7 สมาคม ขอบคุณ "เศรษฐา" ปราบ "หมูเถื่อน"

อาชญากรรม
11 ธ.ค. 66
17:39
533
Logo Thai PBS
7 สมาคม ขอบคุณ "เศรษฐา" ปราบ "หมูเถื่อน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และอีก 6 สมาคมวิชาชีพ ขอบคุณ "เศรษฐา" และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาหมูเถื่อน พร้อมยื่น 9 ประเด็นเรียกร้องเร่งบรรเทาความเดือดร้อนภาคปศุสัตว์

วันนี้ (12 ธ.ค.2566) นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ พร้อม 6 สมาคมวิชาชีพสัตวแพทย์ สัตวบาล เวชภัณฑ์ อาหารสัตว์ และผู้แปรรูปปศุสัตว์เพื่อการส่งออก พร้อมผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ รวมตัวหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอบคุณนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีปราบปรามหมูเถื่อนจริงจัง

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่า ปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนจากต่างประเทศ สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้เลี้ยงสุกรในไทย เพราะถูกแย่งตลาด

แม้ว่าปัจจุบันกระบวนทางกฎหมายในการปราบปรามผู้กระทำความผิด ตั้งแต่การลักลอบ หลีกเลี่ยง และนำเข้าสู่ตลาดภายในประเทศมีความคืบหน้าไปมาก แต่ยังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเกษตรกรไทย ที่ยังคงขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ซึ่งการเลี้ยงหมูของไทยมีต้นทุนสูงกว่าต่างประเทศ

สาเหตุให้มีการลักลอบนำเข้าสินค้า คือ ปัญหาต้นทุนการผลิตหมูของไทยที่สูงกว่า โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกากถั่วเหลือง รวมถึงวัตถุดิบอื่นที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ของไทยมีราคาสูงกว่าราคาตลาดโลกอยู่มาก

นายสิทธิพันธ์ กล่าวว่า นโยบายปกป้องเกษตรกรในประเทศ และการแสวงหาผลประโยชน์จากบุคคลบางกลุ่ม ที่แม้ราคาวัตถุดิบสูงขึ้นแต่ประโยชน์ไม่ตกถึงเกษตรกรไทย หากทบทวนมาตรการรัฐและกำกับดูแลราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เหมาะสมได้ จะช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตของภาคปศุสัตว์ได้อย่างมาก เกิดความเป็นธรรมทั้งเกษตรกร ผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ และเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทั้งระบบ

นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ ได้ยื่น 9 ประเด็นต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้สั่งการแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนของภาคปศุสัตว์ ได้แก่ เร่งรัดดำเนินคดีผู้นำเข้าเนื้อหมูผิดกฎหมาย, เร่งรัดมาตรการทางการเงินให้เร็วขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยที่ประสบปัญหาขาดทุน-วิกฤตด้านราคาหมูตกต่ำ,  เนื่องจากหมูเป็นสินค้าควบคุม ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ จึงขอให้มีการกำกับดูแลราคาสินค้าหมู และหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มให้เกิดความเป็นธรรม สามารถปรับเพิ่มราคาขายได้ให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นได้ 

ขอให้ระงับการนำสินค้าหมูเข้าไปอยู่ในกรอบการเจรจาเขตการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป (FTA Thai-EU) ตราบใดที่ภาคปศุสัตว์ของไทย ยังต้องแบกรับผลผลิตพืชอาหารสัตว์ในราคาที่สูงกว่าตลาดโลก, ห้ามจำหน่ายสินค้าหมูสดในช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพของสินค้าในระหว่างการจัดส่งผ่านช่องทางการขนส่งทั่วไปที่ไม่มีการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม และไม่มีการควบคุมการเคลื่อนย้ายซากสัตว์, ขอให้กำกับดูแลราคาสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เข้มงวดในการบังคับใช้ประกาศมาตรฐานการหักลดน้ำหนักเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีความชื้น ของกรมการค้าภายในเพื่อไม่ให้ผู้รวบรวมรับซื้อข้าวโพดท้องถิ่นกดราคารับซื้อจากเกษตรกรเกินความเป็นจริง รวมถึงให้พิจารณาทบทวนวิธีการคำนวณหักน้ำหนักความชื้นให้เหมาะสมสอดคล้องกับปัจจุบันที่มีการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์และรูปแบบการเพาะปลูก

ขอให้ยกเลิกมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น มาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วน การกำหนดระยะเวลานำเข้าข้าวโพด AFTA และให้มีการขึ้นทะเบียนผู้นำเข้าแทน ซึ่งมาตรการเหล่านี้ ทำให้ไทยมีราคาวัตถุดิบที่สูงกว่าทุกประเทศในโลก และพิจารณาปรับลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ภาษีกากถั่วเหลือง 2%, ภาษีกากเบียร์ (DDGS) 9% และภาษีปลาป่น 15% รวมถึงภาษีวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดอื่น เนื่องจากจะเป็นต้นทุนที่ส่งผ่านต่อมายังผู้เลี้ยงสัตว์

ขอให้พิจารณาโครงสร้างราคากากถั่วเหลืองเมล็ดนำเข้าที่ขายภายในประเทศตามต้นทุนการผลิตจริง เนื่องจากมีการตั้งราคาอ้างอิงตลาดโลกโดยบวกค่าขนส่งและภาษีนำเข้า 2% ไปในราคาขาย, ส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ที่ได้ที่มาตรฐาน GAP และส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยี GMO หรือ Gene Editing ที่จะทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น เป็นการลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวสายพันธุ์ที่ได้ผลผลิตสูงที่เหมาะสำหรับเป็นพืชอาหารสัตว์โดยตรง โดยภาคเอกชนยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม และต่อเนื่อง

สำหรับการรวมตัวของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และอีก 6 สมาคมวิชาชีพในวันนี้ ประกอบด้วย สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย สมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์ สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยฯ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง