รัฐลดค่าครองชีพ ฉุดเงินเฟ้อ พ.ย. ลบ 0.44% ต่ำสุด 33 เดือน

เศรษฐกิจ
7 ธ.ค. 66
15:15
2,353
Logo Thai PBS
รัฐลดค่าครองชีพ ฉุดเงินเฟ้อ พ.ย. ลบ 0.44% ต่ำสุด 33 เดือน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“พาณิชย์” เผย เงินเฟ้อ ลดต่อเนื่อง 2 เดือน ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน สินค้ากลุ่มพลังงาน อาหาร หมู ไก่ น้ำมันพืช ลด ย้ำไม่มีสัญญาณเงินฝืด คาดทั้งปีเงินเฟ้อไทยอยู่ที่ 1.0-1.7% ตั้งเป้าปี 67 ติดลบ 0.3% ถึงบวก 1.7%

วันนี้ (7ธ.ค.2566)นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า มาตรการด้านพลังงานของภาครัฐ ที่ทำใหสินค้ากลุ่มพลังงานปรับลดลง โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล และแก๊สโซฮอล์ 91 และยังมีสินค้ากลุ่มอาหารสำคัญที่ลดลง เช่น เนื้อสุกร ไก่สด และน้ำมันพืช ราคาต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ

ส่งผลให้เงินเฟ้อเดือน พ.ย.2566 เท่ากับ 107.45 เทียบกับ ต.ค.2566 ลดลง 0.25% เทียบกับเดือน พ.ย.2565 ลดลง 0.44% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และต่ำสุดในรอบ 33 เดือน นับจาก ก.พ.2564 และ 11 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) เพิ่มขึ้น 1.41%

“เงินเฟ้อเดือน พ.ย.2566 ที่กลับมาติดลบ 2 เดือนติด ไม่ได้มีสัญญาณอะไร และไม่ต้องกังวลเรื่องเงินฝืด เพราะดูแล้วเดือน ธ.ค.2566 เงินเฟ้อก็จะยังติดลบอีก จากมาตรการลดค่าครองชีพเป็นหลัก”

นายพูนพงษ์ กล่าวอีกว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจ ก็ยังขยายตัว ปี 2566 สภาพัฒน์คาดว่าจะขยายตัว 2.5% และปี 2567 คาดว่าขยายตัว 2.7-3.7% เพราะฉะนั้น ทางเทคนิคยังมีแค่ประเด็นเงินเฟ้อติดลบ ซึ่งที่ติดลบ ก็ไม่ได้มาจากปัจจัยอื่น แต่เป็นเพราะมาตรการรัฐ
โดยสาเหตุหลักยังคงเป็นสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ราคาลดลงต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2

ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น แก๊สโซฮอล์ 95 E85 และ E20 น้ำมันเบนซิน 95 ก๊าซยานพาหนะ (LPG) ค่าโดยสารเครื่องบิน ค่ารถรับส่งนักเรียน เครื่องแบบนักเรียน แป้งทาผิวกาย ยาสีฟัน อาหารสัตว์เลี้ยง สุรา และเบียร์

ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.20% ตามราคาสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวสาร แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง (แป้งข้าวเจ้า ขนมอบ) ไข่ (ไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่เค็ม) รวมทั้ง นมข้นหวาน นมเปรี้ยว และนมถั่วเหลือง ราคาเปลี่ยนแปลงตามการจัดโปรโมชัน

ขณะที่ ผักสด (คะน้า ขิง มะนาว ขึ้นฉ่าย มะเขือเทศ) ปริมาณยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติหลังจากบางพื้นที่เพาะปลูกประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงเดือนที่ผ่านมา และผลไม้สด (ทุเรียน แตงโม ส้มเขียวหวาน) รวมถึงกาแฟผงสำเร็จรูป กับข้าวสำเร็จรูป และอาหารเช้า ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย

สำหรับสินค้าในกลุ่มอาหารสด ราคาลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเฉพาะเนื้อสุกร และไก่สด เนื่องจากสต็อกคงเหลือมีปริมาณมาก และยังมีน้ำมันพืช เครื่องปรุงรส และมะขามเปียก รวมถึงผักและผลไม้บางประเภท เช่น ต้นหอม แตงกวา ถั่วฝักยาว ลองกอง ชมพู่ มะม่วง ราคาปรับลดลง

อ่านข่าว: "กล้วยหอมทองเสิงสาง" รุกตลาดเอเซีย ญี่ปุ่นสั่งซื้อ 5,000 ตัน

นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนธ.ค.2566 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหาร กลุ่มพลังงาน ทั้งค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มดีเซล และแก๊สโซฮอล์ รวมถึงสินค้าอุปโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพอีกหลายรายการ และต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลง จากมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ประกอบกับฐานราคาในช่วงเดียวกันของปี 2565 อยู่ระดับสูง มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง


กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่าง 1.0–1.7% ค่ากลาง 1.35% และยังได้คาดการณ์เงินเฟ้อปี 2567 เป็นครั้งแรก คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2566 จะอยู่ที่ติดลบ 0.3% ถึงเพิ่ม 1.7% ค่ากลาง 0.7%

ปัจจัยที่จะทำให้เงินเฟ้อลดลง เช่น มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐที่คาดว่าจะดำเนินการต่อเนื่อง แนวโน้มการปรับขึ้นราคาสินค้าสำคัญค่อนข้างจำกัด เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น และหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง อาจเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคของประชาชนบางกลุ่ม

แต่ก็มีปัจจัยที่จะกดดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น เช่น ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2566 รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการของรัฐ และยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ค่าเงินบาทที่ผันผวน และมาตรการภาครัฐที่ส่งผลต่อราคาอาจมีหลากหลายรูปแบบ

อ่านข่าว:

เศรษฐกิจส่อฟื้น กนง.มติเอกฉันท์ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.50%

“เวียดนาม” แชมป์ข้าวโลกปี 66 ผู้ส่งออกข้าวเผยไทยไม่ส่งประกวด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง