5 สินค้า-ธุรกิจอ่วม ปรับค่าไฟ 4.68 บาท ดันเงินเฟ้อต้นทุนพุ่ง

เศรษฐกิจ
15 ธ.ค. 66
17:17
714
Logo Thai PBS
5 สินค้า-ธุรกิจอ่วม ปรับค่าไฟ 4.68 บาท ดันเงินเฟ้อต้นทุนพุ่ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สนค.ชี้ค่าไฟฟ้าขึ้นก้าวกระโดด จาก 3.99 บาท เป็น 4.68 บาทต่อหน่วย กระทบเงินเฟ้อต้นทุนผลิตเพิ่ม 5 สินค้า-ธุรกิจ กระทบมากสุด น้ำแข็ง ค่าห้องพักโรงแรม น้ำประปา เสื้อผ้า และผ้าอ้อมเด็ก รวมถึงค่าเช่าบ้านและอาหารสำเร็จรูป สนค.แนะทยอยปรับ

วันนี้(15 ธ.ค.2566) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. วิเคราะห์ผลกระทบของการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปและต้นทุนในระบบเศรษฐกิจ พบว่า หากมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย เท่ากันทั้งครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม จากระดับปัจจุบัน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 17.29 จะส่งผลกระทบในหลากหลายมิติ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

ทั้งอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ต้นทุนผู้ประกอบการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดอยู่แล้ว เนื่องจากค่ากระแสไฟฟ้าเป็นปัจจัยการผลิตต้นน้ำที่สำคัญ หากปรับขึ้น จะส่งผ่านผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั้งกลางน้ำและปลายน้ำ และยังส่งผลกระทบทางตรงและทางอ้อมได้เป็นวงกว้าง

อ่านข่าว:

"พาณิชย์" ส่ง "เกมส์-แฟชั่น -ภาพยนตร์" Soft Power ไทย โกอินเตอร์

"พีระพันธุ์"​ ชง ครม.ของบกลาง 1.9 พันล้าน ช่วยค่าไฟกลุ่มเปราะบาง

โดยมีสัดส่วนร้อยละ 2.51ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด (ข้อมูลจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต , Input-Output Table) โดยสาขาการผลิตที่มีการใช้ไฟฟ้าเป็นต้นทุนสูง ได้แก่ การผลิตน้ำแข็ง ร้อยละ 29.88 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด โรงแรมและที่พักอื่น ร้อยละ 17.12

นายพูนพงษ์ กล่าวอีกว่า เช่นเดียวกับสถานที่เก็บสินค้าและการเก็บสินค้า ร้อยละ 16.90 การประปา ร้อยละ 14.30 การผลิตซีเมนต์ ร้อยละ 12.13 การปั่นด้าย การหีบฝ้าย และเส้นใยประดิษฐ์ ร้อยละ 12.11 ตามลำดับ ขณะที่ในมิติของสินค้าที่ครัวเรือนบริโภค ค่ากระแสไฟฟ้ามีสัดส่วนถึงร้อยละ 3.90 ของค่าใช้จ่ายครัวเรือน

การปรับขึ้นค่ากระแสไฟฟ้าทั้งระบบ ทั้งภาคการผลิต ภาคบริการ และภาคครัวเรือน ในอัตราร้อยละ 17.29 ย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งต้นทุนการผลิตและการบริโภคของครัวเรือนทั้งทางตรงและทางอ้อม

สำหรับภาคการผลิตและบริการจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.65 และภาคครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.66 ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมทันทีร้อยละ 0.66 และมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกถึงร้อยละ 1.62 หากมีการส่งผ่านต้นทุนการผลิตและบริการไปยังสินค้าขั้นสุดท้ายในระยะต่อไป

สำหรับสินค้าและบริการที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดมี 5 อันดับ คือ  น้ำแข็ง ค่าห้องพักโรงแรม น้ำประปา เสื้อผ้า และผ้าอ้อมเด็ก และยังมีความเสี่ยงทำให้ค่าเช่าบ้านและอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นผลจากค่าเช่าพื้นที่หรือค่าเช่าตลาดที่เพิ่มขึ้นด้วย

นายพูนพงษ์กล่าวว่า สิ่งที่ควรเฝ้าระวังและติดตามภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบค่อนข้างสูงจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหรือบริการที่มีการแข่งขันสูง มีสภาพคล่องต่ำ การเติบโตทางรายได้และผลประกอบการยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงมีผู้ประกอบการรายย่อยเป็นจำนวนมากในอุตสาหกรรมดังกล่าว

โดยจากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า วิเคราะห์กลุ่มที่มีอัตราส่วนสภาพคล่องต่ำกว่า 1 และวิเคราะห์อัตรากำไรสุทธิต่อรายได้รวมที่ยังคงติดลบ หรือขาดทุน ในปี 2565 เช่น โรงแรม รีสอร์ตและห้องชุด มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ลดลงร้อยละ 12.6รวมทั้งจำนวนวิสาหกิจขนาดย่อย (Micro SME) หรือสัดส่วนครึ่งหนึ่งของจำนวนบริษัทที่จดทะเบียนนิติบุคคลทั้งหมด

เกสต์เฮ้าส์ มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ลดลงร้อยละ 7.4 โดยมีจำนวนวิสาหกิจขนาดย่อยสูงถึงร้อยละ 80 ,การผลิตน้ำแข็งเพื่อการบริโภค มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ลดลงร้อยละ 3.5

โดยมีจำนวนวิสาหกิจขนาดย่อยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.2 ,การทอผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ลดลงร้อยละ 2.1 โดยมีจำนวนวิสาหกิจขนาดย่อยอยู่ที่ร้อยละ 47.5 และ การผลิตจักรยาน มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ลดลงร้อยละ 1.1โดยมีจำนวนวิสาหกิจขนาดย่อยอยู่ที่ร้อยละ 31.5 ดังนั้น การปรับเพิ่มค่าไฟฟ้า ย่อมเพิ่มความเสี่ยงให้กับกลุ่มธุรกิจเหล่านี้มากขึ้น

การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในอัตราที่ก้าวกระโดด และใช้อัตราค่าไฟดังกล่าวต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี จะสร้างผลกระทบเชิงลบต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจ จึงควรที่จะทยอยปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้รัฐบาลมีมาตรการลดค่าครองชีพอื่น ๆ จะช่วยลดภาระของประชาชน รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการปรับค่าไฟฟ้าสำหรับภาคธุรกิจในช่วงที่ต้นทุนอื่น ๆ กำลังทยอยปรับเพิ่มขึ้น เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ และอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น

อ่านข่าว:

พาณิชย์"จ่อเรียกสอบ 400 ผู้ประกอบการท่องเที่ยว โยงกลุ่มทุนเทา

แรงงาน-นายจ้าง ยิ้มไม่ออก ! ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 บาท "ดีกว่าไม่ได้"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง