ห้าม 360 องศา "ปืน" ในครอบครอง สั่ง "ล้อมคอก" หลังมีคนตาย

อาชญากรรม
15 พ.ย. 66
18:47
2,073
Logo Thai PBS
ห้าม 360 องศา "ปืน" ในครอบครอง สั่ง "ล้อมคอก" หลังมีคนตาย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

มาตรการ “วัวหายล้อมคอก” หรือไม่ สังคมและหลายคนคงตอบได้ นับแต่เกิดเหตุเด็ก 14 กราดยิงพารากอน เมื่อวันที่ 3 ต.ค. และคดีสองคนร้ายก่อเหตุไล่ยิงกลุ่มเด็กช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย แต่กระสุนพลาดไปโดน “ครูเจี๊ยบ” น.ส.ศิรดา สินปราเสริฐ ครูสอนคอมพิวเตอร์ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์เสียชีวิต ที่ย่านคลองเตย กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา

หลังเกิดเหตุคดีแรก เจ้ากระทรวงคลองหลอด“อนุทิน ชาญวีรกุล”รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรมว.มหาดไทย มอบหมายให้ เจ้าพ่อลุ่มน้ำสะแกกรัง “ชาดา ไทยเศรษฐ์” มท.3 เข้าไปแก้ไขปัญหาการครอบครองอาวุธ และปรับปรุงแก้ไขข้อระเบียบในเรื่องของ พ.ร.บ.อาวุธปืน พ.ศ. 2490 และจะคุมเข้มการซื้อขายกระสุนปืนจะต้องมีใบป.3 ว่าจะถือครองได้กี่นัด

แต่ความวัวยังไม่ทันหาย ผ่านไปไม่ถึงเดือนก็เกิดเหตุร้ายขึ้นกับ “ครูเจี๊ยบ” เป็นคดีที่สอง และอนุทิน ก็ออกมาคำรามอีกครั้งเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ว่า จากนี้ไปจะต้องไม่ให้มีการพกปืนสำหรับคนไทย และนโยบายไม่ให้ประชาชนพกปืนมีความจำเป็น รวมทั้งจะแก้ไขกฎหมายให้เข้มงวดมากขึ้น

จึงมีคำถามว่า มาตรการล้อมคอก ห้ามถือครองอาวุธปืนและสิ่งเทียมอาวุธปืน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน สามารถทำได้จริงหรือไม่ และหยุดเหตุร้ายเพื่อป้องกันการใช้อาวุธปืน จะมีวิธีการอย่างไร

นำเข้าอาวุธปืน 4 ปี 700,000 กระบอก

ข้อมูลจากสถาบัน Graduate Institute of Interna tional and Develop me nt Studies, Geneva ระบุว่า นับตั้งปี 2560 -2566 พบว่าพลเรือนไทยมีอาวุธปืนในการครอบครองถึง 10,342,000 กระบอก

ขณะที่ข้อมูลของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ระบุว่า ไทยนำเข้าอาวุธปืนถูกกฎหมาย ในช่วงปี 2561-2565 หรือ (เดือนม.ค.-ก.ย.) รวม 776,502 กระบอก และหากรวมจำนวนอาวุธปืนที่ประชาชนไทยมีอยู่ในความครอบครองขณะนี้พบมีจำนวน 11,118,502 กระบอก

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ช่วงปี 2564-2565 ไทยมีการนำเข้าอาวุธปืนลูกโม่และปืนพกเป็นปริมาณสูงสุดเช่นกัน

"ส่วยใต้โต๊ะ"เปิดทางขายปืนถูกกฎหมาย

แม้ปืนจะมีราคาแพง แต่ก็มีคนจำนวนมากสามารถหาเงินมาซื้อปืนเพื่อครอบครองได้ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป โดยเฉพาะปืนสวัสดิการข้าราชการ ที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่นำอาวุธปืนสั้นและปืนยาวมาจำหน่ายให้กับข้าราชการไปแล้วตั้งแต่ปี 2550-2553 กว่า 350,000 กระบอก

ข้อมูลวงในจากร้านปืนแห่งหนึ่งซึ่งเคยรับอาวุธปืนจากโครงการสวัสดิการมาจำหน่าย ระบุว่า ปีนที่มีทะเบียน หรือปืนในระบบจะมีราคาที่สูงมาก หากสั่งซื้อตามโควตาสวัสดิการปืนข้าราชการตำรวจ หรือข้าราชการกรมการปกครอง และได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า ราคาปืนจะอยู่ที่กระบอกละ 40,000-50,000 บาท

กล่าวคือ ราคาจะถูกกว่าร้านจำหน่ายปืนหรือราคาในตลาด หากร้านจำหน่ายปีนรับจากโครงเหล่านี้มาขาย ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระบอกละ 8,500 บาท หากรับโควตามา 1,000 กระบอก หรือต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ 8,500,000 บาท

นอกจากอาวุธปืนในโครงการปืนสวัสดิการข้าราชการแล้ว ปัจจุบันมีการอนุญาตให้ร้านค้าอาวุธปืนนำเข้าปืนกลสั้น ขนาดกระสุน.223,5.56 และปืนขนาดเล็ก 9 มม.ขายในตลาดปืน และปืนยาวติดกล้องเล็งขนาดกระสุน.22 ที่ประชาชนมีไว้ครอบครองเพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน

และหากใครต้องการจะมีปืนที่ถูกกฎหมายเป็นของตัวเอง ก็จะต้องหาซื้อตามร้านขายปืนที่ถูกกฎหมาย ซึ่งมักจะมีราคาก็จะสูงกว่าปืนสวัสดิการ ราคาเริ่มต้นอยู่ที่กระบอกละ 80,000-90,000 บาท ขึ้นอยู่กับชนิด ประเภท รุ่น ยี่ห้อ และสมรรถนะของปืน

ผู้ประกอบการยังระบุอีกว่า หากจะซื้อขายปืนกลสั้น ซึ่งเป็นปืนกระบอกเล็ก 1 กระบอกจะต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะกระบอกละ 1,000-1,500 บาท เมื่อก่อนใครจะเป็นเจ้าของปืนสักกระบอก ต้องไปเดินสำรวจราคาแถวๆร้านปืนย่านวังบูรพา ราคาจะค่อนข้างแพง ข้าราชการหรือคนทั่วไปแทบไม่มีสิทธิครอบครอง

ดังนั้นรัฐจึงต้องจัดโครงการปืนสวัสดิการ เนื่องจากการจดทะเบียนตั้งบริษัทขายปืนจะต้องขออนุญาตจากกรมการปกครอง หรือหน่วยงานเกี่ยวข้องเท่านั้น

ร้านจำหน่ายปืนแห่งหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า หากผู้ประกอบการรายใดอยากได้โควตาปืน จำหน่ายปืนเป็นรายปี สามารถทำได้ โดยบริษัทที่จดทะเบียนแต่ละร้านจะได้สิทธิครอบครองปีนปีละ 50 กระบอก แบ่งเป็นปืนยาว 20 กระบอก ส่วนปืนสั้น 30 กระบอก ซึ่งถือว่าน้อยมาก ดังนั้นผู้ค้าจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการจดทะเบียนตั้งบริษัทขึ้นมารายละ 5-10 บริษัท เพื่อให้ได้ใบโควตาปืนมาสำรองไว้ในสต๊อก

แน่นอนว่าในแต่ละบริษัทหนีไม่พ้นที่จะต้องจ่ายใต้โต๊ะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายละ 30,000 บาทต่อปีเพื่อเป็นค่าอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนปืนที่จำหน่ายให้แก่ลูกค้า

10 คนพกปืนเฉลี่ย 1-2 กระบอกต่อคน

ข้อมูลจากกรมศุลกากร ระบุว่า ไทยเคยนำเข้าปืนจากสหรัฐอเมริกาในปี 2558 สูงสุดจำนวนกว่า 2 ล้านกระบอก หรือนำเข้าปริมาณเฉลี่ยปีละ 12,000 กระ บอกต่อปี และในแต่ละปีพบว่ามีจำนวนการสั่งนำเข้าเพิ่มมากขึ้น 

  • ปี 2558 นำเข้า 2,043,996 กระบอก
  • ปี 2560 นำเข้า 156,035 กระบอก
  • ปี 2563 นำเข้า 6,675,734 กระบอก 
  • ปี 2563 นำเข้า 278,015 กระบอก
  • ปี 2566 (8 เดือน) นำเข้า 1,056,495 กระบอก
โดยเฉพาะเมื่อเดือน ต.ค.พบว่ามีการนำเข้าปืนเล็กยาวอื่นๆ จากประเทศเม็กซิโกจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม หากคำนวณปริมาณการนำเข้าเฉพาะอาวุธปืนลูกโม่และปืนพก ตั้งแต่ปี 2550-2566(ม.ค.-ส.ค.) พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 7,815,355 กระบอก ในขณะที่ไทยมีจำนวนประชากรมี 66,090,475 คน

หากประเมินจำนวนอาวุธปืนที่อยู่ในการครอบครองของประชากร 7,815,355 กระบอก หรืออาวุธปืนต่อประชาชน 100 คน 11.82 กระบอก และอาจกล่าวได้ว่า คนไทย 10 คน จะมี 1-2 คน ที่มีปืนอยู่ในความครอบครอง และตัวเลขการนำเข้าอาวุธปืน ทั้งปืนลูกโม่และปืนพก อาจหมายรวมปืนของข้าราชการตำรวจด้ว

"จัดแถวอาวุธปืน"แก้ปลายเหตุปัญหา

วันนี้ร่างของ“ครูเจี๊ยบ” น.ส.ศิรดา กลับคืนสู่อ้อมกอดของพระเจ้าแล้ว และเป็นวันเดียวกับคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุม การครอบครอง การจำหน่าย การพกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และสิ่งเทียมอาวุธปืน ได้วางกรอบควบควบคุมอาวุธปืนถูกกฎหมาย ปืนเถื่อน และสิ่งเทียมอาวุธปืน

ถือเป็นการควบคุมแบบ 360 องศา โดยกำหนดกรอบการทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนหรือ 90 วัน

วัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ สส.สระบุรี ในฐานะประธานกรรมาธิการปกครอง ระบุว่า ที่ประชุมมีมติให้พิจารณาศึกษาใน 10 ประเด็น เริ่มตั้งแต่ การกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาต ,การกำหนดอายุใบอนุญาต , ปัญหาการมี และใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และสิ่งเทียมอาวุธปืน ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้ง ปืนเถื่อน ปืนผิดมือ การดัดแปลงอาวุธปืน และการดัดแปลงสิ่งเทียมอาวุธปืนเป็นอาวุธปืน

อัตราค่าธรรมเนียมท้ายพ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 , การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการออกใบอนุญาต , กำหนดจำนวนอนุญาตให้มีอาวุธปืนต่อคน และการควบคุมตรวจสอบอาวุธปืนในระบบ แนวทางการควบคุมอาวุธปืนสวัสดิการข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ

กำหนดเหตุผล ความจำเป็นการให้ใบอนุญาตพกพาอาวุธปืน, ปัญหาการลักลอบนำเข้า และการจำหน่วยอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนทั้งในและต่างประเทศ
ควบคุมตรวจสอบการซื้อขายอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และสิ่งเทียมอาวุธปืนผ่านช่องทางออนไลน์ตลอดจนการแสดงการครอบครอง และการใช้อาวุธปืนผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

ปัญหายังไม่มีกฎหมายกำหนดการจัดเก็บรายละเอียดของอาวุธปืนเกี่ยวกับการเก็บอัตลักษณ์ข้อมูลหัวกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืน, กำหนดความผิด และโทษเกี่ยวกับการนำสิ่งเทียมอาวุธปืนที่สามารถทำให้หลงเชื่อได้ว่าเป็นอาวุธปืนไปใช้ข่มขู่หรือก่อเหตุร้าย ตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนฯ และกฎหมายอื่นที่มีบทกำ หนดความผิด และโทษทางอาญา

ทั้งหมด คือ มาตรการล้อมคอก ทางกฎหมายและแนวปฎิบัติ ในทุกครั้งที่มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง