พุทธรักษา ดอกไม้สัญลักษณ์ "วันพ่อแห่งชาติ"

ไลฟ์สไตล์
5 ธ.ค. 66
06:00
4,676
Logo Thai PBS
พุทธรักษา ดอกไม้สัญลักษณ์ "วันพ่อแห่งชาติ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันพ่อแห่งชาติ กำหนดขึ้นครั้งแรก ในปี 2523 และกำหนดให้ ดอกพุทธรักษาสีเหลือง เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันพ่อ

ดอกไม้วันพ่อ "พุทธรักษา" สีสอดคล้อง-ความหมายมงคล

ดอกพุทธรักษาเป็นดอกไม้ที่มีสีเหลือง ซึ่งตรงกับวันพระราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือวันจันทร์ เป็นพันธุ์ไม้ที่มีชื่อเป็นมงคลนาม แปลว่า พระพุทธเจ้าคอยปกป้องคุ้มครอง เหมาะกับวัฒนธรรมของบ้านเราที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติที่ชาวพุทธทุกคนควรปกป้องและรักษาไว้

ด้วยเหตุที่สีของดอกไม้สอดคล้องกับวันพระราชสมภพ และความหมายที่เป็นสิริมงคล จึงทำให้ดอกพุทธรักษาเป็นดอกไม้ที่ควรคู่แก่การเป็นสัญลักษณ์ประจำวันพ่อ 

ชื่อไทยของดอกพุทธรักษานั้นไม่มีการบันทึกว่าตั้งโดยผู้ใด แต่เป็นชื่อที่ไพเราะมีความหมายดี มีชื่อท้องถิ่นแตกต่างไปตามพื้นที่

  • ภาคกลางเรียก "สาคูหัวข่า สาคูมอญ"
  • ภาคเหนือเรียก "พุทธสร"
  • จ.ลำปางเรียก "บัวละวงศ์"
  • จ.ลพบุรีเรียก "บัวละวง"
ดอกพุทธรักษา ดอกไม้ประจำวันพ่อแห่งชาติ

ดอกพุทธรักษา ดอกไม้ประจำวันพ่อแห่งชาติ

ดอกพุทธรักษา ดอกไม้ประจำวันพ่อแห่งชาติ

ส่วนชื่อสากลที่เรียกกันคือ แคนนาส์ (Cannas) มาจากศัพท์ของภาษากรีกที่เขียนเป็นอังกฤษว่า (Kanna) ที่หมายถึง ต้นไม้ที่มีลักษณะคล้ายต้นอ้อ นอกจากนี้ ยังมีชื่อเรียกต่างๆ จากหลายประเทศ เช่น ในประเทศอินเดีย เรียก "แคนนา ลิลี่ (Canna lily)", คนจีนเรียก "กวงอิมเกีย เซียวปาเจีย มุยหยิ่งเจีย", จีนกลางเรียกว่า "เหม่ยเหยินเจียว เสี่ยวปาเจียว" เป็นต้น

ส่วนทางสเปน ชาวบ้านนำเมล็ดที่กลมแข็งสีดำมาใช้ทำลูกปัด หรือเครื่องดนตรีที่เรียกว่า โฮชา (Hosha) ของชาวซิมบับเว ที่ใช้เมล็ดพุทธรักษาเป็นส่วนประกอบสร้างเสียงเวลาเขย่า

พฤษศาสตร์ "พุทธรักษา"

ดอกพุทธรักษาเป็นไม้ในเขตร้อน ตามบันทึกถูกพบครั้งแรกในหมู่เกาะเวสอินดี้ และแถบอเมริกาใต้ จะพบได้ทั้งในที่ลุ่มและที่ดอนในเขตต่างๆ อย่างไรก็ตาม ไม้นี้ถูกนำมาพัฒนา เป็นไม้ประดับและขยายพันธุ์ให้ดีขึ้นโดยชาวยุโรปในช่วงเวลาหลายปี มีการปรับตัวให้ทนกับทุกสภาพอากาศในประเทศต่างๆ แม้ว่าสภาพอากาศในเขตที่หนาวจัด เป็นอุปสรรคในการปลูก แต่ถ้าเข้าใจวงจรการเจริญเติบโตและการใช้เทคนิคต่างๆ ก็สามารถชนะธรรมชาติได้ในที่สุด

ดอกพุทธรักษา ดอกไม้ประจำวันพ่อแห่งชาติ

ดอกพุทธรักษา ดอกไม้ประจำวันพ่อแห่งชาติ

ดอกพุทธรักษา ดอกไม้ประจำวันพ่อแห่งชาติ

พุทธรักษาเป็นพืชล้มลุก อายุหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าใหญ่แข็งแรง ลำต้นเหนือดินสูง ประมาณ 80-100 ซม. ประกอบด้วยกลุ่มของก้านใบแผ่เป็นกาบหุ้มประกบกันไว้ ใบเรียงสลับ 2 แถว เป็นใบเดี่ยว รูปไข่ มีสีเขียว สีแดง หรือสีเขียวขลิบแดง มีนวลสีขาวปกคลุม 

พุทธรักษาจะออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ ขนาดเล็กสีเขียวอ่อน กลีบดอก 3 กลีบ เรียวยาวสีส้มปนเหลืองยาวกว่ากลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้ลักษณะเหมือนกลีบดอก สีแดงส้มมีแต้มสีเหลืองสดอยู่ด้านใน เมื่อดอกเหี่ยวจะพบผลแห้งกลมและแตกเมื่อแก่ ภายในมีเมล็ดขนาดใหญ่หลายเมล็ด

สรรพคุณ "พุทธรักษา"

ต้นพุทธรักษา นอกจากเป็นไม้ประดับ ปลูกเพื่อความสวยงามในที่อยู่อาศัยแล้ว ยังมีสรรพคุณทางยาอีกมาก ที่ใช้ประโยชน์จากแทบทุกส่วนของต้น ใบ ดอก เมล็ด เพื่อบรรเทาอาการป่วยต่างๆ ในร่างกาย ถือว่าพุทธรักษาเป็นต้นที่ดีต่อระบบเลือดในร่างกายเป็นอย่างมาก นับเป็นสมุนไพรที่มีคุณประโยชน์ครบถ้วน 

ดอกพุทธรักษา ดอกไม้ประจำวันพ่อแห่งชาติ

ดอกพุทธรักษา ดอกไม้ประจำวันพ่อแห่งชาติ

ดอกพุทธรักษา ดอกไม้ประจำวันพ่อแห่งชาติ

  • เมล็ด แก้อาการปวดศีรษะ 
  • ดอก ช่วยสงบจิต ทำให้หัวใจสดชื่น ขับพิษร้อน ขับน้ำชื้นในร่างกาย ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยห้ามเลือด รักษาแผลสด แผลมีหนอง แก้ฝีหนอง 
  • เหง้า แก้วัณโรค แก้อาการไอ เป็นยาบำรุงปอด ช่วยแก้โรคบิดเรื้อรัง แก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ แก้แผลฟกช้ำอักเสบบวม ช่วยขับเหงื่อ-ปัสสาวะในอาการไข้ ลดอาการท้องร่วง ก้อาการปวดฟัน ไอมีเลือด ฯลฯ
  • ใบ ช่วยแก้อาเจียน ช่วยแก้อาการจุกเสียด แก้ท้องเสีย

พุทธรักษากินหัว

เป็นต้นพุทธรักษาชนิดที่สามารถกินได้ นิยมนำหัวหรือเหง้าใต้ดินมาทำเป็นแป้งสำหรับทำขนมหรือของหวาน ซึ่งบางท้องถิ่นเรียกว่า สาคูหรือสาคูจีน ชาวม้งนำหัวใต้ดินมาต้มหรือนึ่ง ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่นำหัวมาต้มกับน้ำตาลทำเป็นของหวาน ชาวเมี่ยนนำหัวใต้ดินมานึ่งแล้วใช้ผสมกับแป้งทำขนมและจะช่วยทำให้แป้งไม่ติดใบตอง

ดอกพุทธรักษากินหัว

ดอกพุทธรักษากินหัว

ดอกพุทธรักษากินหัว

พุทธรักษากินหัว มีสรรพคุณทางยาจากส่วนของเหง้าสดซึ่งมีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดมวนท้องได้

ที่มา : AMPHO HEALTH 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง