"ไอ้ก้านยาว" ประพัฒน์ อดีตที่ลางเลือน 14 ตุลาคม 16

การเมือง
12 ต.ค. 66
18:32
3,075
Logo Thai PBS
"ไอ้ก้านยาว" ประพัฒน์ อดีตที่ลางเลือน 14 ตุลาคม 16
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ความทรงจำที่ลางเลือน 14 ตุลาคม 2516 ของ “ไอ้ก้านยาว” ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ในวัย 72 ปี ผู้อยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ชี้บทเรียน 50 ปีเปลี่ยนผ่านการเมืองไทยไม่ก้าวกระโดด

หากย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน ภาพจำของชายคนหนึ่ง ในมือถือไม้ท่อนใหญ่กำแน่น เบื้องหน้าที่เขากำลังเผชิญคือทหารที่มีอาวุธครบมือ เบื้องหลังคือกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวประท้วง

เหตุการณ์นี้ ยังคงอยู่ในความทรงจำ 14 ตุลาคม 2516 ของ “ไอ้ก้านยาว” ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ในวัย 72 ปี ซึ่งเคยอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อนิสิต นักศึกษา และประชาชน ออกมาประท้วงรัฐบาลทหารของ จอมพลถนอม กิตติขจร ที่ทำให้เขาได้รับฉายา “ไอ้ก้านยาว” มาจนถึงทุกวันนี้ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ เหตุการณ์นี้กลับรางเลือนไปหมดแล้ว

ประพัฒน์ แกะกล่องความทรงจำเมื่อ 50 ปีก่อนที่ได้เข้าไปร่วมชุมนุมใน 14 ตุลาคมว่า เขาได้เข้าร่วมชุมนุมตั้งแต่เริ่มมีการระดมคนจาก ม.เกษตรศาสตร์ และถือเป็นกลุ่มนิสิต นักศึกษากลุ่มแรกๆ เพราะมีเพื่อนรักอยู่ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ไปนอนบ้านเพื่อนแถววัดมหรรณพารามวรวิหาร ใกล้กับม.ธรรมศาสตร์

จนกระทั่งวันที่ 14 ตุลาคม มีการปะทะกันไล่มาตั้งแต่กรมประชาสัมพันธ์ จนมาถึงหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ ตรงนี้ถือเป็นจุดปะทะใหญ่ หัวถนนราชดำเนินเข้ามาที่สนามหลวง ซึ่งมีการปะทะกันดุเดือด ครั้งนั้นเห็นพี่น้องๆ นักเรียนช่างกลมีความกล้าหาญมากในเหตุการณ์นี้ และยังถือเป็นวีรกรรมฝากไว้ในใจตัวเอง

ผมเป็นหนึ่งในผู้ไปร่วมชุมนุม 400,000 คน บังเอิญถือไม้กระบองขวางทหาร ไม่ให้ข้ามมาฝั่งโรงแรมรัตนโกสินทร์ เพราะที่นี่มีคนเจ็บจากการปะทะ มาปฐมพยาบาลก่อนที่จะส่งไปโรงพยาบาล

อ่านข่าว รำลึก 50 ปี 14 ตุลา 2516 วันประชาธิปไตยไทย

ภาพประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 16 ที่ประพัฒน์ ถือไม้หน้าสามยืนประจันหน้าทหาร

ภาพประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 16 ที่ประพัฒน์ ถือไม้หน้าสามยืนประจันหน้าทหาร

ภาพประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 16 ที่ประพัฒน์ ถือไม้หน้าสามยืนประจันหน้าทหาร

ประพัฒน์ บอกว่า ตรงจุดนี้ มีพยาบาล แพทย์มาปฐมพยาบาลคนเจ็บ ซึ่งตัวเองก็ได้ทำหน้าที่ในการแบกคนเจ็บไป และบังเอิญเห็นทหารชุดหนึ่ง กำลังเดินข้ามมา เลยไปห้ามไม่ให้เขาเดินเข้ามา โดยยืนจังก้าถือไม้ แต่ก็ถูกยิงล้มลงได้รับบาดเจ็บ

ภาพที่กลายเป็นตำนาน และได้ฉายาไอ้ก้านยาว เนื่องจากมีช่างภาพถ่ายภาพนี้ไว้ได้ ยอมรับว่าตอนนั้นไม่ได้คิดอะไร แค่ตัวเองมีใจสู้รบ และทุกคนมีจิตสำนึกในการเรียกร้องประชาธิปไตย และการปกครองโดยระบบเผด็จการทหาร ควรเข้าสู่การปกครองแบบใหม่ที่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประเทศไทย

ผมเป็นหนึ่งในคนหนุ่มสาวยุคนั้น ที่ได้ร่วมขบวนการมาแต่แรกเริ่ม และปลุกให้มีจิตสำนึกรักชาติรักแผ่นดิน รักประชาธิปไตย รักเสรีภาพจนถึงวันนี้ ก็ยังคงความคิดแบบนี้

50 ปีมองผ่านอดีตที่ถูกลืม

ประพัฒน์ ยอมรับว่า ตอนนี้เหตุการณ์ 14 ตุลาคม กลายเป็นอดีตถูกลืมเลือน เพราะมีแค่คนในยุคของตัวเองเท่านั้น ที่ยังจดจำ และรู้จักความเป็นตัวเขาได้บ้าง ส่วนคนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันไม่รู้จักไอ้ก้านยาวคนนี้แล้ว

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หนุ่มสาวรุ่นใหม่จะลืมเลือนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน คนเปลี่ยน เวลาที่ผ่านมายาวนานเป็นเพียงประวัติศาสตร์ อีกไม่นานก็ล้มหายไป เด็กรุ่นใหม่จะไม่จำเหตุการณ์ หรือจำได้แค่เลือนราง

แม้จะมีบางกลุ่มที่ยังอยากรู้ศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงเหตุการณ์ครั้งนั้น ประพัฒน์ บอกว่า เขาเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ผ่านมา 50 ปีมีพัฒนาการประชาธิปไตยมากแค่ไหน คำตอบคือ สังคมไทยมีพัฒนาประชาธิปไตยดีขึ้น แต่ยังไม่ถึงกับก้าวกระโดดอย่างที่คาดหวัง แม้จะเปิดกว้างมากขึ้น มีการกระจายตัว มีการให้โอกาสกัน

ยอมรับว่าเป็นความคาดหวัง แต่ไม่ได้เป็นไปตามคาด เพราะสังคมไทยยังมีกลุ่มประโยชน์ หลากหลายอยู่มาก และคนกลุ่มที่มีอำนาจก็คงไม่ยอมสูญเสียอำนาจ ส่วนผู้ที่มีโอกาส ก็พยายามปกป้องตัวเองสุดชีวิต จึงเป็นโจทย์ที่ยากคนหนุ่มสาวที่จะฝ่าฟันไป

อ่านข่าว มองลอดแว่น 47 ปี “คนเดือนตุลาฯ”ถึง “คนรุ่นใหม่”

ถูกปิดปาก-คนพูดเท่ากับคอมมิวนิสต์

ประพัฒน์ ชี้ว่า ส่วนพัฒนาการทางการเมือง มองว่าในการเลือกตั้งปี 2566 มีความชัดเจนขึ้น ประเด็นที่พรรคการเมืองเสนอ ถ้าเป็นในยุคของตัวเอง อาจกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปแล้ว เพราะหลายเรื่องพูดไม่ได้ในยุคนั้น เช่น เปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นโฉนดที่ดิน ลดความเหลื่อมล้ำ หรือแม้แต่มาตรา 112 กลายเป็นสิ่งต้องห้าม สังคมไทยมีพัฒนาการที่ดีแนวทางทางบวก แต่ไม่ได้ก้าวกระโดด ต้องพยายาม และพรรคการเมืองหลายพรรคที่นำเสนอนโยบายที่ก้าวหน้ามาก และติดตามดูอยู่ห่างๆ

ประชาธิปไตยติดหล่มไม่ถึงฝั่ง 

ประพัฒน์ สะท้อนว่า สิ่งที่ติดหล่มประชาธิปไตย ต้องเข้าใจปูมหลังประวัติศาสตร์หลังผู้มีอำนาจ 3 กลุ่มทุนใหญ่ กลุ่มศักดินา หรือคอนเซอร์เวทีฟ กลุ่มแนวคิดระบอบทหารยังมีอยู่ แม้ทหารรุ่นใหม่จะมีแนวคิดก้าวหน้า

ในสมัยตัวเองเรียกว่ากลุ่มนายทุนขุนศึก คู่ปรับการเมือง แต่ตอนนี้เป็นนายทุน ขุนศึก และศักดินา 3 กลุ่มผนึกกำลังกัน และเราคงไม่สามารถพังทลายทุกอย่างในพริบตา ต้องใช้เวลาเพื่อผลักดันกงล้อประวัติศาสตร์เดินไปข้างหน้าได้

เขายอมรับว่า เคยทำงานการเมืองในยุค20 ปีก่อนทำอะไรไม่ได้เลย บางเรื่องถูกห้ามพูด เป็นสิ่งต้องห้าม

อยากฝากว่าแผ่นดินนี้ ถึงอย่างไรก็ต้องให้คนรุ่นใหม่รักษาต่อจะช้าจะเร็ว สิ่งใดที่ควรผ่อนปรน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ก็ควรทำก่อนที่จะลุกลาม 

เขา บอกอีกว่า หากเทียบอดีตการเมืองปี 2516 กับปี 2566 การเรียกร้องบนท้องถนน สำหรับตัวเขาเอง เชื่อว่าไม่น่าจะมีเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำรอย 

นอกจากนี้ ประพัฒน์ วิเคราะห์ว่า มีเงื่อนไขเดียวที่จะทำให้เหตุการณ์รุนแรงอยู่ที่ฝ่ายถืออำนาจรัฐ ถ้าไม่เข้าใจสถานการณ์ความรุนแรง เพราะ Action เท่ากับ Reaction ยิ่งใช้ความรุนแรงในการตอบกลับเยาวชน และกลุ่มแนวคิดใหม่ๆ ที่ต้องการผลักดันสังคมไทยไปก็จะเจอ แรงตอบโต้แรงเท่านั้น เรื่องนี้เป็นตรรกะ สังคมยิ่งกด ยิ่งระเบิดแรง แต่ถ้าผ่อนปรนให้ระบาย ปรับเปลี่ยน อย่าต่อต้าน เข้าใจกันบ้าง น่าจะทำให้สังคมพอจะเดินไปข้างหน้า

ตอนนั้นเป็นแนวทางประชาธิปไตย และเผด็จการรัฐบาลทหารชัด เพราะมีคู่ต่อสู้ 2 ฝ่ายชัดๆ แต่ยุคนี้สังคมไทยเปลี่ยนไปมากสังคมไทยมีกลุ่มประโยชน์หลายกลุ่มมีความซับซ้อนมาก หลายเรื่องจึงไม่สามารถแยกดำแยกขาวได้เด็ดขาด

อ่านข่าว ย้อนเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง ในเดือน "ตุลาคม"

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ในวัย 72 ปีที่พลิกชีวิตมาเป็นเกษตรกร

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ในวัย 72 ปีที่พลิกชีวิตมาเป็นเกษตรกร

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ในวัย 72 ปีที่พลิกชีวิตมาเป็นเกษตรกร

มองการเมืองปัจจุบัน?

ในฐานะคนการเมือง ประพัฒน์ ยอมรับว่ายังเฝ้ามองการเมืองอย่างทุกวันใกล้ชิด และเป็นห่วงทุกวัน แต่ไม่ขอไม่กลับไปอยู่ในอำนาจทางการเมือง ขอทำบทบาทในฐานะเกษตรกรคนหนึ่ง ที่พร้อมให้คำปรึกษา แม้จะมีคนชวนแค่ก็หันหลังให้ เพราะมองว่าเป็นหน้าที่ของคนรุ่นใหม่แล้ว

ส่วนการเมืองในปัจจุบัน ควรจะคำนึงถึงประโยชน์ประเทศชาติ และประชาชนในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น น่าจะมององค์รวมมากว่า และยอมรับความคิดใหม่จากคนใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน เพราะที่มาอยู่ในอำนาจตอนนี้ ก็มาจากคนการเมืองยุคตัวเอง ก็น่าจะประเมินสถานการณ์ออก

ส่วนข้อเสนอเรื่องนิรโทษกรรมนักการเมืองนั้น ส่วนตัวมองว่า ต้องดูรายละเอียด เห็นด้วยในกรณีนี้ เพราะความเห็นต่างทางการเมืองไม่ใช่อาชญากร ไม่ใช่ผู้ร้ายทางสังคม คนมองเห็นต่าง ควรได้รับอภัยต่อกัน 

คนที่เคยเคลื่อนไหวในอดีต เป็นกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ทำในตอนนั้น และเขาไม่ใช่อาชญากร

อ่านข่าว

"พิธา" คนการเมืองร่วมรำลึก 47 ปี "6 ตุลา 19"

"ชูศักดิ์" แนะคิดให้รอบคอบ หวั่น ร่างกม.นิรโทษกรรม สร้างความขัดแย้งรอบใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง