นักวิจัยพัฒนามือหุ่นยนต์แบบ 3 มิติ ที่มีทั้งกระดูกและเส้นเอ็นเป็นครั้งแรก

Logo Thai PBS
นักวิจัยพัฒนามือหุ่นยนต์แบบ 3 มิติ ที่มีทั้งกระดูกและเส้นเอ็นเป็นครั้งแรก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัยจากซูริกร่วมกับบริษัทสตาร์ตอัปจากสหรัฐฯ สร้างความเป็นไปได้ใหม่ด้วยการพัฒนามือหุ่นยนต์แบบ 3 มิติ ที่มีกระดูกและเส้นเอ็นได้เป็นครั้งแรก แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ

การพิมพ์ 3 มิติบนวัตถุชิ้นเดียวจากวัสดุที่แตกต่างกันนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หากวัสดุเหล่านั้นแข็งตัวในอัตราที่ต่างกัน แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยให้ทีมนักวิจัยสามารถพิมพ์วัสดุคุณภาพสูงหลากหลายชนิดด้วยเครื่องพิมพ์ 3D ในครั้งเดียว ส่งผลให้หุ่นยนต์มีความทนทานมากยิ่งขึ้น

ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของหุ่นยนต์ทำจากโพลีเมอร์ซึ่งมีความนุ่มนวลและความแข็งแกร่งที่ต่างกัน โดยใช้เทคนิคการพิมพ์ด้วยเลเซอร์แบบใหม่ที่ช่วยให้เครื่องพิมพ์ 3D สร้างพลาสติกที่มีความยืดหยุ่นได้ในคราวเดียว ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ โดยทีมงานสามารถพิมพ์มือหุ่นยนต์ที่มีทั้งกระดูก และเส้นเอ็นได้ในงานเดียวกันเป็นครั้งแรก โดยใช้เรซินโพลีเมอร์ทั้งแบบแข็งและยืดหยุ่นซึ่งผ่านกระบวนการผลิตในอัตราที่ต่างกัน

พลาสติกที่แข็งตัวช้ามีข้อดีหลายประการในการพิมพ์ 3 มิติ เช่น ช่วยลดความเสี่ยงภายในที่อาจนำไปสู่การบิดงอและการหดตัวในวัตถุที่พิมพ์ และกระบวนการบ่มที่ช้ากว่ายังส่งผลให้งานพิมพ์มีความแข็งแรงและคงทนมากขึ้น เนื่องจากแต่ละชั้นมีเวลามากขึ้นในการติดแน่นกับชั้นก่อนหน้า

ชิ้นส่วนหุ่นยนต์ที่ทำจากวัสดุอ่อน เช่น มือหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้น มีข้อได้เปรียบเหนือมือหุ่นยนต์ทั่วไปที่ทำจากโลหะ เนื่องจากมีความนิ่ม จึงมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บน้อยกว่าเมื่อใช้งานกับมนุษย์ และมีความเหมาะสมกว่าในการจัดการกับวัสดุที่เปราะบาง

ที่มาข้อมูล: engadget, 3dprint, euronews, newatlas
ที่มาภาพ: ethz
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง