“เชียงราย เบียนนาเล่” เจ้าถิ่นปะทะอินเตอร์

Logo Thai PBS
“เชียงราย เบียนนาเล่” เจ้าถิ่นปะทะอินเตอร์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ธันวาคมนี้ ประเทศไทยจะมี Thailand Biennale เป็นครั้งที่ 3 แล้ว บ้านเรายังมือใหม่กับมหกรรมศิลปะนานาชาติ จึงเรียนรู้อุดช่องโหว่ของครั้งที่ผ่านๆ มา

ครั้งนี้เชียงรายทำได้สำเร็จกับการดึงศิลปินท้องถิ่นมามีส่วนร่วมให้มากที่สุด นอกจากเป็นศิลปินหลักถึง 6 คน ยังมีอีกนับร้อยอยู่ในส่วนอื่นของ Thailand Biennale เรียกได้ว่าไปสุดทาง ชูเจ้าถิ่นปะทะอินเตอร์

เมื่อต้นกระบกอายุกว่า 200 ปี ที่ยืนต้นตายในไร่เชิญตะวัน เจอกับ ประติมากรเชียงราย “ชาตะ ใหม่วงค์” ผู้ทำงานคืนชีวิตให้เศษไม้ จากซากก็คืนคุณค่าอีกครั้ง กลับหัวกลับหางจนมองใหม่ก็เหมือนช่อดอกไม้เบ่งบาน สร้างเสร็จจะกลายเป็นประติมากรรมที่คนเดินทะลุได้ ในชื่อ “นิพพานเมืองแก้ว” ให้ 4 เสา สื่ออริยสัจ 4 วิธีดับทุกข์ในพุทธศาสนา

เข้ากับธีมของพื้นที่ศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวัน หนึ่งในผลงานศิลปินเจ้าถิ่น ที่มีถึง 6 คนในหมวดนิทรรศการหลักของ Thailand Biennale 2023 อย่าง บู๊ซือ อาจอ, สมลักษณ์ ปันติบุญ, สมพงษ์ สารทรัพย์, ทรงเดช ทิพย์ทอง, ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ เป็นสัดส่วนร้อยละ 10

ซึ่งมากกว่ามหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ 2 ครั้งที่ผ่านมา ที่แสงส่องถึงศิลปินเจ้าบ้านแค่บางเบา หากเชียงรายทำได้ เพราะมีคนกลางอย่างภัณฑารักษ์ชาวเชียงรายเชื่อมโยง ผนวกพลังศิลปินเชียงรายอีกหลายร้อย กระจายตัวไปมีส่วนร่วมในเบื้องหลังผลงานศิลปินต่างชาติ ในพาเหรด ถึงพาวิลเลียน ชูศักยภาพเจ้าถิ่นปะทะศิลปินอินเตอร์

อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ภัณฑารักษ์ Thailand Biennale เชียงราย กล่าวว่า เรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ และเป็นหน้าที่พี่เลย คือการเชื่อมโยงศิลปินท้องถิ่นเข้ากับเบียนนาเล่ อยากให้ชุมชนสังคมในเชียงรายมีส่วนร่วมได้มากสุด

ในลิสต์มีศิลปินเชียงราย 6 คน ในเมนโชว์ และใน 5 พาวิลเลียน มีศิลปินเชียงราย 200 กว่าคน และมีอีก 62 บ้านศิลปิน

เชียงรายมีความพร้อม เป็นเมืองศิลปิน เรามีศิลปินแห่งชาติ 3 คน คือ ดำรง วงศ์อุปราช, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ถวัลย์ ดัชนี มีรากพื้นบ้าน หัตถศิลป์ จึงเลี่ยงไม่ได้เลยที่ท้องถิ่นต้องได้มีส่วนร่วมในเบียนนาเล่

ยังมีเบื้องหลังอีก เช่น การทำงานของ ไมเคิล ลิน จากไทเป คนที่เป็นมือเพนท์งานทั้งหมด ก็กลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ของเชียงราย งานของ เรียวสุเกะ คิโดะ ก็ทำงานกับ สล่าคำจันทร์ ยาโน ช่างไม้อาวุโสของเชียงราย)

สุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะ กล่าวว่า “เครื่องยนต์ของ Thailand Biannale คือ ขัวศิลปะ” คำนี้ถ้าใครได้ฟังก็ตื้นตัน เพราะเราเอาจริงเราทำจริง ส่งพี่น้องศิลปินไปแทรกซึมทุกอำเภอ

เราตื่นเต้นตั้งแต่ 3 ปี ที่ผ่านมาละครับ กระบี่ โคราช มาเจอของจริงที่นี่เชียงรายแตกต่างแน่นอนเราทำทุกคนให้เป็นศิลปิน จะให้คนอีกซีกโลกนึกได้เห็นว่า เชียงรายเราทำอะไรกันอยู่

ความเหนียวแน่นของศิลปินเชียงราย ยังมาจากวาระเรียกร้องหอศิลป์ที่ได้มาตรฐาน ให้กับศิลปินท้องถิ่นที่มีมากกว่า 300 ชีวิต แม้ต่อสู้ผ่านความผิดหวัง แต่ก็ก่อเกิดเป็นพลังมวลชน สู่วันนี้ได้มีหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย รองรับการเป็นเจ้าบ้าน Thailand Biennale ครั้งที่ 3

การสร้างพื้นที่ให้พี่น้องศิลปิน ยังเป็นแนวคิดของการสร้างศาลาจากไม้เก่า กลางเกาะ ใกล้ๆ หอศิลป์ใหม่ โดยศิลปินใหญ่แห่งบ้านดอยดินแดง อดีตนายกสมาคมขัวศิลปะ สมลักษณ์ ปันติบุญ ให้ภายในจัดแสดงงานศิลปินท้องถิ่น เปรียบคล้ายๆ พาวิลเวียนของพี่น้องประติมากรเชียงราย

สมลักษณ์ ปันติบุญ ศิลปิน-อดีตนายกสมาคมขัวศิลปะ กล่าวว่า ศิลปินมันเยอะ มันไม่มีพื้นที่แสดงงานอะเนาะ ตอนนี้ได้หอศิลป์ ได้ความร่วมมือ อาจจะไม่ได้ถึงเท่าที่ควร แต่มันก็ดีที่สุดแล้ว ได้สร้างงานมันตื่นเต้นนะ เด้งไปติดเกาะ เราเรียกว่าศาลาสวนประติมากรรม โจทย์ที่ดีคือเราได้รับใช้มวลชนด้วย พี่น้องของผมที่นี่เป็น Scupture เราก็ขอเชิญเข้ามาร่วม)

ด้าน ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ ศิลปิน บอกว่า พอมีมหกรรมศิลปะก็เป็นเรื่องดี เพราะอย่างน้อย ๆ ศิลปินได้มีเวทีมีโอกาสแสดงผลงานของตัวเอง แล้วก็เป็นอะไรที่แบบทั้งจังหวัด เป็นเรื่องน่ายินดี อาจารย์ก็ติดโผไปเพราะย้ายมาเชียงรายเค้าก็ให้เกียรติ

9 ธ.ค.2023 - 30 เม.ย.2024 ตลอด 5 เดือน ของเบียนนาเล่ หวัง เงินสะพัด 3 หมื่นล้าน ทั้งในเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง คาดช่วยจ้างงานคนในพื้นที่ได้มากกว่า 8,000 คน และหลังกระแสที่เชียงรายจุดติด รมว.วัฒนธรรมคนใหม่ ก็รับเรื่องพิจารณาเพิ่มงบประมาณสนับสนุนวงการศิลปะ หากทำจริง ยิ่งส่งผลดีต่อเบียนนาเล่ครั้งหน้า

กริษฐา ดีมี ผู้สื่อข่าว รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง