ขุด “ประตูช้างเผือก” เชียงใหม่ อ่านล้านนาผ่านก้อนหินและผืนดิน

ภูมิภาค
24 พ.ย. 66
10:23
3,287
Logo Thai PBS
ขุด “ประตูช้างเผือก” เชียงใหม่ อ่านล้านนาผ่านก้อนหินและผืนดิน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ประตูช้างเผือก ประตูสำคัญที่สุดของเมืองเชียงใหม่ หลังการขุดค้นโบราณคดีพบว่า กำแพงเมืองและประตูช้างเผือกมีการก่อสร้างหลายสมัย และนำมาสู่คำถามที่ว่า จะนำเสนอประตูช้างเผือกในรูปแบบไหน

ศูนย์ข่าวไทยพีบีเอส ภาคเหนือ พูดคุยกับ สายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ที่ขุดค้นประตูช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ รวมถึงรูปแบบการก่อสร้างกำแพงเมือง ประตูช้างเผือก และแผนพัฒนาในอนาคต

สายกลาง เล่าว่า ประตูช้างเผือกเริ่มสร้างขึ้นพร้อมกับเมืองเชียงใหม่ ในปีพ.ศ.1839 ที่พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ วัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันเมือง ประโยชน์ใช้สอยเป็นทางเข้า-ออกของเมือง

ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ตอนแรกสร้างมา 5 ประตู บางฉบับบอกว่า สร้าง 4 ประตูและเพิ่มอีก 1 ประตูในภายหลัง

เดิมประตูช้างเผือกชื่อ “ประตูหัวเวียง” แต่มาเรียกว่า ประตูช้างเผือก ในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา ที่ให้มีการสร้างช้างเผือก ด้านทิศเหนือของตัวเมือง ตั้งแต่นั้นมาก็เรียกประตูหัวเวียงว่า “ประตูช้างเผือก”

ความเชื่อประตูช้างเผือกเป็นประตูสำคัญของเมือง สมัยพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อสร้างเมืองเสร็จ เสด็จเข้าเมืองที่ประตูหัวเวียง หรือสมัยพระยากาวิละ ยุคฟื้นเมืองเชียงใหม่ ก็เข้าเมืองครั้งแรกที่ประตูนี้ ปัจจุบันข้าราชการสายปกครอง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ย้ายมาจังหวัดเชียงใหม่ ก็จะเข้าประตูเมืองทางทิศนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคล

ก่อสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่

สายกลาง ระบุว่า หากดูหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เอกสารสมัยพญามังราย ไม่ได้เขียนชัดเจนว่า สร้างกำแพงเมือง ประตูเมืองด้วยอิฐ เขียนเพียงว่า สร้างผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม ประตูเมือง สร้างจากทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ วนไปทางใต้ และเวียนมาบรรจบ “แจ่งศรีภูมิ”

ในเอกสารจะเห็นนัยของการเปลี่ยนแปลงกำแพงเมืองและตัวเมืองประมาณ 4 ช่วงเวลา ครั้งแรกสมัยพญามังราย ก่อสร้างครั้งที่สองสมัยพญาผายู กษัตริย์ลำดับที่ 5 มีการขยายคูเมือง สมัยพระเมืองแก้ว เป็นยุคที่กำแพงเมืองมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ปี พ.ศ.2060 ให้ชาวเมืองปั้นอิฐ ก่อกำแพงและประตูเมือง ยกประตูเมืองปี พ.ศ.2063 และสมัยพระยากาวิละ หลังฟื้นเมืองเชียงใหม่ได้มาปรับปรุง กำแพงเมือง ประตูเมือง ป้อม คูเมือง
นักโบราณคดีขุดประตูช้างเผือก จ.เชียงใหม่ เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา ที่มีมาหลายยุคสมัย

นักโบราณคดีขุดประตูช้างเผือก จ.เชียงใหม่ เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา ที่มีมาหลายยุคสมัย

นักโบราณคดีขุดประตูช้างเผือก จ.เชียงใหม่ เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา ที่มีมาหลายยุคสมัย

แผนการบูรณะป้อมประตูให้เป็นแบบไหน

สายกลาง เล่าว่า เมื่อมีการศึกษาเอกสารทางประวัติศาสตร์ทั้งหมด ป้อมประตูช้างเผือก มีรูปแบบที่แตกต่างจากปัจจุบันค่อนข้างมาก การจะรื้อฟื้นกลับคืนมา จะต้องมีการศึกษาให้รู้ถึงสภาพรูปแบบเดิม เพื่อนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐาน การออกแบบการอนุรักษ์พื้นที่กับการรักษาคุณค่าดังเดิม จะจัดแสดงหลักฐานประตูเมืองออกมาอย่างไร

ถ้าตั้งต้นจากแผนที่นครเชียงใหม่ แผนที่แสดงให้เห็นว่า ป้อมประตูทั้ง 5 ประตู เป็นป้อมประตู 2 ชั้น ต่างจากสภาพปัจจุบันที่ปรากฏลักษณะจะเป็นประตูชั้นเดียว เป็นป้อมที่อยู่กับกำแพงเมือง

แต่ในแผนที่นครเชียงใหม่ ปี 2436 เห็นชัดว่า เป็นป้อมประตูที่ยื่นออกมาจากกำแพงเมือง ทำให้ประตูเมืองมีลักษณะสองชั้น โดยประตูจะเหลื่อมกันอาจเป็นเหตุผลการออกแบบป้องกันข้าศึกไม่ให้การโจมตีเมืองง่ายเกินไป แผนที่จึงทำให้เราทราบว่า ประตูช้างเผือกมีรูปแบบโครงสร้างมากกว่าที่เห็น

เมื่อนำแผนที่มาทับซ้อนกับภาพปัจจุบันจะเห็นว่า โครงสร้างประตูช้างเผือกทับอยู่ในส่วนที่เป็นข่วงลานประตูช้างเผือก และบางส่วนเลยไปอยู่บนถนนรอบคูเมืองด้านนอก จึงเป็นข้อมูลขั้นต้นในการศึกษาข้อมูลทางโบราณคดี

ผลการขุดค้นทางโบราณคดี

หลักฐานแผนที่โบราณนครเชียงใหม่ พ.ศ.2436 พบว่า ประตูช้างเผือกเป็นประตูเมืองแบบ 2 ชั้น ทำให้ประตูเมืองมีลักษณะเป็นป้อมประตู ซึ่งทับซ้อนกับพื้นที่ปัจจุบันสองพื้นที่ คือ ข่วงลานประตูช้างเผือก และมีอีกส่วนยื่นไปทางทิศเหนือทับซ้อน บริเวณถนนรอบคูเมืองด้านนอก

สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ จึงได้ดำเนินการศึกษาทางโบราณคดี ประกอบด้วยงานขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณข่วงประตูช้างเผือกทั้งหมด เพื่อศึกษารูปแบบป้อมประตูช้างเผือก

ผลการขุดศึกษา พบแนวกำแพงเมือง ยาวจากป้อมประตูด้านตะวันตก ต่อเนื่องไปทางตะวันออก หลักฐานดังกล่าวนี้ทำให้ทราบว่า ช่องประตูเมืองที่ปรากฏในปัจจุบันถูกขยายให้กว้างขึ้นกว่าในอดีต

โดยช่องประตูในอดีตมีความกว้าง 10 เมตร โดยประมาณ แนวกำแพงเมืองก่อด้วยอิฐขนาดพิเศษ (อิฐยาว 38 ซม.) เป็นแนวอิฐขนานกัน 2 แนว เว้นพื้นที่ถมอัดดินตรงกลาง แนวอิฐกำแพงด้านนอกเมืองมีความหนากว่าในเมือง ทำให้ทราบได้ว่า กำแพงเมืองเชียงใหม่มีเทคนิคการสร้างโดยการก่ออิฐเป็นขอบ แล้วถมอัดกลางกำแพงด้วยดิน มิได้ก่อเป็นกำแพงอิฐทึบตันทั้งหมด

จากการนำอิฐกำแพงเมืองไปหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ ด้วยวิธีเรืองแสงความร้อน พบว่า มีอายุช่วง พ.ศ.1886-1935 ครอบคลุมช่วงสมัยพญาผายูถึงพญาแสนเมืองมา ทั้งนี้บริเวณปลายด้านทิศตะวันออกของแนวกำแพงเดิม พบแนวอิฐก่อออกไปทางด้านทิศเหนือ แนวอิฐนี้แสดงให้เห็นว่า ประตูช้างเผือกมีลักษณะเป็นประตูแบบ 2 ชั้น คล้ายป้อมปราการยื่นออกมาจากประตูเมือง

นักโบราณคดีขุดประตูช้างเผือก จ.เชียงใหม่ เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา ที่มีมาหลายยุคสมัย

นักโบราณคดีขุดประตูช้างเผือก จ.เชียงใหม่ เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา ที่มีมาหลายยุคสมัย

นักโบราณคดีขุดประตูช้างเผือก จ.เชียงใหม่ เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา ที่มีมาหลายยุคสมัย

โดยมีสิ่งที่น่าสนใจ คือ แนวอิฐนี้มีขนาดอิฐเล็กกว่าอิฐกำแพงเมือง โดยมีความยาว ยาว 28-31 ซม. ข้อมูลนี้เป็นแนวทางที่นำไปสู่ข้อสรุปว่า กรอบป้อมประตูที่ก่อยื่นออกไปทางทิศเหนือ เกิดขึ้นคนละคราวกับกำแพงเมือง

โดยน่าจะเป็นการสร้างขึ้นเพิ่มเติมหลังจากมีกำแพงเมืองและช่องประตู จากการนำอิฐกรอบป้อมประตูหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ พบว่ามีอายุช่วง พ.ศ.2050-2099 ครอบคลุมช่วงสมัยพระเมืองแก้วถึงพระเมกุฏิสุทธิวงศ์

ช่วงเวลาดังกล่าวมีความสอดคล้องกับประวัติความเปลี่ยนแปลง ของกำแพงเมืองเชียงใหม่ คือ สมัยพระเมืองแก้ว โปรดให้มีการสร้างกำแพงเมืองด้วยอิฐ และยกประตูเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ.2063 จึงมีความเป็นไปได้อย่างยิ่ง ที่การสร้างป้อมประตูช้างเผือกเกิดขึ้น ในรัชสมัยพระเมืองแก้ว

ทั้งนี้กรอบป้อมประตู น่าจะมีความเปลี่ยนแปลง หลังจากก่อสร้างไปไม่นาน เนื่องจากพบว่า มีการสร้างแนวกรอบป้อมประตูทางตะวันตกสุดของพื้นที่ ทอดยาวไปทางทิศเหนือ แนวอิฐนี้สอดคล้องกับการยกเลิกการใช้งานกรอบป้อมประตูทางตะวันตกเดิม ที่ยื่นออกมาจากกำแพงและถมปรับพื้นที่ทางตะวันตกของกรอบป้อมประตู ทำให้พื้นที่ที่เคยเป็นคูน้ำที่มาบรรจบกับป้อมประตู กลายเป็นลานขนาดใหญ่ภายในป้อม

นักโบราณคดี สำนักโบราณคดีที่ 7 เชียงใหม่ ขุดพื้นที่บริเวณประตูช้างเผือก เพื่อศึกษาเรื่องราวในอดีตของเชียงใหม่

นักโบราณคดี สำนักโบราณคดีที่ 7 เชียงใหม่ ขุดพื้นที่บริเวณประตูช้างเผือก เพื่อศึกษาเรื่องราวในอดีตของเชียงใหม่

นักโบราณคดี สำนักโบราณคดีที่ 7 เชียงใหม่ ขุดพื้นที่บริเวณประตูช้างเผือก เพื่อศึกษาเรื่องราวในอดีตของเชียงใหม่

ผลจากการยกเลิกกรอบป้อมประตูเดิมทางตะวันตก ทำให้ไม่ปรากฏสภาพแนวกรอบป้อมประตูนี้บนผิวดินตั้งแต่ช่วงเวลานั้น ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ได้ทำแผนที่เมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ.2436 ทำให้แผนที่ฉบับดังกล่าวไม่ปรากฏแนวกรอบป้อมประตูทางตะวันตกแนวเดิม

ที่ด้านทิศเหนือและกลางพื้นที่ พบโครงสร้างกรอบป้อมประตูด้านทิศตะวันออก ซึ่งตรงตามลักษณะที่ปรากฏในแผนที่โบราณเมืองเชียงใหม่ คือมีแนวอิฐที่ยื่นออกมาจากกำแพงและแนวอิฐนี้หักเลี้ยวไปทางทิศตะวันตก

จากนั้นจึงหักมุมขึ้นไปทางทิศเหนือ สู่ตำแหน่งที่เป็นประตูชั้นนอกเมือง ทั้งนี้พบว่า โครงสร้างกรอบป้อมประตูทางตะวันออก มีการสร้างและบูรณะอย่างน้อย 2 สมัย โดยสมัยแรกน่าจะเป็นโครงสร้างที่สร้างขึ้นในคราวเดียวกับกรอบป้อมประตูทางตะวันตก ในสมัยพระเมืองแก้ว

และส่วนที่ก่อเสริม น่าจะเกิดขึ้นในสมัยพญากาวิละ ใน พ.ศ.2344 ที่ปรากฏเนื้อหาในเอกสารประวัติศาสตร์ว่า มีการขุดลอกคู ซ่อมแซมกำแพง ป้อมประตู ป้อมมุมเมือง

นักโบราณคดี สำนักโบราณคดีที่ 7 เชียงใหม่ ขุดพื้นที่บริเวณประตูช้างเผือก เพื่อศึกษาเรื่องราวในอดีตของเชียงใหม่

นักโบราณคดี สำนักโบราณคดีที่ 7 เชียงใหม่ ขุดพื้นที่บริเวณประตูช้างเผือก เพื่อศึกษาเรื่องราวในอดีตของเชียงใหม่

นักโบราณคดี สำนักโบราณคดีที่ 7 เชียงใหม่ ขุดพื้นที่บริเวณประตูช้างเผือก เพื่อศึกษาเรื่องราวในอดีตของเชียงใหม่

จากการขุดทางโบราณคดีพบว่า โครงสร้างป้อมประตูส่วนที่อยู่ด้านเหนือสุดนี้ มีฐานรากลึกกว่าผิวดินปัจจุบัน 2 เมตร ฐานรากป้อมประตูส่วนนี้ มีขนาดใหญ่กว่าโครงสร้างอื่นๆ ที่พบในพื้นที่และแสดงให้เห็นเทคนิคการสร้างที่แตกต่างจากส่วนอื่น คือ มีการใช้ศิลาแลงก่อเป็นฐานรากคั่นกับแนวอิฐอยู่บางช่วงและใช้อิฐรูปแบบพิเศษที่มีเนื้อแกร่ง ขนาดหนา 16 เซนติเมตร (อิฐที่ใช้ในก่อสร้างโบราณสถานในล้านนาโดยปกติมีความหนา 4-6 ซม.) เป็นวัสดุก่อสร้าง

นอกจากนี้ ยังพบงานวางอิฐเป็นแนวรูปวงโค้ง บนชั้นทับถม เหนือส่วนกำแพงป้อมที่พังทลายไปแล้ว ทั้ง 2 ข้างของคูน้ำ สันนิษฐานว่า เป็นผนังขอบกั้นระหว่างคูน้ำ และช่วงพื้นที่หน้าประตูช้างเผือก บริเวณพื้นที่ภายในป้อมมีงานวางเรียงอิฐหักเป็นพื้นลักษณะลาดต่ำไปทางด้านทิศเหนือหรือบริเวณพื้นที่ภายนอกเมืองเชียงใหม่

จากการวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีทั้งหมด สรุปได้ว่า ประตูช้างเผือกน่าจะมีพัฒนาการทั้งหมด 6 ช่วงเวลา คือ สมัยแรก ที่ประตูช้างเผือกถูกสร้างขึ้นพร้อมกำแพงเมืองเชียงใหม่ ในสมัยพญามังรายช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 โดยน่าจะเป็นประตูเมืองแบบชั้นเดียว

ต่อมาในสมัยพญาผายู ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 จึงมีการปรับปรุงกำแพงเมืองเชียงใหม่และประตูเมือง โดยในช่วงเวลานี้ประตูช้างเผือกยังคงรูปแบบประตูเมืองชั้นเดียว การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ของป้อมประตูช้างเผือก เกิดขึ้นในสมัยพระเมืองแก้ว ในกลางพุทธศตวรรษที่ 2

โดยเปลี่ยนแปลงจากประตูเมืองชั้นเดียว ให้กลายเป็นประตูเมือง 2 ชั้น หรือที่เรียกว่า ป้อมประตูการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

สอดคล้องกับบริบททางประวัติศาสตร์ ที่เริ่มใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ดังจะเห็นว่า มีชาวโปรตุเกสเข้ามาเป็นทหารรับจ้างของอยุธยา และเริ่มมีการใช้ปืนใหญ่ในการสู้รบ การสร้างประตูเมืองให้เป็นป้อมประตู จึงน่าจะเป็นหนึ่งในระบบป้องกันเมือง ที่เกิดขึ้นตามพัฒนาการทางการเมืองและการทหารของอาณาจักร

ประตูช้างเผือกมีความเปลี่ยนแปลงช่วงที่ 4 ในสมัยพระเจ้ากาวิละ ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 ซึ่งมิได้เปลี่ยนแปลงเชิงแผนผังรูปแบบประตู เป็นเพียงการซ่อมเสริมกำแพงเมืองและองค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นระบบป้องกันเมือง

การเปลี่ยนแปลงครั้งที่ 5 ของประตูช้างเผือก เกิดขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 25 ก่อนการเสด็จมณฑลพายัพ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ปรากฏแผนที่แสดงให้เห็นว่า ห้วงเวลาดังกล่าวประตูช้างเผือกได้กลายเป็นประตูเมืองชั้นเดียว

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว น่าจะมีขึ้นเพื่อการเตรียมการการเสด็จพระราชดำเนินเมืองเชียงใหม่ ทำให้มีการรื้อป้อมประตู และกำแพงเมืองบางส่วน บริเวณปากประตูช้างเผือกออก เพื่อขยายพื้นที่ประตูเมืองให้มีความกว้าง และสะดวกแก่การเข้าเมือง ในคราวเสด็จพระราชดำเนิน และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังสุดคือ การบูรณะประตูช้างเผือกโดยเทศบาลนครเชียงใหม่ พ.ศ.2508-2510

แผนพัฒนาประตูช้างเผือก

แนวทางการอนุรักษ์พัฒนาประตูช้างเผือก หลักการสำคัญต้องมองคุณค่าพื้นที่ต่อเมือง เช่น คุณค่าทางประวัติศาสตร์ คุณค่าโบราณคดี ตัวตนความเป็นเมืองประตูช้างเผือกถือเป็นประตูแห่งเดียวแสดงคุณค่าป้อมประตู 2 ชั้น เพราะประตูเมืองอื่นๆ ยังไม่มีการขุดค้นศึกษาได้ คุณค่าประโยชน์การใช้พื้นที่เมืองเชิงประโยชน์สาธารณะ เป็นที่ต้องการสังคมในปัจจุบัน คุณค่าด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว

สิ่งที่น่าสนใจแนวทางสามารถประสานประโยชน์และคุณค่ากันได้ ว่าอยากดึงความโดดเด่นตรงไหนออกมา นำเสนอคุณค่าที่จะเป็นประโยชน์ต่อเมืองลดหลั่นกันไป

คุณค่ามีหลายด้าน แต่สิ่งสำคัญต้องมีการจัดเรียง คุณค่าและความสำคัญ การพัฒนาและการอนุรักษ์อยากจะให้คุณค่าไหนเป็นคุณค่าที่โดดเด่นที่สุด

แผนงานต่อไปจะมีการคืนข้อมูลให้กับสังคม จะมีการจัดเสวนา เพื่อให้ประชาชนได้เห็นทางเลือกแนวทางการอนุรักษ์และการพัฒนาพื้นที่ เช่น แนวแรกต้องการความเข้มข้นการนำเสนอแหล่งโบราณคดีและโบราณสถาน อาจมีการแสดงแนวโบราณสถานที่ระดับเดิม รักษาสภาพเดิมพื้นที่

หรือหากต้องการใช้ประโยชน์พื้นที่มากขึ้น รักษาแนวกำแพงเดิม ฝังกลบบางส่วนสามารถใช้พื้นที่ข่วงลานได้ หรืออาจใช้กระจกแบบหนาให้สามารถเดินผ่านได้ หรืออาจจะเป็นข่วงลานแบบประตูท่าแพ หรือทำแนวบนลานบนแนวประตูช้างเผือกอาจมีการสื่อความหมายโดยการก่อแนวอิฐจากแนวเดิมพื้นที่บนลาน ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นแบบไหนเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวเชียงใหม่เห็นคุณค่าแบบไหน และจะเป็นผู้เลือกในการใช้ประโยชน์พื้นที่ ซึ่งอนาคตอาจต้องมีการทำเวทีรับฟังความคิดเห็น การพัฒนาพื้นที่บริเวณประตูช้างเผือก

คุณค่าด้านประวัติศาสตร์ คือสิ่งที่ส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคม เหมือนประตูท่าแพ ถ้ามีแค่ข่วงลาน แต่ไม่มีประตู ข่วงท่าแพก็ไม่มีคนสนใจ

 

รายงาน : โกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง