20 ปี เรียกร้องที่ดินทำกิน “สวนปาล์มกระบี่” ปัญหาที่ยังไม่เห็นทางออก

ภูมิภาค
26 ต.ค. 66
09:24
440
Logo Thai PBS
20 ปี เรียกร้องที่ดินทำกิน “สวนปาล์มกระบี่” ปัญหาที่ยังไม่เห็นทางออก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปี 2546 ชาวบ้านจากทั่วภาคใต้ หลายหมื่นคนรวมตัวหน้าศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี เรียกร้องรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร นำที่ดินหมดสัมปทาน ใน จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่ และนครศรีธรรมราช กว่า 1 แสนไร่ มาจัดสรรให้กับผู้ไม่มีที่ดินทำกิน ซึ่งกระบี่มากที่สุดกว่า 7 หมื่นไร่

หลังตรวจสอบพบว่า ที่ดินซึ่งบริษัทเอกชนทำสัญญาเช่ากับกรมป่าไม้ เป็นระยะเวลา 30 ปีหมดลง จนนำไปสู่มติ ครม.ในปีเดียวกัน เนื่องจากผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทย เชื่อว่าจะได้ฐานเสียงเพิ่มในพื้นที่ภาคใต้ และยังเป็นการตัดท่อน้ำเลี้ยง กลุ่มทุนธุรกิจสวนปาล์มน้ำมัน ที่ให้การสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์

สภาพปัญหา

ตลอดการต่อสู้เรียกร้อง นับตั้งแต่ปี 2546 มีการจัดตั้งกลุ่มมีชื่อเรียกแตกต่างกัน บุกเข้าไปปักหลักเรียกร้องภายในสวนปาล์มน้ำมัน ด้วยการก่อสร้างเพิงพักชั่วคราว เคลื่อนไหวด้วยการเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อตัวแทนเจ้ากระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด นับครั้งไม่ถ้วน

ขณะที่แกนนำบางกลุ่ม มีการเรียกเก็บเงินกับบรรดาสมาชิก โดยอ้างเป็นค่าดำเนินการ มีการถ่ายรูปขณะเข้ายื่นหนังสือ พร้อมแจ้งความคืบหน้าว่า บัดนี้หน่วยงานเกี่ยวข้องรับทราบปัญหาแล้ว จนกระบี่ถูกเรียกขานว่า “เมือง ม็อบสวนปาล์ม”

ความรุนแรง

หลังบริษัทหมดสัญญาสัมปทาน ยังมีการใช้ประโยชน์เกี่ยวข้องผลผลิตน้ำมันอย่างต่อเนื่อง บางบริษัทใช้วิธีการแบ่งผลประโยชน์ให้กับผู้นำท้องถิ่น ช่วยผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่ รวมถึงสร้างเงื่อนไขยื่นร้องต่อศาลช่วยคุ้มครอง ในลักษณะการขออนุญาตเก็บหาของป่า แบบปีต่อปีจากทางจังหวัด ก่อนยืมมือเจ้าหน้าที่เข้าสลายให้กลุ่มผู้เรียกร้อง ที่มีทั้งคนชรา และสตรีออกจากพื้นที่

เนื่องจากผลประโยชน์จากเก็บผลผลิตต่อแปลง รวมพื้นที่หลายพันไร่ มูลค่าเดือนหลายร้อยล้านบาท “ไม่นับรวมการซุ่มทำร้าย เป็นสาเหตุให้แกนนำและชาวบ้านเสียชีวิตตลอดการเรียกร้องแล้วเกือบ 20 คน บาดเจ็บอีกจำนวนมาก”

คำสั่ง คสช.ไร้ผล

ปี 2558 หรือนับตั้งแต่ คสช.เข้ามา เหตุความรุนแรงในพื้นที่ จ.กระบี่ ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา โดยมีทหารเป็นหน่วยงานหลัก ด้วยการเรียกร้องแกนนำผู้เรียกร้องที่ดินทำกิน ซึ่งขณะนั้นมีอยู่ทั้งหมด 9 กลุ่ม ไปเจรจาภายในมณฑลทหารบกที่ 43 ค่ายเทพสตรีศรีสุนทร ต.กะปาง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช

ขอให้กลุ่มผู้เรียกร้องย้ายออกจากพื้นที่แกมบังคับว่า “หากไม่ยอมปฏิบัติก็พร้อมจะบังคับใช้กฎหมายทหาร จับกุมมาขังได้ทันที โดยไม่ต้องส่งฟ้องศาล” แต่คำมั่นสัญญา ที่ตัวแทนคณะ คสช. ให้ไว้กับชาวบ้านคือ จะเรียกทางบริษัทมาเจรจา เพื่อให้ออกจากพื้นที่เช่นเดียวกัน เป็นการเคลียพื้นที่ให้เป็นศูนย์ ชาวบ้านจึงยอมย้ายออก พบว่าเอกชนยังคงครอบครองใช้ประโยชน์มาจนถึงปัจจุบัน

รัฐเสนอทางออกการแก้ปัญหา ยึดคืนแล้วจัดสรรให้ชาวบ้านร้อยละ 50 ความวุ่นวาย ความรุนแรงที่เกิดขึ้น สำหรับการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างอดีตผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 สาขากระบี่ มีข้อเสนอแบ่งเป็น 2 แนวทางคือ ให้กรมป่าไม้ยึดคืนที่ดินสวนปาล์มหมดสัมปทานทั้งหมด มาจัดสรรให้กับผู้ไม่มีที่ดินทำกินร้อยละ 50

ส่วนอีกร้อยละ 50 อนุญาตให้เจ้าของสัมปทานเดิม ที่ไม่เคยกระทำผิดเงื่อนไขเช่าต่อ หรือเสนอให้มีการยกเลิก มติ ครม.ปี 2546 ที่ใช้ครอบคลุมเฉพาะ จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่ และนครศรีธรรมราช เพื่อยุติปัญหา โดยแนวทางแรกชาวบ้านยอมรับได้ แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากกรมป่าไม้

ภาคประชาชนเสนอทางออกการแก้ปัญหา ยึดคืนแล้วจัดตั้งธนาคารที่ดิน
ขณะที่ภาคประชาชนผู้ติดตามปัญหาการเรียกร้องที่ดินของ จ.กระบี่ มาเป็นเวลานาน เสนอแนวคิดในการจัดตั้งธนาคารที่ดิน มีหน้าที่รวบรวมที่ดินสวนปาล์มน้ำมัน หมดสัมปทานทุกแปลง จากนั้นให้ชาวบ้านรวมกลุ่มมายื่นมากู้ แทนการให้ขาด แต่ให้ระยะเวลาในการกู้ระยะยาวตั้งแต่ 60 ปี ไปจนถึง 90 ปี

ส่วนผู้ที่กู้ต้องมีแผนที่ชัดเจนว่า จะนำที่ดินไปทำอะไร หรือปลูกอะไร เพื่อให้เหมาะกับบริบทของพื้นที่ เพราะหากปลูกพืชซ้ำซ้อนกัน ในอนาคตอาจนำไปสู่ปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำ และที่สำคัญต้องใช้ยาแรง ปรับพื้นที่ให้เป็นศูนย์ด้วยการทำลายผลอาสินทั้งหมด เพื่อไม่ให้เป็นข้ออ้างว่า ที่สวนปาล์มน้ำมันแปลงนั้น ยังเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ จนนำไปสู่ความขัดแย้งเหมือนที่ผ่านมา

แต่ต้องจำแนกผู้เรียกร้องที่ดินทำกิน ออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ไม่เคยเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ หรือไม่เคยครอบครองที่ดินมาก่อน และกลุ่มที่เคยมีที่ดินแต่ต้องการนำไปขายให้นายทุน เพื่อใช้จ่ายเมื่อครอบครัวขาดสภาพคล่อง แนวคิดธนาคารที่ดิน จึงเป็นทางออกในการเก็บเกี่ยวรายได้จากที่ดินที่กู้ไป เพื่อเก็บเงินไว้ซื้อที่ดินเป็นของตัวเอง

ส่วยสวนปาล์มสูตร 4-3-3

เหตุผลสำคัญที่กรมป่าไม้ ไม่สามารถนำที่ดินหมดสัมปทาน ตั้งแต่ 10 ปี ไปจนถึง 20 ปี มาจัดสรรให้กับคนจนได้ เป็นการสมยอมผลประโยชน์ระหว่างเอกชนบางบริษัท กับเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงาน โดยแกนนำกลุ่มเรียกร้องที่ทำกิน เปิดกับทีมข่าวไทยพีบีเอสว่า

ตนเป็นหนึ่งผู้รวบรวมเงิน ที่ได้จากการเข้าไปเก็บเกี่ยวทลายปาล์ม เนื้อที่ 1,100 ไร่ เฉพาะพื้นที่หมู่ 7 ต.ปลายพระยา อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ ส่งให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานหนึ่งในพื้นที่ เฉลี่ยเดือนละ 2 แสนบาท ทุก ๆ วันที่ 5 ของเดือน

เงินดังกล่าว จะถูกนำแบ่งให้กับเจ้าหน้าที่ 3 หน่วยงาน ภายใต้สูตร 4-3-3 คือ หน่วยงานที่ 1 ร้อยละ 40 หน่วยงานที่ 2 ร้อยละ 30 และหน่วยงานที่ 3 ร้อยละ 30 ไม่นับรวมหมู่บ้านใกล้เคียงอีก 4-5 หมู่บ้าน เฉลี่ยเจ้าหน้าที่จะได้รับเงินรวมเดือนละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท “กลุ่มเรียกร้องที่ดินทำกิน จึงมีสถานะเพียง คนงานรับจ้างตัดปาล์ม

กนป.หนุนปลูกป่าทดแทนสร้างคาร์บอนเครดิตแทนการจัดสรร

ขณะที่ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ หรือ ( กนป.) สนับสนุนงบประมาณระยะยาว กว่า 300 ล้านบาท ให้กรมป่าไม้ ทยอยปรับพื้นที่ล้มสวนปาล์มน้ำมัน กว่า 7 หมื่นไร่ ทั้ง จ.กระบี่ เพื่อปลูกป่าทดแทนผลิตคาร์บอนเครดิต หวังสร้างรายได้ท้องถิ่น นำไปประกาศขายโรงงานอุตสาหกรรมในต่างประเทศ (ที่สำคัญเป็นการทำลายพื้นที่สวนปาล์มน้ำมัน ลดผลผลิตจากพื้นที่หมดสัมปทาน หรือพื้นที่ผิดกฎหมาย) แทนการจัดสรรให้กับผู้ที่ดินทำกิน

ล่าสุดเริ่มมีการเคลื่อนไหวคัดค้าน แนวคิดการสร้างพื้นที่คาร์บอนเครดิต โดยให้เหตุผลว่า เป็นการรองรับกลุ่มทุน หรือผลประโยชน์ส่วนน้อย แทนการสร้างฐานความมั่นคงให้กับคนจน ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

ปัญหาใหม่ที่กำลังจะมีขึ้น

การนำร่องตั้งเป้าล้มสวนปาล์มน้ำมัน กว่า 5,000 ไร่ ของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 สาขากระบี่ ในปีแรกนั้น ดำเนินการได้เพียง 1 วัน ล้มต้นปาล์มได้เพียง 100 ไร่ เป็นอันต้องสะดุดลง หลังทนายความตัวแทนเจ้าของสัมปทานเดิม เข้ายื่นขอคุ้มครองต่อศาล มีการอ้างเอกสาร “ไม่มีที่มาที่ไป” ว่า ซื้อที่ดินมาจากชาวบ้านตั้งแต่ ปี 2522

เป็นที่สังเกตว่า หากบริษัทซื้อเอกสารการครอบครองสิทธิ์มาตั้งแต่ปี 2522 จริง เหตุใดในปี 2526 ทางบริษัทจึงยืนขอสัมปทานกับกรมป่าไม้ (บนที่ดินของตัวเอง ) และสัญญาจะสิ้นสุดในปี 2556 รวมระยะเวลา 30 ปี เหตุใดยังมีความพยายามใช้ประโยชน์อยู่

ขณะที่ตัวแทนกรมป่าไม้ ยืนยันว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าว มีการประกาศเป็นเขตป่าถาวร ตั้งแต่ ปี 2515 จากนั้นในปี 2525 ถูกประกาศให้เป็นเขตป่าlงวนแห่งชาติป่าคลองพระยา หรือมีขึ้นก่อนสัญญาสัมปทาน 1 ปี

มูลปัญหาที่แท้จริง พบมีอยู่ 3 ปัจจัยคือ
1.บุกรุกหรือเข้าครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ
2.ทำประโยชน์เกินกว่าที่ขออนุญาตไว้
3.หมดอายุสัญญาเช่า แต่ยังคงเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ต่อไป

กวีวงศ์ ธีระกุล ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง