ศาลปกครองเชียงใหม่ “ นัดไต่สวน” ฟ้องแก้ฝุ่นภาคเหนือ

ภูมิภาค
22 พ.ย. 66
16:41
394
Logo Thai PBS
ศาลปกครองเชียงใหม่ “ นัดไต่สวน” ฟ้องแก้ฝุ่นภาคเหนือ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศาลปกครองเชียงใหม่ นัดไต่สวน เร่งด่วนกรณีภาคประชาชนฟ้องนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ศาลมีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีเร่งแก้ปัญหา มีแผน-มาตรการ เร่งด่วนแก้ฝุ่นสถานการณ์วิกฤตในภาคเหนือ

วันนี้ (22 พ.ย.2566) เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ เดินทางมาศาลปกครองเชียงใหม่ หลังจากศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำสั่งกระบวนพิจารณาเร่งด่วนตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลปกครอง กรณีภาคประชาชนฟ้องร้องนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งวันนี้เป็นการนัดไต่สวนครั้งแรก โดยมีผู้ฟ้องคดี 10 คน และตัวแทนผู้ถูกฟ้อง มาร่วมไต่สวนคดี

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หนึ่งในผู้ยื่นฟ้องครั้งนี้ เปิดเผยสาเหตุยื่นฟ้อง ว่าอยากเห็นการขับเคลื่อนของภาครัฐที่เป็นรูปธรรม ที่ผ่านมามีการตอบสนองชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ได้มีการวางแผนระยะยาว

ส่วนตัวมองว่ารัฐจะต้องมีการจัดการในหลายมิติ เช่น การใช้ทรัพยากร ความจริงใจ และเจตจำนงค์ทางการเมืองอย่างสูงในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ไม่ใช่การจัดการเหมือนที่ผ่านมา จึงอยากฝากความหวังไว้กับศาล เรียกร้องความยุติธรรม สิทธิของประชาชนคนหนึ่ง ที่อยากจะมีอากาศที่ไม่เป็นพิษและส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

นายแพทย์รังสฤษฏ์ ย้ำสิ่งที่เรียกร้องเป็นสิ่งที่เรียกร้องไปสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน ต้องการความเปลี่ยนแปลง วิธีนี้เป็นวิธีหนึ่งจะช่วยผลักดันขับเคลื่อนภาครัฐตื่นตัวมากขึ้น เพราะผลกระทบฝุ่นระยะสั้น เหมือนสูบบุหรี่ 1 ซอง จะไม่ป่วยทันที อาจมีอาการเจ็บคอ ไอ

สิ่งที่กังวลที่สุด คือผลกระทบระยะยาว การที่ฝุ่น PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานของ WHO 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่ที่เชียงใหม่สูงถึง 30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี และอัตราตายสูงกว่ามาตรฐาน 20 เปอร์เซ็นต์

การตายด้วยโรคหัวใจอาจบอกไม่ได้ว่าตายจาก PM2.5 ฝุ่นอาจเป็นหนึ่งปัจจัยไม่ได้เกิดขึ้นทันที ถ้าละเลยปัญหานี้ จะเห็นคนที่มีปัญหาสุขภาพระยะยาว

น.ส.วัชลาวลี คำบุญเรือง ทนายความและตัวแทนผู้ฟ้อง เปิดเผยว่าตัวแทนผู้รับมอบอำนาจผู้ถูกฟ้องคดีคนที่ 1 และ 2 รวมทั้งกรมควบคุมมลพิษ ชี้แจงเพิ่มเติม โดยตัวแทนผู้มาชี้แจง ระบุว่าการใช้อำนาจแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ใน พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินและปฏิบัติการตามแผนฝุ่นแห่งชาติในระดับสูงสุด โดยได้เร่งรัดกำชับหน่วยงานรัฐทุกองค์กรแล้ว

ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 10 คน เห็นว่ามาตรการแก้ปัญหาของรัฐตั้งแต่ปี 2562 ยังไม่มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ไม่สามารถแก้ไขปัญหา ความทุกข์ร้อนและเหตุการณ์วิกฤตฝุ่นในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือได้ จึงได้เน้นย้ำไปยังผู้ถูกฟ้อง โดยเฉพาะมาตรการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น แผนฝุ่นจะต้องมีการปรับเกณฑ์ค่ามาตรฐานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฝุ่น PM/2.5 อยู่ในระดับ 37.5 มค.ก./ลบ.ม.

ที่สำคัญต้องเปิดรับการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และต้องคำนึกถึงมาตรการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน โดยเฉพาะภาคธุรกิจไปลงทุนข้ามพรมแดน และส่งผลกระทบมายังประเทศไทย ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขในแผนฝุ่น ขณะเดียวกันการจัดการแก้ไขปัญหาฝุ่นต้องมีการออกแบบร่วมกัน กับทุกพื้นที่ ทุกระดับ

การเยียวยาคุ้มครองคนเปราะบาง เช่น คนท้อง เด็ก คนชรา กลุ่มโรคเสี่ยงต่างๆ รัฐจะต้องมีมาตรการ ให้คนไทย และคนภาคเหนือทุกคนเข้าถึงเครื่องฟอกอากาศและหน้ากากอนามัย ที่มีคุณภาพและสามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้อย่างจริงจัง

นายชนกนันทน์ นัทตะวัน ตัวแทนประชาชน กลุ่มสมดุลเชียงใหม่ ระบุว่าภาคประชาชนเฝ้าติดตามมาหลายปี มองว่ามาตรการแก้ปัญหาไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหาฝุ่นควันก็ยังคงอยู่ อยากเรียกร้องให้มีการทำงานเป็นรูปธรรมมากขึ้น

การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุการจัดให้มีห้องปลอดฝุ่น พื้นที่ให้มีอากาศสะอาด การจัดให้มีการดูแลควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ

ภาคประชาชนมองว่าการทำงานแก้ปัญหาฝุ่นของหน่วยงานภาครัฐ หรือ การประกาศของนายกรัฐมนตรียังล้มเหลว ยังพบจุดความร้อน และขยายการเผามากขึ้นทุกปี ภาครัฐต้องเร่งการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และจัดการในส่วนของภาครัฐ

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ระบุการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นภาครัฐสามารถออกมาตรการ ในแง่ของหน่วยงาน กรมต่างๆ เช่น กรมความคุมมลพิษ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แต่พบปัญหาหน่วยงานต่างๆไม่ได้มีความเป็นอิสระ เช่น ประกาศเขตภัยพิบัติเรื่องฝุ่น แต่ก็ยังติดปัญหาจะกระทบกับการท่องเที่ยว มองปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างการแก้ปัญหาฝุ่น นายกรัฐมนตรีจะต้องสั่งการให้มีเจ้าภาพและสั่งการแบบบูรณาการ

เพราะหากปล่อยแบบนี้หน่วยงานต่างๆจะไม่กล้า เช่นกรณีประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะถูกสั่งย้ายหรือไม่ เพราะขัดกับนโยบายรัฐ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่มากเกินกว่าหน่วยงานระดับกรมฯจะดำเนินการได้ ข้อเสนอที่ร้องไปกับศาล คือ เสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้ ม.9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมมาจัดการ และกระตุ้นให้คนในสังคมมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่คนในสังคมต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ศาลปกครองเชียงใหม่ ใช้เวลาไต่สวนนานกว่า 3 ชั่วโมง และยังต้องไต่สวนเพิ่มเติมพร้อมกับให้หน่วยงานรัฐส่งเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม

สำหรับการฟ้องร้องในครั้งนี้ โดยภาคประชาชนมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ
1.กรณีสถานการณ์เร่งด่วนฉุกเฉินค่า PM2.5 วิกฤต นายกรัฐมนตรีจะต้องใช้อำนาจหน้าที่ตาม ม.9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นอำนาจสั่งการในสถานการณ์วิกฤต จะต้องมีคำสั่งหรือ สั่งให้หน่วยงานรัฐ เอกชน ช่วยกันลดปัญหาฝุ่น PM2.5
2.ตามแผนวาระฝุ่นแห่งชาติ เมื่อสถานการณ์ค่าฝุ่น เกิน 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต้องเสนอให้นายกรัฐมนตรีมีมาตรการเร่งด่วน สั่งการแก้ปัญหานี้ โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต้องทำหน้าที่
3.สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในปีหน้า นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จะต้องมีแผนรับมือ โดยการสั่งแผน อาจไม่เป็นตามระบบบริหารราชการแผ่นดินตามปกติ มีแผนฉุกเฉิน และมีส่วนร่วมกับประชาชน

โกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง