วังวนสมรภูมิในเมียนมา 1 ใน 3 สงครามกลางเมืองที่ต้องจับตา

ภูมิภาค
31 ต.ค. 66
17:55
827
Logo Thai PBS
วังวนสมรภูมิในเมียนมา 1 ใน 3 สงครามกลางเมืองที่ต้องจับตา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทหารกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ ได้แก่ กองกำลังโกก้าง MNDAA , กองทัพแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติดาระอั้ง TNLA และกองทัพอาระกัน AA ยังคงใช้ปฏิบัติการทางทหารในภายใต้รหัส ‘Operation 1027’ กับกองทัพเมียนมา ใน 8 พื้นที่ของรัฐฉานตอนเหนือ ต่อเนื่องเป็นวันที่ 5

ขณะที่กองกำลังชาติพันธ์ติดอาวุธกะเหรียงคะยา KNPP ที่เคลื่อนไหวพื้นที่รัฐคะยา ตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ว่าจะเข้าร่วม ปฏิบัติการทางทหาร ‘Operation 1027’ กับกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพในรัฐคะยา

 

ส่วนพื้นที่ชายแดนตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แม้ว่าการปะทะของทหารกองกำลังปกป้องประชาชน หรือ พีดีเอฟ. ร่วมกับทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ เคเอ็นยู. ที่จังหวัดกอกาเลกจะยุติลงแล้ว แต่พื้นที่รอบนอกยังมีการปะทะต่อเนื่อง

 

รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่าสถานการณ์ที่กองทัพเมียนมาต้องเผชิญศึกหลายด้าน เป็นผลมาจากการที่กองทัพเมียนมาเปิดสมรภูมิสงครามกลางเมืองในหลากหลายพื้นที่ จึงเป็นจุดอ่อนทำให้ฝ่ายต่อต้านแต่ละพื้นที่สามารถช่วงชิง และ สร้างความอ่อนแอ่แก่กองทัพเมียนมาได้

 

การสู้รบที่เกิดขึ้นยังสะท้อนวงจรของสงครามกลางเมืองในเมียนมาที่หากเกิดการสู้รบในพื้นที่ใดสักระยะหนึ่งก็จะสงบลง และ ไปเกิดขึ้นในพื้นที่ของฝ่ายต่อต้านกลุ่มอื่นๆ โดยสิ่งที่ทางการไทยต้องจับตา คือ การเคลื่อนย้ายของผู้อพยพเข้ามาในประเทศไทย

 

ส่วนกลยุทธ์ในการจับตัวข้าราชการเมียนมาของฝ่ายต่อต้านในพื้นที่จังหวัดกอกาเลก อาจเป็นความพยายามเพื่อให้นานาประเทศหันมาให้ความสนใจสงครามกลางเมืองในเมียนมา ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สงครามที่เกิดขึ้นในโลก คือ ยูเครน ปาเลสไตน์ และ เมียนมา

 

ไม่ได้หมายความว่าการจับกุมข้าราชการในรัฐกะเหรี่ยง เป็นการเลียนแบบพฤติกรรมของกลุ่มฮามาส เพราะว่าในสงครามกลางเมือง การจับกุมตัวประกัน และ เจ้าหน้าที่ เป็นวิธีการทำสงครามจิตวิทยาปกติอยู่แล้ว

 

นายคืนใส ใจเย็น ผู้อาวุโสชาวไทใหญ่ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์สันติภาพและการเจรจาปีดองซู หรือ PI ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่สนับสนุนการเจรจาสันติภาพในเมียนมา ให้ความเห็นว่าการใช้ปฏิบัติการทางทหารในภายใต้รหัส ‘Operation 1027’ กับกองทัพเมียนมาจะขยายความรุนแรงขึ้น หรือไม่ ขึ้นอยู่กับฝ่ายต่อต้าน ทั้งนี้หากการสู้รบยืดเยื้อฝ่ายต่อต้านอาจมีปัญหา ขณะที่ในระยะยาวฝ่ายกองทัพเมียนมาอาจจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะได้รับความร่วมมือจากฝ่ายจีนหรือไม่

 

หากจีนไม่เห็นด้วย การที่จะรบต่อไปคงจะลำบาก แต่หากจีนเห็นด้วยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น เรื่องนี้ไม่เพียงเป็นแค่เรื่องการทหารอย่างเดียวแต่เกี่ยวข้องกับการทูตด้วย

 

นายคืนใส ยังให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า กลุ่มชาติพันธุ์ลงนามหยุดยิงกับเมียนมามาแล้ว 8 ปี หลักการใหญ่ คือ แก้ปัญหาการเมืองโดยวิถีทางการเมือง ไม่ใช้การทหาร ตราบใดที่ฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายใด ยังยึดถือการทหารเป็นวิถีทาง ก็จะมีปัญหาการสู้รบต่อไป

 

ด้านนายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล ระบุว่าเหตุความไม่สงบในประเทศเมียนมาที่เกิดขึ้นมากว่า 5 เดือนแล้ว ส่งผลให้มีผู้หนีภัยการสู้รบอพยพเข้ามาในประเทศไทย และ กระจายอยู่ในพื้นที่พักพิง 5 แห่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน

 

ล่าสุดทราบข่าวว่าทั้งหมดกำลังจะต้องเดินทางกลับ ท่ามกลางสถานการณ์สู้รบที่ยังมีความรุนแรงเกิดขึ้น จึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยพิจารณาถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้หนีภัย

 

ถึงแม้ผู้หนีภัยจะกลับไปแล้วแต่ยังต้องอยู่ในศูนย์พักพิง โดยปัจจัยพื้นฐานที่จะส่งไปบรรเทาทุกข์ วันนี้ยังจำเป็นต้องอาศัยประเทศไทย เพราะอยู่ประชิดชายแดน

 

ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล ยังแสดงความกังวลถึงผลกระทบต่อกลุ่มผู้หนีภัยการสู้รบที่เป็นคนกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ซึ่งบางส่วนไม่ได้เรียนหนังสือมาแล้ว 2 ปี ทั้งที่การศึกษาถือเป็นเรื่องสำคัญที่ควรได้รับการส่งเสริม และ สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

พยุงศักดิ์ ศรีวิชัย ผู้สื่ออาวุโสข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง