รถเกี่ยวข้าวฉวยขึ้นราคาหลัง ครม.เคาะช่วยค่าเก็บเกี่ยวชาวนา

ภูมิภาค
20 พ.ย. 66
07:30
8,602
Logo Thai PBS
รถเกี่ยวข้าวฉวยขึ้นราคาหลัง ครม.เคาะช่วยค่าเก็บเกี่ยวชาวนา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รถเกี่ยวข้าวในบางจังหวัดทางภาคอีสานขึ้นราคาอีกเกือบเท่าตัว หลัง ครม.มีมติช่วยค่าเก็บเกี่ยวให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ชาวนาให้ข้อมูลรถเกี่ยวที่ฉวยโอกาสขึ้นราคาส่วนใหญ่เป็นรถต่างถิ่น

เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2566 ไทยพีบีเอส สำรวจราคารถเกี่ยวข้าวใน จ.มหาสารคาม หลังมีเกษตรกรให้ข้อมูลว่ามีบางพื้นที่ปรับขึ้นราคาเป็นไร่ละ 1,000 บาท จากเดิมที่ราคาไร่ละ 500-700 บาท

เจ้าของรถเกี่ยวข้าวที่รับจ้างอยู่ในพื้นที่บ้านเขวา อ.เมืองมหาสารคาม ให้ข้อมูลว่าคิดค่าเกี่ยวข้าวเจ้าไร่ละ 600 บาท ส่วนข้าวเหนียวไร่ละ 700 บาท ยังเป็นราคาเดิมไม่ได้ปรับขึ้น แต่ที่มีข่าวอาจจะเป็นรถเกี่ยวที่มาจากต่างถิ่น

ส่วนชาวนา ต.พลกรัง อ.เมืองนครราชสีมา ยอมรับว่า รถเกี่ยวในพื้นที่ปรับขึ้นราคาหลัง ครม.มีมติช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท แต่ส่วนตัวยังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะยังใช้รถเกี่ยวเจ้าเดิม

ขณะที่ชาวนา ต.ถนนหัก อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า รถเกี่ยวปรับขึ้นราคาจากเดิมไร่ละ 550 เป็น 600 บาท ซึ่งยังพอรับได้ แต่ก็ไม่อยากให้แพงกว่านี้ เพราะราคาข้าวต่ำ ขายได้เพียงกิโลกรัมละ 9-10 บาท และยังต้องลงทุนทั้งค่าไถ ค่ายาและค่าปุ๋ย อยากเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยให้ราคาข้าวสูงกว่านี้ โดยเฉพาะประกันราคาข้าวไม่ให้ต่ำกว่าตันละ 15,000 บาท

สำหรับมติช่วยเหลือค่าเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 56,000 บาท จะเริ่มจ่ายเงินให้กับเกษตรกรในวันที่ 20 พ.ย.นี้ ทำให้รถเกี่ยวข้าวในบางพื้นที่ฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา

อ่านข่าว : ชาวนาเฮ ! รัฐบาลไฟเขียว สั่งพักหนี้-หนุนจ่ายไร่ละ 1,000 บาท

ด้านนักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ไม่เห็นด้วยกับโครงการช่วยเหลือค่าเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท เพราะมองว่าทำให้เกษตรกรไม่พัฒนา และเห็นว่าควรนำงบประมาณส่วนนี้ไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น เช่น การวิจัย หรือการพัฒนาแหล่งน้ำ

ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำหนังสือด่วนที่สุด หลังจาก ครม.เห็นชอบโครงการดังกล่าว โดยให้ความเห็นว่าโครงการนี้มีความจำเป็นลดลงเมื่อเทียบช่วงที่ผ่านมา เพราะปัจจุบันราคาข้าวสูงขึ้นมาก ส่วนราคาปุ๋ยลดลงต่อเนื่อง

และเห็นว่าควรมีแนวทางป้องกันปัญหา Moral hazard หรือ "ภาวะภัยทางศีลธรรม" จากการที่เกษตรกรได้รับความช่วยเหลือซ้ำซ้อน และควรกำหนดกรอบเวลาชำระคืนเงินให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาสภาพคล่องของธนาคาร

อ่านข่าวอื่นๆ

"เอลนีโญ" พ่นพิษ "ฝนแล้ง-น้ำลด " กระทบพืชผลเกษตร

ว่าที่ดาวเด่น Soft Power "กวาวเครือขาว" สมุนไพรไทย

ปล่อยฟรี!น้ำตาลหน้าโรงงานขึ้น 2 บาท กกร.เลิกคุมขายปลีก-ส่งออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง