ภาวะ “หย่อนสมรรถภาพทางเพศเรื้อรัง” จากสภาวะภายในอวกาศ

Logo Thai PBS
ภาวะ “หย่อนสมรรถภาพทางเพศเรื้อรัง” จากสภาวะภายในอวกาศ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การทดลองในหนูที่จำลองสภาวะแวดล้อมคล้ายอวกาศพบว่า หนูเพศผู้จำนวนมากลึงค์ไม่แข็ง แม้จะได้รับการกระตุ้นทางเพศ และเป็นผลเรื้อรังแม้จะผ่านการทดลองไปแล้วเป็นหลักปี

การดำรงชีวิตอยู่ในอวกาศระยะยาวสำหรับโครงการในอนาคต อย่างการเดินทางไปยังดาวอังคารหรือการสร้างอาณานิคมบนดวงจันทร์ การสามารถทำกิจกรรมบนอวกาศได้เหมือนกับสภาวะปกติบนโลกคือหนึ่งในสิ่งที่จำเป็นสำหรับกลุ่มคนเหล่านั้น หากพวกเขาไม่สามารถทำกิจกรรมได้เหมือนกับมนุษย์ปุถุชนทั่วไปแล้ว คงเป็นเรื่องที่น่าลำบากใจไม่ใช่น้อย

สภาวะแวดล้อมภายในอวกาศ นอกจากจะเป็นสภาพแวดล้อมที่เต็มความเครียดจากสภาวะที่ไม่ปกติเหมือนบนโลก ยังแฝงไปด้วยผลร้ายจากสภาวะแวดล้อมเหล่านั้นเยอะเสียด้วย ทั้งการที่ปราศจากแรงโน้มถ่วงจนส่งผลให้ระบบไหลเวียนต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้แย่ลง การลดลงของมวลกล้ามเนื้อและมวลกระดูกในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง และความเสี่ยงของการเสื่อมถอยของอวัยวะต่าง ๆ จากการถูกพุ่งชนด้วยอนุภาคพลังงานสูงต่าง ๆ จากภายนอกยานอวกาศ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้แม้อาจจะดูเล็กน้อย แต่ความแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับร่างกายเมื่อกินระยะเวลาเหล่านั้นนานขึ้นเรื่อย ๆ มันจะค่อย ๆ สะสมความผิดพลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นความผิดพลาดที่ร้ายแรงขึ้นและอาจส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมได้ เมื่อเราต้องใช้ชีวิตภายในอวกาศที่ไม่ใช่แค่หลักวันหรือหลักเดือน แต่มันอาจหมายถึงหลักปี หรือตลอดชีวิตของคนคนหนึ่ง

งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในชื่อ Neurovascular dysfunction associated with erectile dysfunction persists after long-term recovery from simulations of weightlessness and deep space irradiation ภายใต้ Federation of American Societies for Experimental Biology (FASEB)

หนึ่งในกิจกรรมกับที่สำคัญที่สุดของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดคือการขยายเผ่าพันธุ์หรือการผสมพันธุ์ แต่มันจะเกิดอะไรขึ้นหากชีวิตที่อยู่ในอวกาศทั้งหมดนั้นไม่สามารถสืบพันธุ์ได้เพราะปัจจัยเล็ก ๆ ที่เกิดจากการที่เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรืออาการ “นกเขาไม่ขัน”

ค่อนข้างมีงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่เริ่มหันมาใส่ใจกับการที่ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานไม่ปกติภายใต้สภาวะแวดล้อมในอวกาศ ในจำนวนนั้น มีงานวิจัยหนึ่งที่ได้อ้างว่าเป็นครั้งแรกที่ได้ทำการศึกษาผลของสภาวะแวดล้อมในอวกาศกับการแข็งตัวของลึงค์หนูทดลอง ถึงแม้ว่า โครงสร้างของลึงค์หนูจะไม่เหมือนกับมนุษย์ แต่ระบบการทำงานของลึงค์นั้นเหมือนกันคือ “ต้องแข็งตัว” จึงจะทำงานที่อยากทำได้

คณะนักวิจัยนำหนูปล่อยในสภาวะแวดล้อมที่มีปริมาณและสัดส่วนของรังสีใกล้เคียงกับรังสีคอสมิกในอวกาศ และในกลุ่มการทดลองบางกลุ่มก็เลือกทำการห้อยอวัยวะช่วงท้าย (Hindlimb Unloading) ให้กับหนูเพื่อจำลองสภาวะไร้น้ำหนักที่จำลองสภาพที่สามารถขยับอวัยวะส่วนหน้าได้อย่างเดียว และอวัยวะส่วนหลังไม่ค่อยได้ใช้งานเหมือนกับสภาวะในอวกาศ

ทีมนักวิทยาศาสตร์พบว่าภายหลังจากการทดลอง เนื้อเยื่อเซลล์หลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงลึงค์ของหนูได้รับความเสียหายจนส่งผลต่อการแข็งตัว ทำให้ลึงค์ไม่แข็งแม้จะได้รับการกระตุ้น ซึ่งการได้รับรังสีและสภาวะไร้น้ำหนักแบบที่หนูได้รับส่งผลกระทบที่รุนแรง จนพบว่าหนูในกลุ่มนี้มีอาการลึงค์ไม่แข็งเรื้อรังแม้ระยะเวลาจะผ่านไปยาวนานเกินหนึ่งปีภายหลังการทดลองแล้วก็ตาม

ถึงแม้เทคโนโลยีปัจจุบันจะสามารถรักษาอาการลึงค์ไม่แข็งได้ แต่ก็จำเป็นต้องใช้เวลาในการรักษาอาการเหล่านี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงสภาวะโรคเรื้อรังที่อาจส่งผลต่อสังคมของชีวิตบนอาณานิคมต่างดาวของมนุษย์ในอนาคต หากไม่มีการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องเหล่านี้ได้ดีพอ

ที่มาข้อมูล: faseb

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง