ห้ามปล่อย "โคมลอย" ใกล้รัศมีสนามบินคืนลอยกระทง 27-28 พ.ย.

ภูมิภาค
15 พ.ย. 66
19:45
1,010
Logo Thai PBS
ห้ามปล่อย "โคมลอย" ใกล้รัศมีสนามบินคืนลอยกระทง 27-28 พ.ย.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
บริษัทท่าอากาศไทย ขอความร่วมมือปล่อย "โคมลอย"รวมทั้งโคมไฟ ดอกไม้ไฟ แสงเลเซอร์ ใกล้รัศมีสนามบินคืนวันลอยกระทง 27-28 พ.ย.นี้ ชี้พื้นที่แนวขึ้นลง-สนามบินฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 5 ปีปรับไม่เกิน 200,000 บาท

วันนี้ (15 พ.ย.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)  ขอความร่วมมือประชาชนงดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยโคมลอย โคมควัน ดอกไม้ไฟ แสงเลเซอร์ อากาศยานไร้คนขับ (Drone) หรือวัตถุอื่นใดที่อาจเป็นอันตรายต่ออากาศยาน ผู้โดยสารและประชาชนในเขตโดยรอบสนามบินทั้ง 6 แห่งช่วงเทศกาลลอยกระทงปี 2566 ระหว่างวันที่ 27–28 พ.ย.นี้

ในส่วนของ AOT ซึ่งบริหารสนามบินหลัก 6 แห่งของประเทศไทย ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ขอความร่วมมือประชาชนระมัดระวัง หรือหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปล่อยวัตถุอันตรายขึ้นสู่ท้องฟ้า เช่น การปล่อยโคมลอย โคมไฟ โคมควัน พลุ ตะไล บั้งไฟ ดอกไม้ไฟ ลูกโป่ง การปล่อยแสงเลเซอร์ และอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (Drone) ที่อาจเป็นอันตรายต่ออากาศยานและการมองเห็นของนักบินในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ

โดยเฉพาะบริเวณสนามบิน พื้นที่เฝ้าระวังพิเศษระดับ 1 (พื้นที่สีแดง) คือ บริเวณแนวขึ้น–ลงสนามบินที่อยู่ห่างจากทางขึ้น–ลงของเครื่องบินทั้ง 2 ด้าน รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงสนามบิน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562 มาตรา 59/1 และ 59/2 ซึ่งมีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนตามที่ระบุในมาตรา 109/1 จำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 109/2 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 120,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

รวมทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2558 มาตรา 18 (2) ได้ระบุว่า ผู้ใดกระทำการให้อากาศยานในระหว่างบริการเสียหาย จนเป็นเหตุให้อากาศยานนั้นไม่สามารถทำการบินได้ หรือเป็นเหตุหรือน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยานในระหว่างบิน ต้องระวางโทษประหารชีวิตจำคุก ตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่ 15 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 600,000-800,000 บาท

อ่านข่าว ข้อห้ามลอยกระทง "จุดพลุ-ประทัด-โคมลอย-เก็บเงิน"

นอกรัศมี 9 กม.ต้องขออนุญาตล่วงหน้า 7 วัน

นอกจากนี้ ตามประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เรื่อง แนวทางในการพิจารณาอนุญาตให้อากาศยาน ซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอกทำการบินภายในระยะ 9 กิโลเมตรจากสนามบินหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน พ.ศ.2561 ได้กำหนดให้ผู้บังคับหรือปล่อยโดรนต้องขออนุญาตจากผู้มีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายก่อนทุกครั้งและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด

สำหรับพื้นที่นอกเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ ขอให้ผู้ที่ต้องการปล่อยโคมลอยฯ ตรวจสอบรายละเอียดในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครหรือประกาศจังหวัดที่ต้องการจะปล่อย ซึ่งจะระบุรายละเอียดของพื้นที่ที่สามารถอนุญาตปล่อยได้

โดยในการจะปล่อยนั้นต้องดำเนินการขออนุญาตล่วงหน้าจากผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอในพื้นที่นั้นๆ ล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน

ทั้งนี้ ขอประชาสัมพันธ์ผลกระทบต่อความปลอดภัยด้านการบิน ได้แก่ (1) โคมลอยใช้ความร้อนจากเปลวไฟพยุงตัวโคมให้ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า โดยไม่สามารถควบคุมทิศทางได้ หากลอยขึ้นไปอยู่ในระดับความสูงที่อากาศยาน ที่อากาศยานทำการบิน อาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น บดบังวิสัยทัศน์ของนักบิน หรือหากเข้าเครื่องยนต์ของอากาศยานอาจทำให้เกิดการลุกไหม้ ระเบิด หรือเครื่องยนต์ชำรุด หรือหากติดอยู่บริเวณปีกหรือแพนหาง

อ่านข่าว ความเชื่อ "ผี" ขอขมาน้ำ-ดิน สู่ประเพณีลอยกระทง

รวมทั้งอาจทำให้นักบินไม่สามารถควบคุมอากาศยานได้ หรือหากปลิวเข้าในเขตการบินอาจถูกดูดเข้าไปในเครื่องยนต์ อาจส่งผลอันตรายร้ายแรงต่ออากาศยาน (2) พลุและดอกไม้ไฟถือเป็นวัตถุอันตราย มีความไวไฟ ซึ่งสามารถระเบิดได้ หากถูกจุดสูงขึ้นไปอยู่ในระดับที่อากาศยานทำการบิน จะทำให้ทัศนวิสัยของนักบินไม่ชัดเจน หรืออาจสร้างความเสียหายให้กับอากาศยานถึงขั้นถังน้ำมันเชื้อเพลิงเกิดการลุกไหม้ได้ (3) ลูกโป่งบางประเภทอาจหลุดลอยจากการจัดการหรือหลุดจากมือประชาชนและลอยขึ้นท้องฟ้า ซึ่งไม่สามารถควบคุมทิศทางการลอยได้ อาจถูกดูดเข้าเครื่องยนต์ของอากาศยานและปลิวเข้า

เขตการบิน (4) การฉายลำแสงเลเซอร์ขึ้นบนท้องฟ้า (Laser Beam) ส่งผลให้รบกวนสายตาของนักบิน และ (5) การปล่อยโดรนที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าบินขึ้นจากตำแหน่งใด ซึ่งประชาชนทั่วไปยังไม่ทราบกฎ ระเบียบ ประกาศกระทรวงคมนาคมหรือแนวทางการขออนุญาตในการบินโดรน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดอันตรายต่ออากาศยานขณะทำการบิน

จึงได้รณรงค์เรื่องการปล่อยโคมลอยให้ปลอดภัย โดยได้ลงพื้นที่ชุมชนโดยรอบสนามบินเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ ถึงแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการปล่อยโคมลอยฯ ในช่วงเทศกาลลอยกระทบ รวมทั้งอันตรายและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอากาศยาน  

อ่านข่าว

เกิดเหตุบั้งไฟระเบิด จ.เชียงใหม่ เสียชีวิต 1 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง