก่อนหักภาษี อยู่ที่ 5,300 เชคเกลอิสราเอล หรือ 29.12 เชคเกลอิสราเอลต่อชั่วโมง (เริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.2564) หรือประมาณ 48,073 บาท

ทั้งนี้ อัตราเงินเดือนขั้นต่ำจะต้องถูกหักเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ต่อเดือน ดังนี้

  • ค่าภาษีร้อยละ 10 สำหรับเงินได้ไม่เกินเดือนละ 6,240 เชคเกลอิสราเอล และร้อยละ 14 สำหรับเงินได้เดือนละ 6,241 - 8,950 เชคเกลอิสราเอล
  • ค่าประกันสังคม ร้อยละ 0.04 สำหรับเงินได้ไม่เกินเดือนละ 5,944 เชคเกลอิสราเอล และมากกว่าร้อยละ 0.87 สำหรับเงินได้ที่สูงกว่าเดือนละ 5,944 เชคเกลอิสราเอล  
  • ค่าประกันสุขภาพส่วนบุคคลไม่เกิน 124.72 เชคเกลอิสราเอล
  • ค่าที่พักอาศัย และค่าสาธารณูปโภคอื่น ๆ รวมไม่เกิน 547.28 เชคเกลอิสราเอล/เดือน 

(อ้างอิงข้อมูล กรมการจัดหางาน)

ดังนั้นเห็นได้ว่าค่าตอบแทนที่สูง จึงเป็นแรงจูงใจให้หลายคนอยากไปทำงาน ขณะที่ใช้จ่ายก่อนที่จะได้เดินทางไปทำงานก็สูงไม่แพ้กัน หลายคนจึงต้องไปกู้เงิน ขายนา เพื่อส่งตัวเองไปทำงานหวังหาเลี้ยงครอบครัวให้มีชีวิตที่ดีขึ้น หลายคนจึงอยากที่จะอยู่ทำงานต่อ แม้สถานะการณ์สงครามที่ยังน่าห่วง 

แรงงานไทย 1.2 หมื่นคน ทำงานทางตอนใต้อิสราเอล

กระทรวงแรงงาน เปิดเผยข้อมูลพื้นที่สู้รบทางตอนใต้ของอิสราเอล เป็นพื้นที่ที่มีแรงงานไทยไปทำงานมากที่สุด กว่า 12,000 คน รองลงมา อยู่ในภาคกลาง มีแรงงานไทย กว่า 5,800 คน และภาคเหนือมีแรงงานไทย กว่า 3,800 คน นอกนั้นเป็นการกระจายตัวอยู่ในพื้ันที่อื่น ๆ ใน 12 เมือง ของอิสราเอล

เฉพาะแรงงานไทยในระบบที่มีการขึ้นทะเบียนถูกต้อง มีจำนวนมากกว่า 25,800 คนร้อยละ 95 เป็นเกษตรกร ซึ่งรายได้ของแรงงานแต่ละพื้นที่ไม่ได้แตกต่างกัน แม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่่เสี่ยงไม่เท่ากัน โดยมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 55,000 - 60,000 บาท

ค่าแรงมากกว่าไทย 3 เท่า ยอมแลกกับความเสี่ยง

แม้สถานการณ์การสู้รบอาจคลี่คลาย แต่แรงงานไทยในอิสราเอลบางคน ยังต้องขอดูสถานการณ์ก่อนตัดสินใจว่าจะกลับไทยหรือไม่ เพราะหากกลับไทย นั่นหมายความว่า ต้องทิ้งงานและรายได้ที่มี และกลัวว่าจะกลับไปทำงานที่อิสราเอลไม่ได้อีก

แรงงานไทยที่ไปทำงานในสวนผลไม้ ที่เมืองกิวาทโยอัฟ ทางตอนเหนือของอิสราเอล เล่าว่า เคยเข้าร่วมโครงการกับมหาวิทยาลัยไปฝึกงานที่อิสราเอล จากนั้นก็กลับมาประเทศไทย ก่อนสมัครเข้าโครงการส่งแรงงานไปอิสราเอลกับกระทรวงแรงงาน ทำสัญญากับนายจ้างระยะเวลาทำงาน 2 ปี ตอนนี้ทำงานมาได้ 1 ปี 3 เดือน พร้อมระบุว่าหลังหมดสัญญานี้จะต่อสัญญาอีก 3 ปี 3 เดือน

เหตุผลที่ทำให้เขายากไปทำงานที่อิสราเอล เพราะรายได้สูงกว่าประเทศไทยประมาณ 3 เท่า เช่น หากได้เงินเดือนที่ไทย 15,000 บาท แต่ที่อิสราเอลจะได้อยู่ที่ประมาณ 45,000 บาท นี่จึงเป็นแรงจูงใจที่ทำให้คนไทยอยากไปทำงานที่อิสราเอล

ครอบครัวนายธวัชชัย แซ่ท้าว แรงงานไทยที่เสียชีวิต บอกว่า ลูกชายเดินทางไปทำงานต่างประเทศ เพราะหวังจะสร้างฐานะให้กับครอบครัว ต้องกู้ยืมเงินเป็นค่าใช้จ่ายเดินทาง รายได้ที่ส่งกลับมาเพิ่งนำไปชำระหนี้สิน ตั้งใจว่าจากนี้จะเริ่มเก็บเงินต่อเติมบ้านและเป็นเงินเก็บ แต่กลับเสียชีวิตอย่างกระทันหัน

ลูกบอกว่าจะหาเงินมาสร้างบ้าน ในสัญญา 5 ปี แต่เพิ่งไปได้ปีกว่าก็เสียชีวิต

อีกครอบครัวแรงงานไทยที่ถูกจับตัวไป คือ นายศรายุทธ ปั้นกิจวานิชเจริญ อายุ 33 ปี โดยอัญชลี กิตติวิริยะกุล ภรรยา บอกว่า สามีถูกจับไปพร้อมคนไทยอีก 3 คน โดยเพิ่งเดินทางไปทำงานได้แค่ 7 วัน จ่ายเงินในการเดินทางไปแล้วกว่า 70,000 บาท

อยากให้เขาไปตามกลับมาให้ได้ ตัวเองเป็นแม่บ้าน ตอนนี้ไม่มีรายได้

หารือผ่อนปรนสัญญา หากแรงงานกลับไทย

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เตรียมหารือกับอิสราเอล ขอให้ผ่อนปรนกรณีแรงงานไทยจะเดินทางกลับ โดยยังไม่ครบกำหนดสัญญาจ้าง ให้แรงงานสามารถกลับไปทำงานได้อีก โดยงดเว้นเก็บค่าใช้จ่ายแรกเข้าใหม่

ขณะเดียวกันได้ระงับการส่งแรงงานล็อตใหม่ไปทำงาน จนกว่าจะมั่นใจได้ว่าการสู้รบสงบแล้ว ซึ่งในอนาคตจะพิจารณาพื้นที่ในการส่งแรงงานไทยไปทำงาน โดยคำนึงถึงความเสี่ยงของการเกิดการสู้รบเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 กระทรวงแรงงาน จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรรัฐอิสราเอล  6,500 คน โดยตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. - 20 มี.ค.2566 จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานฯ ทั้งสิ้น 1,513 คน แบ่งเป็นชาย 1,480 คน หญิง 33 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง