ยุคค้าข้าวรุ่งเรือง จีนคู่ค้า "ข้าวไทย" สมัยอยุธยาตอนปลาย

ไลฟ์สไตล์
7 ธ.ค. 66
19:15
1,552
Logo Thai PBS
ยุคค้าข้าวรุ่งเรือง จีนคู่ค้า "ข้าวไทย" สมัยอยุธยาตอนปลาย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ และ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กรุงศรีอยุธยาอยู่ในยุคที่ "ข้าว" อุดมสมบูรณ์ เป็น 1 ในสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ โดยมี "จีน" เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด

"ข้าว" เป็นสินค้าสำคัญที่กรุงศรีอยุธยาค้าขายกับต่างประเทศ สยามในกาลนั้นทำการค้าขาย "ข้าว" ทั้งในแผ่นดินและกับต่างชาติมาแต่อดีต เมื่อถึงสมัย "พระเจ้าปราสาททอง" มีการสั่งห้ามขายข้าวกับต่างประเทศ แต่ต่อมา สมัย "สมเด็จพระนารายณ์มหาราช" กรุงศรีอยุธยาก็เริ่มกลับมาขายข้าวให้ต่างประเทศอีกครั้ง โดยประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่จะเป็นชาติตะวันตก เนื่องด้วยมี เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน ขุนนางคนสนิทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นคนกลาง 

อยุธยามีทั้งที่ส่งข้าวไปขายเอง และมีทั้งพ่อค้าฝรั่งเข้ามาซื้อแล้วไปขายต่ออีกที่หนึ่ง เช่น ฮอลันดา ฝรั่งเศส โดยต่างประเทศที่เราค้าข้าวให้ในปลายอยุธยาได้แก่ ฮอลันดา ฝรั่งเศส หัวเมืองชายทะเลแถบมลายู มะละกา ชวา ปัตตาเวีย ญวน เขมร มะนิลา ลังกา ญี่ปุ่น และ จีน

"โกษาจีน" บุกเบิก "จีน" สู่ยุคสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ

หลังจากสิ้นเจ้าพระยาโกษาธิบดี (โกษาปาน) พระคลังในสมัยพระเพทราชาแล้ว มีการแต่งตั้ง ออกญาโกษาธิบดี (โกษาจีน) เป็นเสนาบดีกรมพระคลัง ในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าเสือ ถึง สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เพราะเคยเป็นแม่ทัพไปตีเมืองกัมพูชา เมื่อ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ขึ้นครองราชย์ในช่วงแรก พระองค์มอบงานราชการบ้านเมืองส่วนใหญ่ให้ออกญาโกษาธิบดีเป็นคนจัดการ โกษาจีนใช้โอกาสนี้ ดึงเส้นสายของตน แต่งตั้งคนจีนให้รับราชการในตำแหน่งที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการค้า

จึงทำให้ "จีน" เริ่มจะมีอิทธิพลมากขึ้น "มองซิเออร์ ซิเซ" เขียนบันทึกในปี 2257 ว่าเจ้าพระยาพระคลังมีอิทธิพลมาก และ สนิทกับจีน ชักชวนจีนเข้ามาค้าขาย ทำให้จีนมีบทบาทแทนฮอลันดา เห็นได้จาก สมัยแรกๆ ของปลายอยุธยา ฮอลันดามาซื้อข้าวจากอยุธยามาก แต่ก็เริ่มลดลงจนเกือบจะไม่มีหลักฐานกล่าวไว้เลย เพราะอิทธิพลของฮอลันดาถูกทำให้ลดน้อยลง 

ปี พ.ศ.2265-2300 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ "จีน" กลายเป็นตลาดค้าข้าวที่สำคัญของอยุธยา บวกกับประชากรจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการบริโภคข้าวเพิ่มขึ้น จีนต้องประกาศว่า "ถ้าไทยส่งข้าวไปขายถึง 3,000,000 ถัง (300,000 เจี๊ยะ) แล้วจะไม่เสียภาษี" ซึ่งแหล่งข้าวที่จีนต้องการคือ "อยุธยา" 

สอดคล้องกับบันทึกของจีนในปี 2265 บอกว่า "ชาวสยามพูดว่า บ้านเมืองเขานั้นข้าวสารสมบูรณ์ และถูกมาก เงิน 2-3 สลึงซื้อข้าวได้เจี๊ยะหนึ่ง" (เท่ากับ 10 ถัง) เกวียนหนึ่งก็ตกราว 7 บาทกว่า แสดงให้เห็นว่า "ข้าว" ในอยุธยาในขณะนั้นมีจำนวนมากจริงๆ 

"จีน" ลูกค้าข้าวรายสำคัญของอยุธยา

การค้าขาย "ข้าว" ระหว่างอยุธยากับจีนนั้น เรื่อยยาวมาจนถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จากในปี 2265 ที่อยุธยาส่งราชทูตไปค้าขายข้าวที่จีน และสามารถกระจายข้าวไปยังอีกหลายมณฑลในประเทศจีน กระทั่งจีนให้มาตรการพิเศษลดภาษี หากอยุธยาส่งข้าวให้ได้กว่า 40,000 ถัง 

ภาพประกอบข่าว : ข้าว

ภาพประกอบข่าว : ข้าว

ภาพประกอบข่าว : ข้าว

โดยที่จีนมีความต้องการข้าวอย่างมาก คือ ฮ่องเต้จีนได้ประกาศว่า เอาข้าวไปขาย 3,000,000 ถัง จะไม่ต้องเสียภาษี ต่อมาก็ตั้งธรรมเนียมใหม่ว่า ถ้าเอาไปขาย 100,000 ถัง เก็บภาษี 10 ส่วน ลด 5 ส่วน และ 50,000 ถัง เก็บ 10 ส่วน ลด 3 ส่วน เมื่ออยุธยาส่ง 40,000 กว่าถัง จีนก็ลดภาษีพิเศษให้ และท้ายสุดยังประกาศให้รางวัลผู้มาซื้อข้าวได้มากกว่า 20,000 ถัง อีกด้วย 

ถ้าเป็นเช่นนี้ก็แสดงว่า "ข้าวอยุธยา" ที่ประเทศต่างๆ ซื้อ จะไม่มีประเทศใดซื้อมากเท่าจีนเลย เทียบจากจีนซื้อข้าวเป็นจำนวนหมื่นถัง ขณะที่ฮอลันดาซื้อตัวเลขแค่พันเท่านั้น  (ฮอลันดาซื้อ 1,700 กว่าถัง หรือเท่ากับ 285 กระสอบ) 

เรียบเรียงจาก : ศิลปวัฒนธรรม, ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ และ พรนิภา พฤฒินารากร บทความ "ข้าว: ในสมัยปลายอยุธยา พ.ศ.2199-2130", ข้าวไพร่-ข้าวเจ้า ของชาวสยาม ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปี 2531

ข่าวที่เกี่ยวข้อง