ไขคำตอบ! "แย้มธี่หยด"ไม่ใช่ผีเข้า โรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน

สังคม
3 พ.ย. 66
20:03
22,015
Logo Thai PBS
ไขคำตอบ! "แย้มธี่หยด"ไม่ใช่ผีเข้า โรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สถาบันประสาทวิทยา ตอบมุมหมอ "แย้ม" จากหนังดังธี่หยด เป็นอาการโรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน anti-NMDAR มีอาการคล้ายผีเข้า หากรักษาล่าช้า อาการอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

วันนี้ (3 พ.ย.2566) นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผอ.สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวว่า จากกระแสดังของ “ธี่หยด” ภาพยนตร์ไทยแนวสยองขวัญ ซึ่งบอกเล่าเอาไว้บนกระทู้พันทิป กระทั่งกลายเป็นนิยายขายดีในช่วงที่ผ่านมา จากอาการของ “น้องแย้ม” เป็นตัวละครหลักของเรื่องที่มีอาการ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่สามารถขยับตัวหรือควบคุมตัวเองได้ทั้งยังมีอาการสับสน หูแว่ว ประสาทหลอนและมีนิสัยก้าวร้าว ต่างไปจากนิสัยเดิม จึงทำให้เข้าใจว่า เธออาจถูกผีเข้าหรือไม่นั้น

อาการดังกล่าว หากอธิบายตามหลักการทางการแพทย์ คล้ายกับโรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน anti-NMDAR สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต่อตัวรับชนิด NMDA 

นพ.ธนินทร์ กล่าวอีกว่า ซึ่งภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติอาจจะสร้างมาจากเนื้องอกรังไข่หรือเนื้องอกอัณฑะ หรืออาจจะเกิดขึ้นเองจากการติดเชื้อไวรัสในร่างกาย หรือบางครั้งอาจตรวจไม่พบสาเหตุ

พบผู้ป่วยได้ทุกเพศ ทุกช่วงอายุ แต่พบได้บ่อยในผู้ป่วยหญิงอายุน้อย โดยมากผู้ป่วยมักจะมีอาการไม่สบายแบบไม่จำเพาะ คล้ายเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ตามมาด้วยความผิดปกติทางระบบประสาท

เช็กอาการ โรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน 

ด้าน นพ.ชลภิวัฒน์ ตรีพงษ์ นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยจะมีอาการคือ มีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตามร่างกายนำมาก่อน ร่วมกับอาการที่ทำให้เข้าใจผิดว่าผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพจิต เช่น นอนไม่หลับ สับสน ก้าวร้าวหรือเซื่องซึม บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง ประสาทหลอน เป็นต้น หากผู้ป่วยไม่ได้รับการตรวจรักษา

ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติไม่สามารถควบคุมได้ เช่น เคี้ยวปาก แลบลิ้น มือ และเท้าขยับไปมา ร่วมกับมีอาการผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ชีพจรผิดปกติ อุณหภูมิร่างกายสูงหรือต่ำผิดปกติ อัตราการเต้นของหัวใจสูง ความดันโลหิตสูงหรือต่ำผิดปกติ หากไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการชักเกร็ง ซึม ไม่รู้สึกตัวและเสียชีวิตได้

ชี้วินิจฉัยล่าช้าเสี่ยงเสียชีวิตได้

การวินิจฉัยจะต้องทำการซักประวัติของผู้ป่วยอย่างละเอียดร่วมกับการตรวจร่างกายทางระบบประสาท และส่งตรวจเลือดร่วมกับน้ำหล่อเลี้ยงสมองร่วมไขสันหลังเพื่อหาเชื้อไวรัส และหาชนิดภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติผู้ป่วยอาจได้รับการตรวจอื่นๆ ตามอาการ เช่น การตรวจเอ็มอาร์ไอ การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง

ปัญหาสำคัญที่ทำให้การรักษาล่าช้า เนื่องจากอาการคล้ายคลึงโรคทางจิตเวช หรือญาติเข้าใจว่าเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ จึงละเลยการตรวจรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบัน

โดยเฉพาะแพทย์โรคทางสมองและระบบประสาท เมื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยแล้วผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อให้ผลการรักษาและการฟื้นฟูของร่างกายได้ผลดีมากที่สุด เพราะทุกวินาที มีค่าสำหรับโรคสมองและระบบประสาทไขสันหลัง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง