นโยบายสิ่งแวดล้อม พร้อมแค่ไหน รับมือยุคโลกเดือด?

สิ่งแวดล้อม
19 ต.ค. 66
12:05
3,397
Logo Thai PBS
นโยบายสิ่งแวดล้อม พร้อมแค่ไหน รับมือยุคโลกเดือด?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

นโยบายสิ่งแวดล้อมแทบทุกรัฐบาล มักมีความสำคัญในลำดับรองหรือไม่ก็เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ในภาวะที่ทั่วโลกกำลังเข้าสู่ยุค “โลกเดือด” และเกิด “ความแปรปรวน” ยากที่จะคาดการณ์ ดังนั้นจึงถึงเวลาที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

ไทยพีบีเอส ชวนสำรวจ ที่ทาง รวมทั้งการจัดวาง แม่ทัพ นโยบายสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีกับโจทย์ประเทศไทยใน “ยุคโลกเดือด”

ส่องนโยบายรัฐบาล “สิ่งแวดล้อมแยกไม่ออกเศรษฐกิจ”

การแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 – 12 ก.ย. 2566 ใน “มิติด้านสิ่งแวดล้อม” ไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนักเมื่อเทียบกับนโยบายด้านอื่น ๆ แต่ในสถานการณ์ที่ “ภัยจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน” กำลังคุกคามความมั่นคงหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะ “ปรากฎการณ์เอลนีโญ” หรือ ภาวะภัยแล้ง ที่คาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงตั้งแต่ปลายปีนี้ไปจนถึงปีหน้าหรืออาจยาวกว่านั้น

จากคำแถลงนโยบายของรัฐบาล เริ่มจากการวิเคราะห์ว่ามีปัญหาและความท้าทายทั้งหมด 12 ด้านที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในนั้น ระบุว่า สภาวะอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) และปรากฎการณ์เอลนีโญ (El Nino) เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องเตรียมรับมือ

“ความแปรปรวนของสภาพอากาศและโรคอุบัติใหม่ นอกจากจะเป็นภัยพิบัติที่สร้างผลกระทบโดยตรงต่อมนุษยชาติแล้ว ยังส่งผลทางอ้อมให้เกิดกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อรูปแบบการค้าและการท่องเที่ยวของโลก สภาวะอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) ที่ก่อให้เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ (El Nino) และได้สร้างความเสี่ยง ให้กับพี่น้องเกษตรกรไทยจำนวนมากที่รัฐบาลจะต้องเตรียมความพร้อมรับมือ เพื่อลดผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชน”

จากคำแถลงนโยบายของรัฐบาล จะเห็นได้ว่าแนวทางจัดการด้านสิ่งแวดล้อม แยกไม่ออกจากนโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยนโยบายเน้นเรื่องพลังงานสะอาดในนโยบายและเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยระบุว่า “การผลิตและใช้ พลังงานสะอาด และ พลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

ในการแก้ปัญหาระยะกลางและระยะยาว นโยบายระบุว่า จะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ด้วย“อุตสาหกรรมสีเขียว”เช่นเดียวกับในด้านการสร้างผลิตภาพของภาคการเกษตร ระบุว่า “จะมีการบูรณาการองค์ความรู้ ด้านการบริหารจัดการน้ำ ให้มีประสิทธิภาพ” การ “สนับสนุนให้เปลี่ยนแปลงการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและเศรษฐกิจ”

นอกจากนี้ ยังบรรจุไว้ในโยบายฟื้นอุตสาหกรรมประมงให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ โดยจะ “แก้ไขข้อกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสมอันเป็นการ บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลให้อยู่กับประเทศอย่างยั่งยืน” และส่งเสริมแนวทางสร้างรายได้จากผืนดินและสิ่งแวดล้อม“จากการเพิ่มพูนของระบบนิเวศ การขายคาร์บอนเครดิตอย่างยุติธรรม”

“สิ่งแวดล้อมสะอาด” เรื่องใกล้ตัว แต่วิธีแก้ไม่ชัด

นอกเหนือจากการสร้างรายได้ รัฐบาลยังเน้นเรื่อง “สิ่งแวดล้อมสะอาด” แต่ไม่ระบุแนวทางที่ชัดเจนหรือมีแนวทางว่าจะรับมือต่อวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไร โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่มาทุกปีและแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น

นโยบายรัฐบาลระบุว่า “คุณภาพชีวิต อันดับที่สอง คือ ชีวิตที่มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดสำหรับทุกคน รัฐบาลจะดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาประเทศและส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน ส่งเสริมและเร่งฟื้นฟูความสมบูรณ์ของดินและน้ำคืนสู่ธรรมชาติ รักษาความสมดุลของระบบนิเวศและอนุรักษ์ความหลากหลายพันธุ์สัตว์ป่า แก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมและมลภาวะเพื่อคืนสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่คนไทย พร้อมทั้งวางแผนรับมือและป้องกันวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต”

ขณะที่ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 นับเป็นประเด็นที่พูดถึงกันมากที่สุดในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งในนโยบายของรัฐบาลก็ให้ความสำคัญ โดยระบุว่า “รัฐบาลจะแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นวาระแห่งชาติโดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควัน PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกคน ด้วยการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจทั้งทางบวกและทางลบในภาคเกษตรกรรม ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อประเมินผลและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว”

ดันนโยบาย Carbon Neutrality หวังสร้างบทบาทไทยบนเวทีการค้าโลก

การสร้างบทบาทของประเทศไทยบนเวทีโลก เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ถูกบรรจุไว้ในคำแถลงนโยบาย ระบุถึงการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติที่จะมีผลโดยตรงต่อการส่งออกและการค้าระหว่างประเทศ โดยหนึ่งแนวทางที่จะถูกนำมาใช้คือ Carbon Neutrality หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน

“รัฐบาลจะสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเปิดประตูบานใหญ่สู่การค้าโลก ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยและสร้างข้อได้เปรียบให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการในประเทศ ทำให้รัฐบาลสามารถเจรจาการค้าระหว่างประเทศภายใต้กฎกติกาใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อ การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”

ย้อนฟังเสียงประชาชน ปัญหาที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไข

ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัวเมื่อเทียบกับปัญหาปากท้อง อย่างเหตุการณ์ “ฝุ่นพิษครองเมือง” ที่เกิดรุนแรงขึ้นในช่วงหลัง ทำให้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาที่พูดถึงกันมากในอันดับต้น ๆ

จากการสำรวจการแสดงความเห็นบนโซเชียลมีเดียช่วงก่อนเลือกตั้ง “ความคาดหวังต่อนโยบายด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม” พบว่าใน 5 อันดับแรก ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุด ลองลงมาคือ ปัญหาแวดล้อมโดยภาพรวม, ปัญหาการจัดการขยะ, ปัญหาภัยแล้ง และสุดท้ายคือ ปัญหามลพิษ

ในประเด็นฝุ่น PM 2.5 ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดนั้น พบว่ามีทั้งการแสดงความไม่พอใจต่อการจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของรัฐบาลก่อนหน้านี้ การสะท้อนถึงแหล่งกำเนิดฝุ่นที่แตกต่างกัน เช่น การเผาป่าและพื้นที่เกษตร มลพิษที่เกิดขึ้นจากยานพาหนะ และจากโรงงานอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดในเชิงสนับสนุน ขณะที่หลายพรรคการเมืองในขณะนั้นต่างก็หาเสียงว่าจะผลักดันกฎหมายตัวนี้หากได้รับเลือกตั้งเช่นเดียวกัน

ส่วน ปัญหาขยะ มีการแสดงความเห็นว่าระบบการจัดการและกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพต่ำ การทิ้งขยะอย่างไม่เป็นระเบียบ การเผาขยะที่เป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาฝุ่น PM 2.5 การสร้างขยะที่มากเกินไปจากการบริโภคเกินความจำเป็น และคาดหวังให้รัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ปัญหานี้

นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงปัญหาการจัดการขยะที่ เกาะสมุย ระบุว่า ทำอย่างไรให้การจัดการขยะและน้ำทิ้งมีประสิทธิภาพ รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ บนเกาะ เช่น พื้นที่สีเขียว สัตว์น้ำ และความเป็นอยู่ของชาวบ้าน รวมถึงปัญหาภัยแล้ง ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกคาดหวัง เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้แก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

ในฝั่งพรรคการเมือง พบว่า ในหมวดนโยบายสิ่งแวดล้อม ประเด็นฝุ่น PM 2.5 เป็นหัวข้อที่นำไปหาเสียงมากที่สุดเช่นกัน รองลงมาคือประเด็นสิ่งแวดล้อมในภาพรวม, ภัยแล้ง, สัญจรทางเลือก และมลพิษ เป็นลำดับที่ 5

รัฐบาลเพื่อไทย จัดแม่ทัพรับภัยแล้ง – “พัชรวาท” มอบภารกิจแรก ทส. แก้ไฟป่า PM 2.5

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) นัดแรก เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 ได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นรายจังหวัด โดยมีภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะกรรมการ และนายปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการ

นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า “การตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา เพื่อให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันท่วงที ยกตัวอย่างเช่น เวลารู้ว่าที่ไหนจะแล้ง ถ้าทำตามมาตรการเดิมจะต้องรอกระบวนการตั้งโครงการของบประมาณ กว่าจะผ่านกระบวนการต่าง ๆ ก็ไม่ทันการ แต่ทันทีที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน องค์กรส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศทั้ง อบต. อบจ. มีเงินทุนสำรองมากพอที่จะสามารถทำโครงการที่ไม่ได้ใหญ่มากนักได้ เช่น ฝายแกนซอยซีเมนต์ เพื่อกักน้ำไว้ในลำน้ำต่างๆ รวมถึงธนาคารน้ำใต้ดิน”

นอกจากนี้ ครม.ยังตั้ง “คณะกรรมการฟื้นฟูทะเลไทยเพื่อความยั่งยืน” โดยมอบหมายให้ นายภูมิธรรม เป็นประธานคณะกรรมการฯ และนายปลอดประสพ เป็นที่ปรึกษา เพื่อแก้ปัญหาอุตสาหกรรมประมง โดยให้คำนึงถึงการบริหารทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประชุมมอบนโยบายแก่ผู้บริหารกระทรวง ทส. ทันที โดยสั่งให้เตรียมรับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว นั่นคือ ไฟป่าหมอกควัน และ PM 2.5

“ภารกิจแรกที่ต้องดำเนินการ คือเรื่องไฟป่า และ PM 2.5 เนื่องจากใกล้เข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่ปัญหาฝุ่นทวีความรุนแรงขึ้น ส่วนเรื่องปัญหาภัยแล้ง และเอลนีโญ ที่หลายฝ่ายมีความกังวล คาดว่าทางปลัด ทส. ได้มีการเตรียมการรับมือไว้แล้วเรียบร้อย ส่วน พ.ร.บ. อากาศสะอาด ทางกรมควบคุมมลพิษก็ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ. เพื่อเสนอต่อ ครม. ให้ความเห็นชอบแล้ว ถ้า ครม.ให้ความเห็นชอบก็จะเสนอต่อสภาต่อไป”

ความหวังนโยบายสิ่งแวดล้อม ไม่กลายเป็น “ฝุ่น”

ที่ผ่านมา หลายรัฐบาลขับเคลื่อนการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้ทันท่วงทีนัก แต่จะเห็นความกระตือรือร้นก็ต่อเมื่อกำลังจะเกิด หรือเกิด “ภัยสิ่งแวดล้อม” และสร้างความเสียหายต่อผู้คน สังคม และเศรษฐกิจในวงกว้าง

การวางนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ ชัดเจน มีแนวทางการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม และ ตอบโจทย์ปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นได้จริง จึงเป็นสิ่งที่คาดหวัง โดยเฉพาะในยุค “โลกเดือด” ที่สถานการณ์ปั่นป่วน แปรปรวน และคาดการณ์ได้ยากมากขึ้น

ท่ามกลางสถานการ์ดังกล่าว จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับนโยบายสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลเศรษฐาว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริง หรือสุดท้ายกลายเป็นแค่ฝุ่นที่ค่อยๆ จางหายไปเหมือนที่ผ่านมา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง