ทำไมต้อง Policy Watch

สังคม
24 ต.ค. 66
14:18
497
Logo Thai PBS
ทำไมต้อง Policy Watch
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

การเลือกตั้งที่ผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ถูกมองว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็นการเลือกตั้งที่สร้างความคาดหวังว่าจะพาประเทศไทยพ้นเงาของอำนาจการเมืองที่ครอบงำประเทศมา

เป็นเวลากว่า 8 ปี นับตั้งแต่การยึดอำนาจโดยกองทัพภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2557 และนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลที่มีความเป็นประชาธิปไตย และเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมและนานาประเทศ

แต่การเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียวคงไม่ใช่เป็นคำตอบว่าทุกอย่างจะดีขึ้น การเลือกตั้งเป็นเพียงกระบวนการทางการเมืองที่ให้โอกาสประชาชนเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ด้านการบริหารและนิติบัญญัติ แต่ผลลัพธ์ปลายทางจะเป็นไปตามคาดหวังของคนที่ออกใช้สิทธิ์เลือกตั้งแค่ไหนเป็นสิ่งที่ยังไม่มีใครให้หลักประกันได้

แต่สิ่งหนึ่งที่ควรจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ก็คือการที่พรรคการเมืองที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหน

นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้ประกาศว่าพร้อม “เทหมดหน้าตัก” เพื่อผลักดันนโยบายที่ใช้หาเสียงไว้ให้เป็นจริง แต่คำพูด ถึงแม้จะดูว่าเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและมาจากผู้บริหารสูงสุดของรัฐบาล ก็อาจจะไม่ใช่เป็นหลักประกันว่านโยบายทั้งหลายที่ชูในช่วงเลือกตั้งหรือที่ได้แถลงต่อรัฐสภาจะเป็นสิ่งจะถูกนำไปปฏิบัติจริง

ประสบการณ์ในอดีตเป็นสิ่งเตือนใจเสมอว่าความฝันที่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองวาดไว้หรือรับปากไว้กับความเป็นจริงมักจะสวนทางกันเสมอ

อนาคตประเทศควรอยู่ในมือประชาชน

ไทยพีบีเอสมีความเชื่อว่าการเลือกตั้งไม่ควรเป็นเพียงเวทีของการแข่งขันเพื่อเข้าสู่อำนาจสำหรับนักการเมืองหรือพรรคการเท่านั้น แต่ควรเป็นโอกาสของประชาชนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงและกำหนดอนาคตของประเทศ

และนั่นหมายความว่าบทบาททางด้านการเมืองของประชาชนจะต้องไม่ถูกจำกัดอยู่แค่การออกไปหย่อนบัตรเลือกตั้งเหมือนที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ยังต้องมีส่วนร่วมในการเฝ้าดูและตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองที่ได้รับมอบอำนาจบริหารประเทศอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการติดตามการดำเนินการตามนโยบายทั้งหลายที่โฆษณาไว้ในช่วงหาเสียงและที่แถลงไว้กับรัฐสภา

ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนยังมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ผู้ที่ได้รับความไว้วางใจผ่านการเลือกตั้งให้บริหารจัดการหรือแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปากท้อง ปัญหาสังคม ความเหลื่อมล้ำ หรือความยุติธรรม ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในนโยบายของพรรคการเมืองหรือของรัฐบาลที่บริหารประเทศ แต่เป็นเรื่องที่สร้างความเดือดร้อนหรือเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับประชาชน

ในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง ไทยพีบีเอสในฐานะสื่อสาธารณะได้เล็งเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการส่งเสียงให้กับนักการเมืองและพรรคการเมืองรับรู้ถึงปัญหาต่างๆ ที่สังคมไทยกำลังเผชิญและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ไทยพีบีเอสได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และระดมความคิดเพื่อเสนอเป็นนโยบายให้กับพรรคการเมืองทั้งหลายที่ลงสมัครเลือกตั้งครั้งที่ผ่าน สิ่งที่ถูกกลั่นกรองออกมาจากเวทีเหล่านี้เป็นภาพของอนาคตของประเทศไทยที่เราเรียกว่า “post-election scenario” หรือ “ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ ที่รออยู่ข้างหน้า พร้อมกับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อนำเสนอให้พรรคการเมืองทั้งหลายพิจารณานำไปสู่การปฏิบัติ

ภาพอนาคตเหล่านี้ได้รับการขยายและใส่มุมมองเพิ่มเติมอย่างกว้างขวางจากกิจกรรมที่มีชื่อว่า “Hack Thailand 2575 : ภารกิจพลิกโฉมประเทศไทยสู่ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง” ที่ไทยพีบีเอสจัดขึ้นร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงคนคนรุ่นใหม่และกลุ่ม start-ups ทางด้านนวัตกรรม และถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้เห็นกิจกรรมที่เรียกว่า hackathon ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการระดมความคิดสร้างสรรค์ทางด้านการเมืองและสังคม โดยมีผู้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาสำคัญ ๆ ของประเทศผ่านช่องการสื่อสารยุคใหม่เป็นเวลากว่าสองวันสองคืนติดต่อกัน

ข้อสรุปจากกิจกรรมระดมความเห็น “post-election scenario” และเวที Hack Thailand 2575” ถูกใช้เป็นเนื้อหาหลักใน “เวทีดีเบตใหญ่ ไทยพีบีเอส” ซึ่งเป็นเวทีประชัญวิสัยทัศน์ที่จัดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง มีตัวแทนเข้าร่วมจากพรรคการเมืองอย่าง พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อชาติ และพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งผู้ร่วมเวทีทุกคนให้คำมั่นสัญญาที่จะนำข้อเสนอจากภาคประชาชนเหล่านี้ไปพิจารณาประกอบเป็นนโยบายของพรรค

นโยบาย vs การหาเสียง

รัฐบาลที่ประกอบด้วยพรรคร่วม 11 พรรคภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินได้เริ่มทำหน้าอย่างเต็มตัวแล้วหลังการถวายสัตย์ปฏิญาณตนและแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และความคาดหวังของประชาชนก็คือการได้เห็นนโยบายทั้งหลายที่หาเสียงไว้และที่แถลงในสภานำไปสู่การปฏิบัติ พร้อม ๆ กับข้อเสนอแนะจากภาคประชาชน

ถึงแม้นายกรัฐมนตรีเศรษฐาได้แสดงความเชื่อมั่นว่านโยบายที่ได้แถลงไปจะเป็นเครื่องมือให้กับรัฐบาลในการวางรากฐานและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ให้กับประเทศในสี่ปีข้างหน้า แต่นโยบายในหลายด้านถูกนักการเมืองฝ่ายค้านและนักวิชการบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่าขาดทิศทาง รายละเอียด เป้าหมายและตัวชี้วัด ตลอดจนไม่ได้ครอบคลุมคำมั่นสัญญาที่พรรครัฐบาลได้ให้ไว้กับประชาชนในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง จนได้รับการขนานนามต่างต่างนา ๆ ไม่ว่าจะเป็น “นโยบายไม่ตรงปก” “ต่ำกว่ามาตรฐาน” หรือ “เป็นเพียงคำอธิษฐาน”

แต่ไม่ว่าคำวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อนโยบายของรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร สิ่งที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภาก็คือว่าเป็นคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน และเป็นคำมั่นสัญญาที่ผูกมัดรัฐบาลและต้องถูกประเมินและตรวจสอบอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ และนี่คือที่มาของ “Policy Watch จับตาอนาคตประเทศไทย”

“Policy Watch จับตาอนาคตประเทศไทย” เป็นความคิดริเริ่มของไทยพีบีเอสร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรในด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างการมืส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ องค์กรภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปในการเฝ้าติดตาม ตรวจสอบ และประเมินการดำเนินการตามนโยบายทั้งหลายของรัฐบาล ผ่านบทวิเคราะห์ บทความเห็น การสัมภาษณ์ และการสำรวจความคิดเห็น

การตรวจสอบและประเมินนโยบายของรัฐบาลจะนำเสนอผ่านสื่อในรูปแบบและช่องทางต่าง ๆ ของไทยพีบีเอส ไม่ว่าจะเป็นในรายการข่าว และรายการวิเคราะห์การเมืองทางสถานีโทรทัศน์ และทางเว็บไซต์ Policy Watch ที่ถูกออกแบบมาเฉพาะเพื่อการนี้ และสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ของไทยพีบีเอส

ไทยพีบีเอสจะดำเนินการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับนโยบาย ข่าว และบุคคลที่เกี่ยวข้อง มาจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อสามารถนำข้อมูลมาใช้ทั้งการวิเคราะห์ และติดตามนโยบาย เพื่อให้ประชาชนได้เห็นภาพการทำงานของรัฐบาล ความเคลื่อนไหว ข้อดี ปัญหา ผลกระทบ ที่เกิดขึ้นนำเสนอในรูปแบบ Data Visualization และ Infographic ที่เข้าใจง่าย

ในเบื้องต้นจะให้ความสำคัญกับนโยบายใน 8 ประเด็นที่กลั่นกรองมาจากนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา และจากข้อเสนอแนะจากภาคประชาชนในเวทีต่าง ๆ ที่ไทยพีบีเอสได้จัดขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 1.การแก้รัฐธรรมนูญ 2.บริหารงานภาครัฐ 3.สิ่งแวดล้อม 4.เศรษฐกิจ 5.การเกษตร 6.การศึกษา 7.สังคม คุณภาพชีวิต 8.การต่างประเทศ

“Policy Watch จับตาอนาคตประเทศไทย” เปรียบเสมือนเป็นคู่มือที่ช่วยให้ประชาชนได้รับรู้ความคืบหน้าและผลของการนำนโยบายเหล่านี้ไปปฏิบัติ พร้อม ๆ กับการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและแสดงความเห็นในเรื่องที่มีความหมายและมีความสำคัญต่อชีวิตและความเป็นอยู่

ความคาดหวังของไทยพีบีเอสก็คือ เมื่อถึงวันที่ต้องเดินเข้าคูหาเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประชาชนจะเห็นภาพชัดเจนว่าพรรคการเมืองใดบ้างได้ทำตามความมั่นสัญญาและจริงจังกับการดำเนินนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และนั่นควรจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการตัดสินใจในการเลือกอนาคตของประเทศอีกครั้ง

เพราะฉะนั้นเราจึงขอเชิญชวนทุกท่านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ “Policy Watch จับตาอนาคตประเทศไทย” เพราะสุดท้ายแล้ว คนที่ควรมีบทบาทในการกำหนดอนาคตประเทศไทยมากที่สุดไม่ใช่นักการเมืองและพรรคการเมือง แต่เป็นประชาชนทุกภาคส่วน

อ่านข่าวอื่น ๆ 

นโยบายต่างประเทศของไทย ความท้าทายในโลกยุคแบ่งขั้ว-เลือกข้าง

Harm Reduction โจทย์ใหม่ รัฐบาลเศรษฐา

นโยบายเศรษฐกิจ “ติดหนี้” เมื่อรัฐบาลก้าวไม่พ้นประชานิยม

"เศรษฐา" ต้อนรับไฟลท์แรก "วีซาฟรี" มอบพวงมาลัย-กางเกงช้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง