อังกฤษพบฟอสซิล "อสูรทะเลยักษ์" 150 ล้านปีแรงกัดเทียบชั้น T-Rex

ต่างประเทศ
12 ธ.ค. 66
15:34
4,325
Logo Thai PBS
อังกฤษพบฟอสซิล "อสูรทะเลยักษ์" 150 ล้านปีแรงกัดเทียบชั้น T-Rex
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทีมนักวิทยาศาสตร์อังกฤษค้นพบฟอสซิลส่วนหัวกะโหลกของ "อสูรทะเลยักษ์" ที่มีอายุเก่าแก่ถึง 150 ล้านปี ฝังในหน้าผาริมชายฝั่งยุคจูราสสิกอันเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของเมืองดอร์เซ็ต ตอนใต้ของสหราชอาณาจักร

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2566 สำนักข่าว BBC รายงานการค้นพบฟอสซิล "อสูรทะเลยักษ์" หรือ "ไพลโอซอร์" (Plaiosaur)  สัตว์เลื้อยคลานขนาดยักษ์จากยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งเป็นผู้ล่าที่ดุร้ายน่ากลัวแห่งท้องทะเลในอดีต เฉพาะกะโหลกศีรษะมีความยาว 2 เมตร นับเป็นชิ้นส่วนฟอสซิลของ "ไพลโอซอร์ที่สมบูรณ์ที่สุด เท่าที่เคยมีการค้นพบมา" ดร.สตีฟ เอ็ตช์ นักบรรพชีวินวิทยาซึ่งทำงานในพื้นที่ชายฝั่งของอ่าวคิมเมอริดจ์ (Kimmeridge) ระบุไว้

และยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขากรรไกรล่างและหัวกะโหลกส่วนบน สบประสานเข้าด้วยกันพอดีอย่างลงตัว เหมือนกับตอนที่มันยังมีชีวิตอยู่ แม้รูปทรงของมันจะบิดเบี้ยวไปเล็กน้อย แต่กระดูกทุกชิ้นยังอยู่ครบ ต่างจากฟอสซิลคุณภาพดีจำนวนมากที่ล้วนมีชิ้นส่วนบางอันขาดหายไปอย่างละนิดละหน่อย

ฟอสซิลไพลโอซอร์ที่ถูกค้นพบแล้วทั่วโลกนั้น
แทบจะไม่มีชิ้นใดเลยที่ยังคงมีรายละเอียดหลงเหลืออยู่มากขนาดนี้

นักบรรพชีวินวิทยาระบุว่า ไพลโอซอร์มีขนาดลำตัวยาว 10-12 เมตร มีครีบกว้างเหมือนใบพายหรือตีนกบ 4 ครีบ ใช้แหวกว่ายไปในท้องทะเลได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มันเป็นสัตว์ผู้ล่าระดับสุดยอดของห่วงโซ่อาหารในมหาสมุทรยุคโบราณ

นี่มัน "T-Rex ทะเล" ชัดๆ

ดร.อันเดร โรว์ จากมหาวิทยาลัยบริสตอลของสหราชอาณาจักร แสดงความเห็นว่า ไพลโอซอร์จะต้องตัวใหญ่มาก มันน่าจะล่าเหยื่อทุกชนิดได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ประเภทไหนที่หลงเข้ามาในอาณาเขตของมันก็ตาม พร้อมเปรียบเทียบว่า นี่คือ "ทีเร็กซ์ทะเล" ชัดๆ

อาหารมื้อใหญ่ของไพลโอซอร์ยังรวมถึงสัตว์เลื้อยคลานทะเลคอยาว "เพลซิโอซอร์" (Plesiosaurs) ที่เป็นญาติของมัน รวมทั้ง "อิกทีโอซอร์" (Ichthyosaur) สัตว์เลื้อยคลานทะเลที่คล้ายโลมาด้วย หลักฐานจากฟอสซิลที่ค้นพบก่อนหน้านี้ยังชี้ว่า ในบางครั้งมันก็กินพวกเดียวกันเป็นอาหาร

ที่มาของการค้นพบฟอสซิลหัวกะโหลกยักษ์ของไพลโอซอร์ในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ โดยมีผู้พบฟอสซิลส่วนจมูกตกอยู่ที่พื้นชายหาดโดยบังเอิญ จึงได้ติดต่อทีมของ ดร.เอ็ตช์ ให้มานำไปศึกษา จากนั้นทีมของ ดร. เอ็ตช์ ใช้โดรนบินสำรวจหน้าผาที่ติดกับชายหาด ซึ่งคาดว่าฟอสซิลส่วนจมูกร่วงหล่นลงมาจากส่วนหัวและลำตัวที่ยังคงติดอยู่ในหน้าผาด้านบน แม้จะค้นพบตำแหน่งที่ว่าแล้ว

แต่การสกัดฟอสซิลที่เหลือเพื่อนำออกมาจากหินผาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทีมงานต้องห้อยโหนโยนตัวลงมาจากหน้าผา แล้วค่อย ๆ สกัดเอาฟอสซิลที่เปราะบางออกมาอย่างเบามือ 

ขากรรไกรแข็งแกร่ง บดขยี้เหยื่อแหลกคาปาก

ศ.เอมิลี เรย์ฟีลด์ นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยบริสตอลของสหราชอาณาจักร 1 ในทีมผู้ศึกษาฟอสซิลชิ้นนี้บอกว่า มีช่องรูปร่างวงกลมขนาดใหญ่ด้านหลังกะโหลกศีรษะของไพลโอซอร์ ชี้ถึงขนาดของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของขากรรไกร ทำให้เชื่อว่า ไพลโอซอร์สามารถสร้างแรงกัดทรงพลังที่บดขยี้เหยื่อให้แหลกคาปากได้

ประมาณการว่า ไพลโอซอร์ตัวนี้สามารถออกแรงกัดได้สูงสุดถึง 33,000 นิวตัน นับว่าทรงพลังกว่าจระเข้น้ำเค็ม ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีขากรรไกรแข็งแกร่งที่สุดในยุคปัจจุบันถึง 2 เท่า

ถ้ามันสร้างแรงกัดที่ทรงพลังได้ขนาดนั้น มันจะทำให้เหยื่อหมดฤทธิ์และหนีไม่รอดอย่างแน่นอน แรงกัดมหาศาลยังทำให้บดขยี้เนื้อเยื่อและกระดูกของเหยื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ศ.เรย์ฟีลด์ กล่าว ส่วนเทคนิควิธีที่มันใช้ในการกินเหยื่อนั้น น่าจะเป็นแบบเดียวกับจระเข้ ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีโครงสร้างหัวกะโหลกขยายออกด้านหลังเหมือนกัน โดยพวกมันจะงับเหยื่อให้แน่นแล้วบิดด้วยการหมุนตัว เพื่อให้แขนขาของเหยื่อขาดหลุดออกมา

วางแผนโชว์ตัวปีหน้า

ดร. เอ็ตช์ มีแผนจะนำฟอสซิลนี้ออกแสดงต่อสาธารณชนในปี 2567 ที่พิพิธภัณฑ์ Etches Collection ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของเขาในเมืองคิมเมอริดจ์ 

เขายังคงมุ่งมั่นที่จะค้นหาฟอสซิลส่วนที่เหลือของไพลโอซอร์ตัวนี้ต่อไป เนื่องจากมีกระดูกสันหลังไม่กี่ชิ้นติดมากับฟอสซิลส่วนหัวนี้ด้วย ทำให้คาดได้ว่าฟอสซิลส่วนลำตัวขนาดมหึมาของมัน น่าจะยังคงฝังอยู่ในหน้าผาแห่งเดิมนั่นเอง

ผมเอาชีวิตเป็นเดิมพันเลยว่า ร่างส่วนที่เหลือของมันยังคงอยู่ที่นั่น และน่าจะโผล่ออกมาจากหินผาในอีกไม่ช้า เพราะสภาพแวดล้อมโดยรอบของหน้าผาแห่งนี้ กำลังถูกกัดกร่อนให้พังทลายลงอย่างรวดเร็ว หน้าผาส่วนนี้หดตัวถึงปีละ 1 ฟุต ดังนั้นอีกไม่นาน ชิ้นส่วนที่เหลือของไพลโอซอร์ตัวนี้จะร่วงหล่นลงมาและอาจสูญหายได้ มันจึงเป็นโอกาสที่มีเพียงครั้งเดียวในชีวิตจริงๆ ดร. เอ็ตช์ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : BBC

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง