กรณีศึกษาของ CERN ที่วิทยาศาสตร์ไม่ต้องขายของได้

Logo Thai PBS
กรณีศึกษาของ CERN ที่วิทยาศาสตร์ไม่ต้องขายของได้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จริงหรือไม่กับความเชื่อที่ว่าวิทยาศาสตร์และงานวิจัย ต้องนำมาซึ่งธุรกิจ การสนับสนุนงานวิจัยเชิงการค้ามีความจำเป็นต่อประเทศแค่ไหน มองกรณีของ CERN องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป หน่วยงานวิจัยที่ทำงานวิทยาศาสตร์พรมแดน (Frontier Science) ที่น่าตั้งคำถามว่า เหตุใด

เป็นเวลากว่า 3 ปีที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปลี่ยนเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยใน พ.ร.บ. สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติได้มีการให้นิยามของคำว่า “นวัตกรรม” ไว้ว่า “ผลิตภัณฑ์ สิ่งประดิษฐ์ บริการ กรรมวิธีที่เกี่ยวกับการผลิต การจัดโครงสร้างองค์กร ระบบบริหารจัดการ การบริหารการเงิน ธุรกิจ การตลาด หรือในการอื่นใด ทั้งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่หรือพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญและนำไปใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้างทั้งในเชิงพาณิชย์ และสาธารณะ” ซึ่งจะสังเกตได้ว่า มีการเพิ่มคำว่านวัตกรรมเข้ามาในชื่อกระทรวง และได้พูดถึงการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และสาธารณะ

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่านวัตกรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในการพัฒนาประเทศ และเป็นสิ่งที่ได้มาจากการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่จริง ๆ แล้วบ่อเกิดของนวัตกรรมคืออะไร และการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นสร้างนวัตกรรมได้อย่างไร

บทความนี้ ชวนมองกรณีขององค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (CERN) ที่เป็นหนึ่งในหน่วยงานวิจัยวิทยาศาสตร์พรมแดน (Frontier Science) ที่หมายถึงการศึกษาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ เช่น ฟิสิกส์ หรือคณิตศาสตร์ ว่าเหตุใดในทุก ๆ ปี จึงมีการทุ่มเงินมหาศาลเพื่อทำให้หน่วยงานนี้ดำเนินการได้อยู่ ทั้งที่คนทั่วไปอาจไม่ได้ยินชื่อนี้มานานตั้งแต่ข่าวใหญ่เรื่องการค้นพบอนุภาคฮิกส์โบซอน (Higgs Boson) ในปี 2012 ที่ผ่านมา

ในปี 2022 CERN ได้รับการอนุมัติงบประมาณสนับสนุนจากประเทศสมาชิกในกลุ่มยุโรปมากกว่า 1,400 ล้านฟรังก์สวิส คิดเป็นเงินไทยประมาณ 56,000 ล้านบาท โดยเงินเหล่านี้ประกอบไปด้วยค่าทุนวิจัย ค่าใช้จ่ายในการวิจัยด้านฟิสิกส์ ทุนการศึกษา ค่าอุปกรณ์การทดลอง และการบำรุงดูแลเครื่องจักรที่มูลค่าสูงที่สุดในโลกอย่าง เครื่องเร่งอนุภาค Large Hadron Collider (LHC) ที่มีมูลค่าสูงเกือบ 200,000 ล้านบาท และนับเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีราคาแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ รองจากสถานีอวกาศนานาชาติ

ในเว็บไซต์ของ CERN ระบุว่า เป้าหมายของ CERN “คือการศึกษาว่าจักรวาลถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร และมีกลไกการทำงานอย่างไร ผ่านเครื่องเร่งอนุภาค ที่จะช่วยเพิ่มขอบเขตของความรู้ของมนุษยชาติ” ซึ่งสิ่งนี้อาจนำมาซึ่งคำถามว่า แล้วประชาชนผู้จ่ายภาษีได้อะไรจากการจ่ายเงินปริมาณมหาศาลให้นักฟิสิกส์กลุ่มหนึ่งที่หมกมุ่นกับคำถามว่าจักรวาลถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร

แต่หากเราย้อนมองในประวัติศาสตร์แล้ว เทคโนโลยี นวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ ล้วนมีบ่อเกิดมาจากการทำงานวิทยาศาสตร์และการค้นพบใหม่ ๆ หากไม่มีการทดลองทางไฟฟ้า ทุกวันนี้การนำไฟฟ้ามาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ หรือแม้กระทั่ง CERN เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยี World Wide Web (WWW) ที่เราใช้กันในปัจจุบัน

เราจึงอาจมองได้ว่าองค์กรเหล่านี้คือบ่อเกิดของนวัตกรรม ที่การตั้งคำถาม การศึกษา จะนำพามนุษย์เดินหน้าไปค้นพบสิ่งใหม่เสมอ การตั้งคำถามลักษณะ “เครื่องเร่งอนุภาคจะสามารถทำเงินให้กับประเทศได้เท่าไหร่ มีระยะเวลากี่ปี” จึงอาจเป็นคำถามที่ไม่ตรงจุด เพราะหากเรามองว่าวิทยาศาสตร์เป็นกระบวนการคิด ผลจากวิทยาศาสตร์ก็ควรเป็นกระบวนการคิดเช่นกันไม่ใช่ผลิตภัณฑ์

รูปแบบการจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนของ CERN นั้นก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ประเทศสมาชิกต้องจ่ายเงินตามรายได้ของประเทศ โดยคิดจากปัจจัยเช่น Gross National Product (GNP) หรือ Gross Domestic Product (GDP) เป็นต้น นั่นทำให้ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ ก็มาพร้อมกับภาระในการต้องสนับสนุนหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์นี้อย่างไม่มีเงื่อนไข

กรณีของ CERN นั้นเป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของการสนับสนุนองค์กรด้านวิทยาศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ โดยองค์กรอื่น ๆ ที่มีลักษณะการดำเนินการใกล้เคียงกัน เช่น ห้องวิจัย LIGO (Laser Interferometer Gravitational-Wave Observatory) ในสหรัฐฯ หรือ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ของประเทศไทย ที่มีการศึกษาศาสตร์เชิงลึก ที่อาจยากจะมองเป็นผลิตภัณฑ์ทางเศรษฐกิจได้โดยตรง

สิ่งนี้จึงน่าทำให้เรากลับมามองย้อนกระบวนการจัดการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศของเราว่า เราได้ออกแบบโครงสร้างและรูปแบบการสนับสนุนงานวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์มากเพียงใด และรูปแบบการให้ทุนนั้นเหมาะสมกับลักษณะงานหรือไม่ และเราจะออกแบบการวัดผลอย่างไร

นี่จึงเป็นความท้าทายสำหรับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่จะต้องคอยเลี้ยงสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้นักวิทยาศาสตร์ สามารถทำงานวิจัยได้ ในขณะที่สามารถหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนกระบวนการนี้ได้ด้วยเช่นกัน

ที่มาภาพ: CERN

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง