“สืบศักดิ์” นำอดีตนักตะกร้อทีมชาติ เปิดโปงขบวนการ "หักหัวคิว” เงินอัดฉีด

กีฬา
7 พ.ย. 66
17:37
1,801
Logo Thai PBS
“สืบศักดิ์” นำอดีตนักตะกร้อทีมชาติ เปิดโปงขบวนการ "หักหัวคิว” เงินอัดฉีด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จากกรณี “ตุ๊ก” ธิดาวรรณ ดาวสกุล อดีตนักตะกร้อหญิงทีมชาติไทย เจ้าของเหรียญทอง เอเชียนเกมส์ และซีเกมส์หลายสมัย ออกมาจุดประเด็นเรื่องอื้อฉาวในวงการตะกร้อทีมชาติไทย

ซึ่งเธอและนักกีฬาทีมชาติหลายคน เคยถูก “สต๊าฟโค้ช” เรียกรับส่วนแบ่งจากเงินอัดฉีดของนักกีฬา ที่ได้รับจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ในเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 16 ที่กวางโจว เมื่อปี 2010

วันนี้ (7 พ.ย.2566) ก่อนการประชุมสมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทย พ.ต.ท.สืบศักดิ์ ผันสืบ อดีตนักตะกร้อทีมชาติไทย เป็นตัวแทนอดีตนักกีฬาเรื่องการยื่นร้องร้องเรียนการทำหน้าที่ของ ผู้จัดการทีมชาติไทย, ผู้ฝึกสอน ทีมตะกร้อทีมชาติไทย โดยมี นายบุญชัย หล่อพิพัฒน์ อุปนายกสมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับเรื่อง

พ.ต.ท.สืบศักดิ์ เปิดเผยว่า น้องๆ ชุดปัจจุบันไม่กล้าออกชื่อ เพราะมีผลต่อการเรียกเก็บตัวในรายการต่อๆ ไป แต่หลายคนก็ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ มีช่องทางการเงิน การโอนเงินให้ใครบ้าง ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

เราอยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการบริหารจัดการ เพราะผู้ฝึกสอน และสมาคมฯ มีส่วนแบ่งจากรัฐบาลอยู่แล้ว เช่น เอเชียนเกมส์ครั้งที่ผ่านมา สต๊าฟโค้ชก็ได้เงินอยู่แล้ว 5.8 ล้านบาท

นักกีฬาทีมชาติไทย ซึ่งคว้ามา 4 เหรียญทอง เอเชียนเกมส์ ที่หางโจว นักกีฬาทีมชุดจะได้เงินคนละ 2 ล้านบาท นักกีฬาที่แข่งทีมชุด ทีมเดี่ยวจะได้ 4 ล้านบาท เงินทั้งหมดรวมคือ 34 ล้านบาท เป็นทีมชุด 24 ล้านบาท ทีมเดี่ยว 10 ล้านบาท

มีการหักเงินนักกีฬา นักกีฬาที่แข่งทั้งทีมชุด ทีมเดี่ยวได้เงินเพียง 2.1 ล้านบาทเท่านั้น เกือบ 50 % โดยอ้างว่า เป็นการหักเงิน เพื่อไปให้นักกีฬาที่ไม่ติดทีมชาติ แต่ตรงนี้เงินก็ยังหายไป 3.3 ล้านบาท ส่วนทีมหญิงเงินหายไป 6.75 ล้านบาท ผมว่าเยอะมาก

นักกีฬาจะได้รับเงินโอนมาจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ และจะหักเงิน 2 วิธีคือ ให้โอนเงินหักไปยังตัวพักเงิน ซึ่งเป็นอดีตนักกีฬาคนหนึ่ง ก่อนจะโอนให้ผู้ใหญ่คนหนึ่ง

ส่วนอีกวิธีคือ ให้เบิกเงินสดมาทั้งหมดและไปนัดพบกันที่ร้านอาหาร และหักเงินกันตรงนั้น ซึ่งทั้งสองวิธีนั้น ทำเพื่อไม่ให้มีหลักฐาน แต่ทุกวันนี้น้องนักกีฬาชุดปัจจุบันพร้อมให้ข้อมูล เพียงแต่ไม่มีใครกล้าจะพูด

พ.ต.ท.สืบศักดิ์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาในอดีตนักตะกร้อ นิตินัดดา แก้วคำไสย์ ซึ่งเป็นนักกีฬาหญิงที่เก่งมาก พอพ่อออกมาพูดเรื่องนี้ จากนั้นก็หลุดทีมชาติไปเลย

อย่าง “ปูดำ” พิกุล สีดำ น้องเป็นนักกีฬาเหรียญทองซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ ก็เคยพยายามเรียกร้องความเป็นธรรมเรื่องเงินรางวัล แต่เขาก็ถูกตัดออกจากทีมชาติไปเลย จนปัจจุบันต้องออกไปเก็บผลไม้หาเลี้ยงชีพอยู่ที่เกาหลี ซึ่งตนมองว่า นักกีฬาที่เล่นเพื่อชาติ ไม่ควรจะต้องลงเอยแบบนี้

ด้าน สมพร ใจสิงหล อดีตนักกีฬาทีมชาติ เปิดเผยว่า ตนเล่นทีมชาติเป็นสิบๆ ปี อย่างเอเชียนเกมส์ ผมจะถูกหักครึ่งหนึ่งของเหรียญทองทีมเดี่ยวตลอด อยากให้นักกีฬาทุกคนทั้งอดีต และ ปัจจุบันควรได้รับความเป็นธรรม

ร.ท.สุริยัน เป๊ะชาญ อดีตทีมชาติ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพวกตนทุกคนประสบพบเจอมาจริงๆ ตนเล่นทีมชาติมา 22 ปี สมัยที่เล่นคิงส์คัพได้เงินครั้งละ 5,000 บาทไม่มีปัญหา แต่พอเงินรางวัลเป็น 1 ล้านบาท ก็เกิดปัญหาขึ้นมาเรื่อย ๆ

ตอนซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ ปี 2553 ทีมเดี่ยว 5 คน สมัยก่อนจะได้เงินคนละ 1 ล้านบาท ก็ 5 ล้านบาท เงิน 2.5 ล้านบาท จะถูกหักให้ผู้จัดการทีมไปเลย แต่ตอนนั้นเราพูดไม่ได้ เพราะเราอยู่ใต้อำนาจของการคุมทีม ถ้าอยากเล่นต่อ เราไม่มีทางเลือก ได้เท่าไรก็ต้องเอา

ก่อนที่ พ.ต.ท.สืบศักดิ์จะสรุปว่า ตนหวังว่า เรื่องนี้จะได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการดำเนินงานเตรียมทีมชาติ หวังว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบปัญหาเป็นสิบปีที่ผ่านมา และอยากมีการยุติการแต่งตั้งคณะกรรมการทีมชาติก่อน เพื่อให้น้อง ๆ ได้พูด ให้ได้คำตอบภายใน 1 สัปดาห์

ส่วนน้อง ๆ นักกีฬาพี่อยากให้ออกมาพูด พี่ช่วยได้เท่านี้ ถ้าน้องไม่พูด เท่ากับสนับสนุนระบบนี้ และนักกีฬาในอดีตทุกคน ควรจะได้รับเงินที่ควรจะเป็นของพวกเขาคืนด้วย

อ่านข่าวอื่นๆ

สคส. เตรียมระบบ "ห้ามโทรหาฉัน" ป้องกันมิจฉาชีพโทรลวง ปชช.

โลกคนกลางคืนคึก "ห่วงเมาขับ" ตีปีกปิดผับถึงตี 4

โผล่นั่งโต๊ะอาหาร "ทุเรียน" หมีหมาขาประจำเขาพะเนินทุ่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง