“คอมพิวเตอร์ทรงพลัง” สำคัญอย่างไร ? กับมนุษยชาติ

Logo Thai PBS
“คอมพิวเตอร์ทรงพลัง” สำคัญอย่างไร ? กับมนุษยชาติ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ในโลกที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โลกของเราได้รู้จักกับคอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังขึ้นทุกวัน ปัจจุบันซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (Supercomputer) หนึ่งเครื่องอาจทรงพลังมากกว่าการนำคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในโลกในยุค ๆ หนึ่งมารวมกัน

ในโลกที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โลกของเราได้รู้จักกับคอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังขึ้นทุกวัน ปัจจุบันซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (Supercomputer) หนึ่งเครื่องอาจทรงพลังมากกว่าการนำคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในโลกในยุค ๆ หนึ่งมารวมกัน หรือแม้กระทั่งคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอาจแรงกว่าคอมพิวเตอร์ที่นาซา (NASA) ใช้ในการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์เสียอีก

ในทุก ๆ ปีโครงการ TOP500 จะมีการจัดอันดับคอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังที่สุดในโลก โดยคอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังที่สุดในโลกปัจจุบันมีพลังการประมวลผลอยู่ในระดับเพตะฟลอป (Petaflops) ซึ่งเป็นหน่วยที่ใช้วัดความสามารถในการคำนวณตำแหน่งของทศนิยมต่อหน่วยเวลา และสามารถบ่งบอกได้ว่าคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นมีพลังการคำนวณที่ทรงประสิทธิภาพ

เป็นที่แน่นอนว่าในทุก ๆ ปี เราก็มักจะมีคอมพิวเตอร์ที่ทรงประสิทธิภาพมากขึ้น และคอมพิวเตอร์เหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพียงแค่นับคะแนนกันเล่น ๆ แต่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขโจทย์ปัญหาที่มนุษยชาติกำลังสนใจ ณ ตอนนั้น

ยกตัวอย่างเช่นคอมพิวเตอร์พลีอะดีส (Pleiades) ของนาซาที่ถูกนำมาใช้ในการประมวลผลโจทย์ทางคณิตศาสตร์ยาก ๆ เช่น การคำนวณวงโคจรของยานอวกาศ หรือการจำลองทางวิศวกรรมของกลศาสตร์ของไหล (Computational Fluid Dynamic หรือ CFD) ของจรวดและยานอวกาศ ตลอดไปจนถึงช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการนำเอาซูเปอร์คอมพิวเตอร์ในสหรัฐฯ มารวมพลังกันสร้างแบบจำลองโครงสร้างทางชีวโมเลกุลของอนุภาคไวรัส ที่อาจนำไปสู่การค้นพบวัคซีนสำหรับการสู้กับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่มนุษยชาติยังไม่เคยค้นพบมาก่อน

แต่นอกจากโจทย์ปัญหาที่ยากขึ้นของมนุษยชาติแล้ว หากเรามองย้อนกลับมาที่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เราก็จะพบแนวโน้มในลักษณะเดียวกัน เราอาจสังเกตได้ว่าในทุก ๆ ครั้งที่เราเปลี่ยนคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ เรามักจะได้คอมพิวเตอร์ที่ทรงประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ว่าราคาที่เราจ่ายไปอาจจะเท่าเดิมหรือน้อยกว่าตอนที่เราซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องเดิมด้วยซ้ำ นี่อาจเป็นหลักฐานว่า ความต้องการคอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังมากขึ้นนั้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความต้องการของมนุษยชาติโดยรวมแต่เป็นความต้องการของปัจเจกบุคคลด้วยเช่นกัน

และด้วยงานที่ซับซ้อนมากขึ้น ในอดีตเราอาจใช้คอมพิวเตอร์เพื่อประมวลผลสิ่งง่าย ๆ แต่ในปัจจุบันเราใช้คอมพิวเตอร์เพื่อสร้างเรขาคณิตที่ซับซ้อนแบบสามมิติ เช่น การเล่นเกม การตัดต่อภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งการพิมพ์งานธรรมดา ซอฟต์แวร์จะทำงานซับซ้อนขึ้นกว่าในอดีตมาก และหากเรานำซอฟต์แวร์หรือการใช้งานคอมพิวเตอร์ปัจจุบันไปใช้กับคอมพิวเตอร์ในอดีต เราจะพบว่าจะแทบเป็นไปไม่ได้เลย

นอกจากการใช้งานปกติแล้ว เทคโนโลยีอย่างเช่นโครงข่ายประสาทเทียม (Artificial Neural Networks) ก็กระตุ้นให้เราต้องการคอมพิวเตอร์ที่ทรงประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทุกวันนี้การคำนวณแบบโครงข่ายประสาทเทียมแทบจะเป็นสิ่งปกติทั่วไปที่พบเจอได้ในการใช้งานคอมพิวเตอร์ในชีวิตประจำวันไปแล้ว

ด้วยสองสิ่งนี้จึงอาจนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า คอมพิวเตอร์ล้วนแต่จะทรงประสิทธิภาพมากขึ้นทุกวัน และการใช้งานคอมพิวเตอร์ของเราก็ยิ่งกระตุ้นให้มีการผลักดันความสามารถในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ ในฐานะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้มนุษย์แก้ไขปัญหาที่ยากขึ้นได้

ที่มาภาพ: NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง