พบ "โมเลกุลน้ำ" และ "คาร์บอน" ในตัวอย่าง "ดาวเคราะห์น้อยเบนนู"

Logo Thai PBS
พบ "โมเลกุลน้ำ" และ "คาร์บอน" ในตัวอย่าง "ดาวเคราะห์น้อยเบนนู"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลังจากเดินทางกลับโลกนักวิทยาศาสตร์พบโมเลกุลน้ำและคาร์บอนจากตัวอย่างหินดาวเคราะห์น้อยที่ยาน OSIRIS-REx นำกลับมายังโลก

ทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซา (NASA) ได้เปิดเผยผลวิเคราะห์ตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อยเบนนูที่นำกลับมาโดยยาน OSIRIS-REx เป็นครั้งแรก ผลการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่าตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยเบนนูมีโมเลกุลของน้ำและคาร์บอนอยู่

การวิเคราะห์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากขั้นตอนการ “Curate” หรือการนำตัวอย่างออกมาจากแคปซูลเก็บตัวอย่างที่ถูกปิดผนึกอย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันการปนเปื้อน ซึ่งระหว่างการนำตัวอย่างออกมานี้เอง ทีมนักวิทยาศาสตร์พบว่าแคปซูลเก็บตัวอย่างมีปริมาณของตัวอย่างมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ขั้นตอนในการนำตัวอย่างออกมานั้นช้าลง

หลังจากการนำตัวอย่างออกมาจากแคปซูล นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (SEM) กล้องอินฟราเรด เครื่องวิเคราะห์การเลี้ยวเบนของรังสีเอ็กซ์ (X-ray Diffractor) และอุปกรณ์วิเคราะห์ส่วนประกอบทางเคมีเพื่อระบุส่วนประกอบทางเคมีภายในตัวอย่าง นอกจากนี้เทคนิคซีทีสแกน (CT Scan) ยังถูกนำมาใช้ในการสร้างโมเดลสามมิติของอนุภาคของตัวอย่างของดาวเคราะห์น้อยอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การพบโมเลกุลน้ำและคาร์บอนในตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยเบนนูนั้นเป็นเรื่องที่ถูกคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว ดาวเคราะห์น้อยเบนนูเป็นดาวเคราะห์น้อย “C-type” ซึ่งย่อมาจากคำว่า “Carbonaceous” หมายถึงมันประกอบไปด้วยธาตุคาร์บอนเป็นจำนวนมาก โดยดาวเคราะห์น้อย C-type นั้นมักจะมีอนุภาคสารระเหย (Volatiles) อยู่เป็นจำนวนมาก เช่น น้ำ การค้นพบน้ำบนดาวเคราะห์น้อยเบนนูจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใด ๆ นอกจากนี้เอง การค้นพบน้ำนั้นเกิดครึ่งบ่อยครั้งในการสำรวจอวกาศ เช่น การค้นพบน้ำในรูปของน้ำแข็งบนดวงจันทร์

ซึ่งที่น่าสนใจคือ น้ำที่นักวิทยาศาสตร์พบนั้นถูกกักอยู่ในโครงสร้างไฟเบอร์ของดินเหนียว ซึ่งอาจเป็นหลักการพื้นฐานของการเกิดน้ำบนดาวเคราะห์อย่างโลกของเราที่มีน้ำอยู่ในดินเหนียวก่อนที่จะก่อตัวกลายเป็นหิน นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบธาตุเหล็กในรูปของสารประกอบเหล็กซัลไฟด์และเหล็กออกไซด์ซึ่งมักก่อตัวในสภาพแวดล้อมที่มีน้ำอยู่ มีรายงานเบื้องต้นว่าตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยเบนนูน่าจะมีธาตุอินทรีย์อื่น ๆ อีกด้วย

การศึกษายังคงดำเนินต่อไป และการค้นพบเหล่านี้จะเป็นหลักฐานในการสนับสนุนทฤษฎีการก่อตัวของโลกจากการรวมตัวกันของดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กจำนวนมาก คล้ายกับเครื่องปรุงและวัตถุดิบที่แตกต่างกันเวลาเราทำอาหาร ดาวเคราะห์น้อยแต่ละดวงที่มีองค์ประกอบไม่เหมือนกันจึงอาจเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายบนโลกนั่นเอง

ที่มาภาพ: NASA
ที่มาข้อมูล: NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง