เราจะนำ “วิทยาศาสตร์” มาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร ?

Logo Thai PBS
เราจะนำ “วิทยาศาสตร์” มาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วิทยาศาสตร์แท้จริงแล้วคือกระบวนการ ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ และหากวิทยาศาสตร์พยายามอุดช่องโหว่ของตัวเองเพื่ออธิบายความเป็นจริงของธรรมชาติแล้ว มันก็อาจเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่เรามี ณ ตอนนี้ในการอธิบายสิ่งต่าง ๆ

“เราจะนำวิทยาศาสตร์มาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร” คำถามนี้อาจจะเหมือนคำถามง่าย ๆ แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถตอบคำถามนี้ได้อย่างซับซ้อน ในขั้นแรกเราอาจจะมองคำถามนี้เหมือนคำถามเช่น “เราจะนำเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร” หรือ “เราจะนำแมวมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร” ซึ่งคำตอบก็อาจจะดูง่ายมาก เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ก็คือการนำเอาปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาใช้ การนำเอาหุ่นยนต์มาใช้ หรือการนำแมวมาใช้ในชีวิตประจำวันก็อาจจะคือการนำมาใช้จับหนู แต่นั่นคือคำตอบในลักษณะที่เรามองว่า เทคโนโลยีหรือแมวเป็นผลิตภัณฑ์ (Product) แต่จริง ๆ แล้วหากเรามองทุกอย่างเป็นกระบวนการ เราอาจต้องถอยย้อนกลับมาหนึ่งก้าวแล้วมองสิ่งที่เป็นกระบวนการมากขึ้น

นักวิทยาศาสตร์ ริชาร์ด ไฟน์แมน (Richard Feynman) ได้เคยเปรียบเทียบการมองวิทยาศาสตร์เป็นเพียงแค่ผลิตภัณฑ์ว่า มันเหมือนกับลัทธิบูชาสินค้าที่หลงลืมกระบวนการที่แท้จริงของวิทยาศาสตร์ ซึ่งนั่นหมายความว่าแท้จริงแล้วการตอบคำถามว่า “เราจะนำวิทยาศาสตร์มาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร” ไม่ใช่การตอบคำถามเชิงการนำเอาผลิตภัณฑ์ของวิทยาศาสตร์ (ซึ่งอาจจะเหมารวมถึง AI หุ่นยนต์ หรือการตัดต่อดีเอ็นเอ) มาใช้ แต่เป็นการนำเอาหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นกระบวนการมาใช้นั่นเอง

นั่นหมายความว่าหากเราต้องการนำเอากระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ เราต้องเข้าใจกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เสียก่อน แต่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เองก็ไม่ได้อยู่นิ่ง ๆ หากผ่านการส่งต่อมาหลายยุคหลายสมัย โดยที่เราอาจมองได้ว่าวิทยาศาสตร์คือศาสตร์ที่พยายามอธิบายความจริงของธรรมชาติ ซึ่งหลักการและกระบวนการของมันอาจเปลี่ยนไปเพื่ออุดช่องโหว่ในอดีต แต่สุดท้ายปลายทางของมันก็คือความพยายามสร้างหลักการที่ใช้ในการอธิบายธรรมชาติให้ได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด

ปัจจุบันกระบวนการทางวิทยาศาสตร์นั้นสอนให้เราอธิบายสิ่งรอบตัวโดยอาศัยการสังเกตพฤติกรรมหรือความเป็นไปของสิ่งรอบตัว และตีความถึงผลที่จะนำไปสู่หรือจะทำให้เกิดขึ้น กล่าวคือ ความเชื่อมโยงของมัน แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องอาศัยขอบเขตในการอธิบาย และถ้าหากเราอธิบาย 3 สิ่งนี้ตามสิ่งที่เราเรียนกันมาในชั้นประถมฯ หรือมัธยมฯ มันจะถูกแทนที่ด้วยคำ 3 คำได้แก่ “ตัวแปรต้น ตัวแปรตาม และตัวแปรควบคุม” โดยเราจะอธิบายความเชื่อมโยงผ่านสิ่งที่เราเรียกเบื้องต้นว่าสมมติฐาน ก่อนที่จะมีกระบวนการบางอย่างเพื่อพิสูจน์สิ่งนั้น โดยที่การพิสูจน์ก็จำเป็นจะต้องบอกขอบเขตด้วยเช่นกัน ว่าในบริบทใดที่จะทำให้สิ่งนั้นเป็นดังเช่นที่เรากล่าวอ้างมา

ยกตัวอย่างเช่น หากเราสังเกตว่าน้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ เราอาจจะต้องอธิบายว่าเหตุใดน้ำจึงไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำได้ด้วย สมมติฐานของเราอาจบอกว่าเพราะโลกมีแรงดึงดูด นั่นหมายความว่าหากเรานำน้ำไปอยู่ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงน้ำจะไม่ได้ไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ หรืออาจจะต้องอธิบายว่าที่สูงหรือที่ต่ำคืออะไร เช่น “ที่สูง” คือบริเวณที่อยู่ไกลจุดศูนย์กลางของโลกมากกว่า (รัศมีเยอะกว่า) “ที่ต่ำ” คือบริเวณที่ใกล้กับจุดศูนย์กลางของโลกมากกว่า ดังนั้นบริเวณขั้วโลกเหนือ กับขั้วโลกใต้ จึงไม่ใช่นิยามความสูงต่ำของโลก นั่นอาจทำให้เราตีความต่อได้ว่า หากมีคนกล่าวอ้างว่า “น้ำไหลจากขั้วโลกเหนือลงสู่ขั้วโลกใต้” จะไม่สมเหตุสมผล เพราะหากขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้อยู่ในบริเวณที่มีรัศมีห่างจากจุดศูนย์กลางของโลกเท่ากัน น้ำก็จะไม่ได้ไหลจากขั้วโลกเหนือสู่ขั้วโลกใต้ หากแต่จะไหลลงในบริเวณที่ต่ำกว่าตามนิยามเรื่องรัศมี

และนั่นคือตัวอย่างของการนำวิทยาศาสตร์มาใช้ในชีวิตประจำวัน ก็คือการอธิบายความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ ตามที่เราสามารถสังเกตได้ โดยการคำนึงถึงขอบเขตหนึ่ง หรือระบบหนึ่ง ดังนั้นเราสามารถนำวิทยาศาสตร์มาใช้ได้กับชีวิตของเรา เพราะชีวิตของเราล้วนต้องสังเกตสิ่งต่าง ๆ เช่น พฤติกรรมของธรรมชาติ พฤติกรรมของคน พฤติกรรมของสัตว์ และความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งต่อกัน โปรแกรมเมอร์ก็ต้องสังเกตพฤติกรรมของคอมพิวเตอร์ เชฟหรือพ่อครัวก็ต้องสังเกตพฤติกรรมของอาหารและความเชื่อมโยงในการหุง อุ่น ตุ๋น ต้ม นึ่งอาหาร ว่าอะไรส่งผลต่ออะไร หรือนักข่าวก็อาจต้องพยายามอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นตามแบบที่มันเป็นจริง ๆ และระวังการตีความที่เป็นตรรกะวิบัติ (Fallacy) หากมองตามนี้แล้ว เราอาจสังเกตได้ว่าหากเรามองวิทยาศาสตร์เป็นกระบวนการ ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ เราจะสามารถนำวิทยาศาสตร์มาใช้กับอะไรก็ได้

และจากความจริงที่ว่าวิทยาศาสตร์พยายามอุดช่องโหว่ของตัวเองในการอธิบายธรรมชาติ ก็อาจนำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า วิทยาศาสตร์อาจเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถหยิบยกมาใช้ในการอธิบายโลกใบนี้ได้ และแม้มันจะยังไม่สมบูรณ์แบบที่สุด แต่มันก็คือเครื่องมือที่ดีที่สุดที่เรามีในปัจจุบันนั่นเอง

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง