Life 3.0 แนวคิดว่าด้วยเรื่อง "ชีวิตและเทคโนโลยี"

Logo Thai PBS
Life 3.0 แนวคิดว่าด้วยเรื่อง "ชีวิตและเทคโนโลยี"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักเทคโนโลยีแม็กซ์ เท็กมาร์ค เคยเปรียบเทียบชีวิตไว้เป็นสามระดับ โดยระดับถัดไปของมนุษย์คือการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเพื่อปลดล็อกศักยภาพขั้นสูงสุด

ทุกวันนี้เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากกับชีวิตของมนุษย์ ซึ่งนักวิชาการหลายคนก็มีวิธีการอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวแตกต่างกันออกไป แต่แนวคิดเรื่อง Life 3.0 ของแม็กซ์ เท็กมาร์ค (Max Tegmark) จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ได้เคยเปรียบเทียบการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีไว้ในหนังสือเรื่อง Life 3.0 ไว้ได้อย่างน่าสนใจ และได้กล่าวเพิ่มเติมถึงบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการดำรงชีวิตของมนุษย์

เท็กมาร์คมองว่า เราสามารถแบ่งระดับของชีวิตได้เป็น 3 ระดับ

1. ชีวิตระดับที่ 1.0 เป็นชีวิตที่ดำเนินไปตามกลไกทางธรรมชาติ (Biological) และการส่งต่อทางพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) โดยสิ่งมีชีวิตในระดับนี้ จะสามารถแปลงอาหารให้เป็นพลังงาน สืบพันธุ์ ส่งต่อดีเอ็นเอจากรุ่นสู่รุ่นได้ แต่จะไม่มีความแตกต่างในเชิงวัฒนธรรม สังคม กล่าวคือหากเรานำแบคทีเรียที่เกิดคนละบ้านมา แบคทีเรียทั้งสองย่อมมีพฤติกรรมเหมือนกัน

2. ชีวิตระดับที่ 2.0 เท็กมาร์คอธิบายว่าชีวิตในระดับนี้จะมีโครงสร้างทางวัฒนธรรมอยู่ด้วย เพิ่มเติมขึ้นมาอีกหนึ่งชั้นจากแค่กลไกทางชีววิทยา ซึ่งสิ่งมีชีวิตที่มีวัฒนธรรมเข้ามาอาจมีรูปแบบวิธีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันไป ไม่จำกัดอยู่แค่ปัจจัยทางชีววิทยาเท่านั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนของสิ่งมีชีวิตในระดับนี้ก็คือมนุษย์ปัจจุบัน ที่แม้จะมีร่างกายเหมือนกัน แต่เลือกที่จะปฏิบัติตามบรรทัดฐานและค่านิยมของสังคม ที่แตกต่างกัน

โดยเราอาจอธิบายความแตกต่างได้ว่า หากเปรียบสิ่งมีชีวิตเป็นเหมือนคอมพิวเตอร์ สิ่งมีชีวิตระดับแรก จะไม่สามารถปรับเปลี่ยนทั้งฮาร์ดแวร์ (Hardware) และซอฟต์แวร์ (Software) ของตัวเองได้ ในขณะที่สิ่งมีชีวิตระดับที่ 2 สามารถปรับเปลี่ยนซอฟต์แวร์ (Software) ของตัวเองได้ เช่น การเรียนรู้ภาษาใหม่ และการมีแนวคิดเชิงสังคมและวัฒนธรรม

3. ชีวิตในระดับที่ 3.0 เป็นชีวิตที่มีความซับซ้อน และเท็กมาร์คเชื่อว่ามนุษย์กำลังเดินทางไป นั่นก็คือการเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทั้งซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ของตัวเองได้ โดยการนำเอาเทคโนโลยีมาช่วย หรือเป็นการผสมผสานระหว่างชีวิตและเทคโนโลยี เช่น การตัดต่อพันธุกรรม หรือการผนวกรวมระหว่างอวัยวะกับหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์ เพื่อสามารถออกแบบชีวิตในแบบที่เราต้องการได้

แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับเทคโนโลยีด้านชีววิทยาในปัจจุบันอย่างมาก ตั้งแต่การตัดต่อดีเอ็นเอด้วยเทคนิคคริสเปอร์-แคสไนน์ (CRISPR-Cas9) หรือการนำเอาหุ่นยนต์มาทดแทนหรือเพิ่มศักยภาพของมนุษย์ เช่นแขนกลต่าง ๆ ตลอดไปจนถึงการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้าที่อาจช่วยให้มนุษย์ออกแบบลูกหลานของตัวเองให้ไม่เจ็บป่วย หรือทนต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ เท็กมาร์คยังพูดถึงโอกาสของมนุษย์ที่จะได้สำรวจอวกาศ โดยอาศัยพัฒนาการสู่การเป็น Life 3.0 อีกด้วย

แนวคิดการแบ่งชีวิตเป็น 3 ระดับนี้ ช่วยให้เราสามารถอธิบายการเข้ามาของเทคโนโลยีว่ากระทบต่อการดำรงชีวิตของเราอย่างไร และยังช่วยให้เราสามารถประเมินประโยชน์ โทษ และข้อควรระวังในการผนวกเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้อย่างชัดเจน

ที่มาภาพ:Unsplash

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง