แนวรบรอบด้าน "ความมั่นคงไทย" โจทย์หินรัฐบาล

การเมือง
30 ต.ค. 66
14:31
513
Logo Thai PBS
แนวรบรอบด้าน "ความมั่นคงไทย" โจทย์หินรัฐบาล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ยังขาดคนคัดท้าย นโยบายความมั่นคงของรัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้การนำของ "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี แม้ "เศรษฐา" จะนั่งเป็น ผอ.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (รมน.) โดยตำแหน่ง และมอบหมายให้ภารกิจกำกับดูแลศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้ สร. 2 "สมศักดิ์ เทพสุทิน" รับผิดชอบ

แต่ "สมศักดิ์" กลับไม่ใช่รองนายกฯ ที่กำกับดูแลงานทางด้านความมั่นคง แม้ล่าสุดจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) พิจารณาการต่ออายุ-ขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วก็ตาม

ขณะที่ยังไม่ชัดเจนว่า งานของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ "สมศักดิ์" ด้วยหรือไม่ แต่ขณะนี้ สร.2 มีคำสั่งแต่งตั้ง พล.อ.ประชาพัฒน์ วัจนะรัตน์ เป็นที่ปรึกษารองนายกฯ มีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษาและเสนอแนะต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในการบริหารราชการ และปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย

สำหรับ พล.อ.ประชาพัฒน์ ไม่ใช่นายทหาร "สายเหยี่ยว" หรือ "สายพิราบ" แต่เป็นอดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย

ขณะที่ตำแหน่งเลขาฯ ศอ.บต.คนใหม่ คือ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน "ลูกหม้อเก่า" กระทรวงยุติธรรม "น้องรัก" พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง หัวหน้าพรรคประชาชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และเป็นอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของ "สมศักดิ์" เมื่อครั้งเป็น รมว.ยุติธรรม ข้ามห้วยลงมาคุม

ขณะที่ตำแหน่ง เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หลังจาก พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ล่วงเลยมาเกือบ 1 เดือนแล้ว ยังไม่แต่งตั้งใครดูแลภารกิจแทน

"ไทย" ต้องเผชิญหลายศึกรุมเร้า

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ วิเคราะห์ว่า ปัญหาดังกล่าว อาจเกิดจากรัฐบาลมีประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับฝ่ายความมั่นคง คือ ทหาร จึงส่งผลต่อความวางใจ และทำให้ภารกิจด้านนี้ถูกลดความสำคัญ ทั้งที่งานด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและต่างประเทศ ถือเป็นฐานสำคัญหลักของรัฐบาล ทั้งหมดควรขับเคลื่อนพร้อมกันเพื่อให้เกิดความสมดุลและมีเสถียรภาพมั่นคง

รัฐบาลเน้นแก้ปัญหาเศรษฐกิจมากกว่าปัญหาอื่นๆ มีผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าหลายคน จึงให้ค่างานด้านความมั่นคงน้อย แต่ก็ไม่ถึงกับหักขาทหาร ไม่เช่นนั้นระบบคงอยู่ไม่ได้

รศ.ดร.ปณิธาน บอกว่า ปัจจุบันปัญหาความมั่นคงของไทยมีหลายเรื่องรุมเร้า ทั้งนอกประเทศและในประเทศ การสู้รบระหว่างปาเลสไตน์และฮามาส ส่งผลกระทบแรงงานไทย ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

อีกทั้งปัญหาใหญ่แถบชายแดนภาคเหนือจะเกิดขึ้นจากปัญหาภายในเมียนมาคือ การสู้รบ ซึ่งพบความเคลื่อนไหวว่า มีการระดมกำลังรบอย่างเข้มข้นในหลายจุด และคาดว่าปี 2567จะหนักขึ้นกว่าปีนี้

มีการคาดการณ์กันว่า ความรุนแรงในเมียนมาที่จะเกิดขึ้นจาก 3 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มทหารเมียนมา ที่ควบคุมพื้นที่ได้น้อยลง กลุ่มทหารเมียนมาที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน และมีจีนเข้ามาบริหารจัดการ และกลุ่ม PDF หรือกลุ่มกองกำลังประชาชน ซึ่งสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุน เริ่มลุกขึ้นสู้ในหลายพื้นที่แล้ว

ส่วนที่เหลือคือ กลุ่มติดอาวุธตามแนวชายแดนที่ไทยต้องบริหารจัดการ ความซับซ้อนของงานด้านความมั่นคง คือ ความรุนแรงทุกกลุ่มเริ่มเข้มข้นขึ้น ฝั่งแนวชายแดนก็รุ่งเรืองเพราะได้เงิน ฝั่งกลุ่มกองกำลังประชาชนก็เข้มแข็ง ส่วนกลุ่มทหารเมียนมาก็ยึดพื้นที่ไว้ ไม่ยอมถอย ด้านสหรัฐฯ ที่เพิ่งเข้าไปได้ก็มีรัฐสภาที่สนับสนุนเรื่องเงินและอาวุธ สถานการณ์เหล่านี้ยิ่งน่าเป็นห่วงขึ้นในปีหน้า

เตือนระวังถูกบีบแบ่งฝ่าย-เลือกข้าง

รศ.ดร ปณิธาน ยังตั้งข้อสังเกตเรื่องการจัดแบ่งงบประมาณด้านความมั่นคงว่า ยังไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับความจำเป็นโดยพบความผิดปกติในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ และเหตุใดจึงไม่มีแผนสำรองตั้งแต่ครั้งแรก หากไม่ซื้อเรือดำน้ำจะซื้อเรือประเภทอื่นทดแทนหรือไม่

ในกรณีที่กองทัพจะซื้อเรือดำน้ำ หากไม่ซื้อจากสวีเดน จะมีแผนสำรองอื่น โดยซื้อจากเยอรมนี หรือจีน ที่เป็นคนละฝ่ายกันได้หรือไม่ เนื่องจากยังมีปัญหาความขัดแย้ง รวมทั้งปัญหาเครื่องยนต์จากเยอรมนีที่ติดเงื่อนไขหลายข้อ และไม่สามารถส่งออกได้ แต่ไทยยังคงดำเนินการซื้อต่อไป จึงถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติ

รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า กองทัพควรเปิดเผยข้อมูลวงเงินงบประมาณ และจัดตั้งกรรมการพิเศษเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าว ที่ผ่านมาไม่มีใครทราบว่ากองทัพมียุทธศาสตร์การซื้อของอย่างไร

หากซื้อแล้วจะใช้ไปรบกับใคร หรือถ้ามีแผนจะลงทะเลลึกไปร่วมกับสหรัฐฯ หรือจีนใน 20-30 ปีข้างหน้าก็ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ทราบโดยทั่วกัน

ปัจจุบันบางประเทศเลือกข้างแบบเปิดเผยแล้ว และไทยอาจถูกบีบบังคับให้เลือกข้างเช่นเดียวกัน ถ้าไปร่วมกันจีนเท่ากับว่าไทยจะรบกับสหรัฐฯ ถือเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

สงครามรัสเซีย-ยูเครน คือ ตัวอย่าง ยูเครนใช้อาวุธของรัสเซียรบกับรัสเซียเอง แต่ถ้าเราจะไปทางเยอรมนีหรือสวีเดน แปลว่าเราอาจต้องรบกับจีน เพราะเรือดำน้ำไม่ใช่เรือที่จะซื้อมาจอดทิ้งไว้ได้ จุดประสงค์ของเรือดำน้ำมีไว้เพื่อรบ และกองทัพควรแจ้งประชาชนให้ทราบว่าอาจเกิดสงครามขึ้นในอนาคตหรือไม่

ไฟใต้ "ยังเป็นโจทย์ใหญ่" ท้าทายรัฐบาล

สำหรับการแก้ปัญหาความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ นักวิชาด้านความมั่นคงระบุว่า ถือเป็นโจทย์ใหญ่ท้าทายรัฐบาล ผู้ที่เคยทำหน้าที่วิเคราะห์ปัญหาความมั่นคงให้ถูกลดบทบาทลง ทั้ง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร หรือ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต แม้พรรคเพื่อไทยจะมอบหมายให้ นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริยเดช ประสานกับหลายกลุ่ม แต่ปัญหาคือเลขานายกฯ มีอำนาจไม่เพียงพอ ทีมปฏิบัติการก็ไม่ได้ลงมือทำ จึงอยากจะให้มีการตัดสินใจที่เด็ดขาด เพื่อให้เกิดผลดีที่สุดกับไทย

ส่วนการที่นายสมศักดิ์ แต่งตั้ง พล.อ.ประชาพัฒน์ มาเป็นทีมที่ปรึกษารองนายกฯ ที่ดูแลปัญหาภาคใต้ ส่วนตัวมองว่า กรมรัฐธรรมนูญ คือ กรมฯ แม่บ้านที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ มีหน้าที่ควบคุมวินัย ระเบียบและกฎหมาย แต่ยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติการ การต่างประเทศและงานด้านชายแดน และยุทธศาสตร์เกี่ยวกับมหาอำนาจ

หากอดีตเจ้ากรมฯ เคยเป็นหน่วยรบพิเศษ อาศัยอยู่ที่ภาคใต้ เคยคุมกองกำลังหรือแม่ทัพภาค หรือรู้จักแม่ทัพน้อยที่ดูแลภาคใต้ คงไม่มีปัญหา แต่หากไม่มีประสบการณ์การทำงานด้านนี้มาก่อน ถือว่าเป็นภาระงานที่ยาก แม้จะมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แต่ต้องไม่ลืมว่าเรื่องการปฏิบัติการก็สำคัญไม่แพ้กัน

ส่วนตำแหน่งเลขาฯ ศอ.บต.คนใหม่ รศ.ดร.ปณิธาน ตั้งข้อสังเกตว่า พ.ต.อ.ทวี ต้องการวางตัวคนคุ้นเคยคือ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ ซึ่งอาจดูจากจุดแข็งบางอย่าง เช่น เรื่องเยาวชน ถือเป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มสุดโต่งในภาคใต้ ต้องยอมรับว่างานของศอ.บต.มีความซับซ้อนมาก และในอดีตก็มีปัญหาหลายด้าน

ขณะนี้ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ศอ.บต.จึงควรต้องปรับโครงสร้างใหม่ให้สอดคล้อง แม้เลขาฯ ศอ.บต.จะไม่เคยผ่านงานด้านนี้มาก่อน แต่เรียนรู้กันได้และเขาก็มาตามระบบ แต่อย่าลืมว่างานมวลชนของฝ่ายตรงกันข้ามเข้มแข็งขึ้นมาก

ดังนั้น ศอ.บต.จึงต้องปรับงานมวลชนให้เข้มข้นขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของกลุ่มพลังมวลชน และเยาวชนคนรุ่นใหม่ในรูปแบบที่เหมาะสมกว่าเดิม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง